อากาศร้อนสุดยังไม่พอ แต่ ‘น้ำทะเลร้อนสุด’ ทุบสถิติแล้ว จากภาวะโลกร้อน

4 สิงหาคม 2566 - 09:32

World-ocean-temperatures-highest-on-record-due-to-climate-change-and-elnino-SPACEBAR-Thumbnail
  • อุณหภูมิมหาสมุทรทำลายสถิติร้อนที่สุด จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

  • นักวิทยาศาสตร์ กังวลว่า น้ำทะเลร้อนสุดในช่วงเวลาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ปกติควรอยู่ช่วงเดือนมีนาคม และคาดว่าจะร้อนขึ้นอีก

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เราเพิ่งเจอกับอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดทำลายสถิติโลก และเดือนกรกฎาคมอาจเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในประวัติการณ์รอบหลายร้อยปี หรือหลายพันปี (อ่านต่อ >> ที่นี่

สัปดาห์นี้ พบว่าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเฉลี่ย ทำลายสถิติปี 2016 ไปเรียบร้อยแล้ว ไปแตะที่อุณหภูมิ 20.96 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงเวลานี้ของแต่ละปีอย่างมาก (ข้อมูลจาก Copernicus Climate Change Service หรือ C3S หน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป)  

มหาสมุทรเป็นผู้ควบคุมสภาพภูมิอากาศที่สำคัญ มันทำหน้าที่ดูดซับความร้อน ผลิตออกซิเจนครึ่งหนึ่งของโลกและเป็นตัวขับเคลื่อนรูปแบบของสภาพอากาศ เมื่อน้ำทะเลอุ่นขึ้น จะทำให้ความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง ซึ่งหมายความว่า ก๊าซที่ทำให้โลกร้อนจะอยู่ในชั้นบรรยากาศนานขึ้น นอกจากนี้มันยังทำให้ธารน้ำแข็งละลายเร็วขึ้นและไหลลงสู่มหาสมุทร จนทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 

มหาสมุทรที่ร้อนขึ้น และคลื่นความร้อน ยังไปรบกวนสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล อย่างปลา และวาฬ ที่ต้องว่ายน้ำไปหาน้ำทะเลที่เย็นกว่า กระทบห่วงโซ่อาหารแย่ลง โดยผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า คลังปลาจะได้รับผลกระทบ  

ส่วนสัตว์ทะเลที่กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร อย่างฉลามก็จะก้าวร้าวขึ้น เพราะสับสนกับอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น 

“น้ำทะเลก็เหมือนกับอ่างอาบน้ำเวลาเรากระโดดลงไป ตอนนี้เกิดปะการังฟอกขาวขยายเป็นวงกว้าง บริเวณโขดหินปะการังน้ำตื้นในฟลอริดา และปะการังได้ตายไปเป็นจำนวนมาก” กล่าวโดย ดร.แคธรีน เลสเนสกี ผู้ติดตามคลื่นความร้อนในทะเล บริเวณอ่าวเม็กซิโก จากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ NOAA)

“เรากำลังทำให้มหาสมุทรตกอยู่ในความเครียดมากขึ้นกว่าก่อนหน้านี้ที่เราเคยทำมาในประวัติศาสตร์” กล่าวโดย ดร.แมตต์ ฟรอสต์ จาก Plymouth Marine Lab แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งกล่าวถึงผลกระทบจากการสร้างมลภาวะและการประมงมากเกินไปกำลังส่งผลต่อมหาสมุทรด้วยเช่นกัน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6bhIvqUvuqymgiFvxJcD1o/280a338aae5a7d87c53e42efd36549af/World-ocean-temperatures-highest-on-record-due-to-climate-change-and-elnino-SPACEBAR-Photo01
Photo: กราฟแสดงอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเฉลี่ยรายวัน บริเวณ 60 องศาเหนือและ 60 องศาใต้ ช่วงปี 1979 – 2023 ที่มา: ERA5, C3S/ECMWF
นักวิทยาศาสตร์ยังเป็นกังวลเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ทำอุณหภูมิทำลายสถิติด้วย 

“มีนาคม น่าจะเป็นช่วงเวลาที่มหาสมุทรโลกร้อนที่สุด ไม่ใช่สิงหาคมหรือกันยายน ความจริงก็คือการที่เราเห็นสถิติปัจจุบัน ทำให้กังวลว่ามหาสมุทรจะร้อนขึ้นอีกเท่าไหร่ในช่วงเวลาระหว่างตอนนี้ไปจนถึงมีนาคมปีหน้า” กล่าวโดย ศ.ดร.ซาแมนธา เบอร์เกสส จาก C3S  

นักวิทยาศาสตร์กำลังสืบหาว่าทำไมมหาสมุทรถึงร้อนมากในเวลานี้ แต่ก็บอกว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้น้ำทะเลอุ่นขึ้น จากการที่มันดูดซับความร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ศาสตราจารย์ เบอร์เกสส อธิบายว่า ยิ่งเราเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น มหาสมุทรก็จะยิ่งดึงความร้อนออกมามากขึ้นไปอีก ซึ่งหมายความว่าจะต้องใช้เวลานานขึ้นในการทำให้มหาสมุทรกลับมามั่นคงและอยู่จุดเดิมที่เคยเป็น

อุณหภูมิน้ำทะเลเฉลี่ยใหม่นี้ได้ทำลายสถิติที่เคยสูงสุดเมื่อปี 2016 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงที่สุด เอลนีโญ เกิดขึ้นเมื่อน้ำทะเลอุ่น ขึ้นมาอยู่บนผิวน้ำบริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งส่งผลต่ออุณหภูมิโลก ขณะนี้ปรากฏการณ์เอลนีโญได้เกิดขึ้นอีกครั้ง แต่นักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่ายังเป็นกำลังอ่อน ซึ่งหมายความว่าอุณหภูมิมหาสมุทรอาจจะสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในเดือนถัดๆ ไป อุณหภูมิน้ำทะเลเฉลี่ยสูงทำลายสถิตินี้เกิดขึ้นหลังจากเกิดคลื่นความร้อนในทะเลหลายแห่งในปีนี้ ทั้งในสหราชอาณาจักร แอตแลนติกเหนือ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และอ่าวเม็กซิโก 

ศาสตราจารย์ เบอร์เกสส กล่าวว่า “คลื่นความร้อนในทะเลที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ เกิดขึ้นในบริเวณที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นที่ที่เราไม่เคยคาดมาก่อน” 

ขณะที่อุณหภูมิอากาศกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปีหลังๆมานี้ แต่มหาสมุทรใช้เวลานานกว่าจะร้อนขึ้น แม้ว่ามันช่วยดูดซับความร้อนของโลกจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปมากถึง 90%  

แต่ก็มีสัญญาณออกมาแล้วว่าอุณหภูมิมหาสมุทรอาจจะไล่ตามทัน ทฤษฎีหนึ่งที่พอจะอธิบายได้ก็คือ ความร้อนมากมายได้ถูกกักไว้ใต้มหาสมุทร และตอนนี้ก็ลอยขึ้นอยู่บริเวณพื้นผิว ซึ่งอาจจะเกี่ยวโยงกับเอลนีโญ กล่าวโดย ดร.คารินา วอน ชุคมันน์ แห่ง Mercator Ocean International 

ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ทราบแล้วว่าผิวน้ำทะเลจะร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่พวกเขายังคงสืบหาว่าแท้จริงแล้วทำไมอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสูงกว่าในปีที่ผ่านๆมา 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์