เศรษฐา ขอแบงก์ชาติ หั่นดอกเบี้ย 0.25% เหลือ 2.25%

6 กุมภาพันธ์ 2567 - 07:10

bot-settha-monetary-policy-finance-reduce-interest-25 satang-SPACEBAR-Hero.jpg
  • นายกฯ เศรษฐา ส่งสัญญาณขอแบงก์ชาติ หั่นดอกเบี้ยเหลือ 2.25% มองยังมีช่องว่างลดได้อีก

  • ชี้ ประชุม กนง.พรุ่งนี้ ให้ตัดสินใจก่อนเกิดภาวะเงินฝืด

  • เชื่อเงินเฟ้อต่ำไม่ใช่ปัญหา เหตุจากมาตรการช่วยประชาชน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผย การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ฝากให้คณะกรรมการฯ พิจารณาเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 2.50% ซึ่งมองว่า หากปรับลดลงมา 0.25% จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 2.25% ก็ยังมีช่องว่าง หรือ Room อีกมาก เพราะหากมีวิกฤตเกิดขึ้นก็ยังสามารถที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้อีก

“นโยบายการเงินการคลังต้องไปพร้อมกัน ต้องไปด้วยกัน ต้องควบคู่กันไป และวันนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วเรื่องประเด็นกรอบเงินเฟ้อที่ตอนนี้ยังติดลบอยู่ ยังไม่อยู่ในจุดขั้นต่ำของกรอบเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ ดังนั้นหากปรับลดลงมาเหลือ 2.25% ก็ยังมีพื้นที่อีกเยอะ ถ้าเกิดมีวิกฤตหรืออะไรเกิดขึ้นก็ยังสามารถลดลงได้อีกเยอะ วันนี้ทำไมถึงไม่เริ่มทำกัน ตัวเลขมันก็ชัดเจนอยู่แล้ว ฉะนั้นก็ยอมรับมาว่าจริงๆ แล้วเงินเฟ้อมันไม่ใช่ปัญหาเลย เชื่อว่าเรื่องการลดดอกเบี้ยมันถึงเวลาแล้ว ก็ฝาก กนง.ไว้”

นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา ยังย้ำ เรื่องเงินเฟ้อกับอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องใหญ่ แต่สำหรับปัจจุบันที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ ส่วนหนึ่งเกิดจากมีมาตรการของรัฐในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย สะท้อนว่า เรื่องเงินเฟ้อไม่มีประเด็น ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากต้นทุนที่สูง ดังนั้น การลดดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญ เพราะรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญ พวกเราทุกคนยืนอยู่ตรงนี้รู้อยู่แล้วดอกเบี้ยเป็นภาระค่าใช้จ่ายขนาดไหน หากลดดอกเบี้ยไป เรื่องการจะเกิดเงินเฟ้อมองว่าความเสี่ยงเกือบไม่มีเลย ตรงนี้ชัดเจนอยู่แล้ว

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ในเดือนมกราคม 2567 ตามที่กระทรวงพาณิชย์รายงาน มีตัวเลขติดลบ 1.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 35 เดือน ปัจจัยหลักจากราคาพลังงานที่ปรับลดลงตามนโยบายภาครัฐ รวมทั้งกลุ่มอาหารสดยังคงลดลงต่อเนื่อง 

ประกอบกับฐานเดือนมกราคม 66 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อค่อนข้างสูง ขณะที่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่าเงินเฟ้อสูงขึ้น 0.02% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนมกราคม 67 อยู่ที่ 0.52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

ด้านเงินเฟ้อของไทย เฉลี่ยทั้งปี 66 สูงขึ้น 1.23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำ เป็นอันดับ 9 จาก 139 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียน 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลขออกมา

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์