เปิด 3 เสี่ยงดิจิทัลวอลเล็ต กระทบสภาพคล่องตลาดเงิน?

21 เมษายน 2567 - 08:18

digital-wallet-money-market-financial-holding-government-debt-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิด 3 ความเสี่ยง ดิจิทัลวอลเล็ต กระทบสภาพคล่องตลาดเงิน

  • ชี้ ยอดวงเงินสูง 5 แสนล้าน ท่ามกลางภาวะที่สถาบันการเงินถือครองตราสารหนี้ภาครัฐจำนวนมาก

เมื่อรัฐบาลเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิทัล ดำเนินนโยบาย ‘แจกดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่น’ มียอดวงเงินที่ต้องใช้ 5 แสนล้านบาท หน่วยวิจัยเศรษฐกิจ อย่างศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมีมุมมอง “การระดมทุนของภาครัฐเพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท อาจกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดการเงินไทย ท่ามกลางภาวะที่สถาบันการเงินถือครองตราสารหนี้ภาครัฐในจำนวนมาก”

กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ จากแผนการเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ภาครัฐมีแผนจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ในวงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น แม้บทสรุปของวงเงินที่ใช้จริงท้ายสุดจะขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการที่ผ่านเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนด แต่เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 จึงทำให้ต้องมีเงินหมุนเวียนในระบบเน็ตเวิร์คของวอลเล็ตก่อนการใช้งานจริง นั่นหมายความว่า ภาครัฐอาจต้องจัดสรรเงินทุนให้พร้อมก่อนหน้านั้น ทำให้การระดมทุนคงเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ 2 หรือไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ 

ประเด็นที่อาจพิจารณาเพิ่ม เกี่ยวกับเรื่อง ผลกระทบต่อสภาพคล่องในระบบการเงินไทย มีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

1. สภาพคล่องของสถาบันการเงินแม้จะอยู่ในระดับสูง แต่ส่วนใหญ่ถือครองอยู่ในรูปตราสารหนี้ภาครัฐ และพันธบัตร ธปท. ทำให้การพึ่งพาสถาบันการเงินในการถือครองตราสารหนี้ภาครัฐที่จะออกใหม่ภายใต้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ต้องอาศัยการลดการถือครองตราสารหนี้ภาครัฐที่อยู่ในมือ หรือระดมเงินฝากหรือสภาพคล่องใหม่เพิ่มเติม ซึ่งจะผลักดันให้ต้นทุนการออกตราสารหนี้ หรือการเสนอดอกเบี้ยเงินฝาก (อาทิ อัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินฝากแคมเปญพิเศษ) ปรับตัวสูงขึ้น กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้กับฝั่งผู้กู้ ทั้งเอกชนและภาครัฐ

ข้อมูล ณ สิ้นเดือน กุมภาพันธ์ 2567 ชี้ว่าสถาบันการเงิน ที่นำโดยธนาคารพาณิชย์ (ที่มีส่วนแบ่งสภาพคล่องสูงสุดในระบบ) มีสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ที่ประมาณ 5.56 ล้านล้านบาท

โดย 37.0% หรือกว่า 2.07 ล้านล้านบาทอยู่ในรูปพันธบัตรรัฐบาล อันสะท้อนว่า ขีดความสามารถของธนาคารพาณิชย์ในการดูดซับตราสารหนี้ภาครัฐที่จะออกเพิ่มนั้น อยู่ในกรอบที่จำกัด คงจะต้องอาศัยนักลงทุนสถาบันอื่นๆ ร่วมด้วย

2. ผลกระทบต่อการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ของภาคเอกชน ที่เป็นผลจากปริมาณอุปทานตราสารหนี้ภาครัฐที่เข้ามาเพิ่มขึ้น (Crowding Out Effect) ปัจจัยดังกล่าวนอกจากจะทำให้Benchmark Yield ของพันธบัตรรัฐบาลสูงขึ้น ซึ่งมีผลต่อเนื่องให้ฐานต้นทุนดอกเบี้ยอ้างอิงก่อนบวก Credit Spreadของหุ้นกู้ขยับขึ้นแล้ว ก็ยังอาจมีผลต่อความต้องการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยต่อหุ้นกู้เอกชนด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่ภาครัฐจัดสรรการระดมทุนบางส่วนผ่านการเสนอขายพันธบัตรให้กับประชาชนรายย่อยโดยตรง

อาทิ ในรูปพันธบัตรออมทรัพย์ (Savings Bonds) ท่ามกลางภาวะที่นักลงทุนรายย่อยที่มีความมั่งคั่งสูง (High Net Worth Individuals) ที่เป็นกำลังซื้อหลักในตลาดหุ้นกู้ ยังระมัดระวังการลงทุนในตราสารหนี้บางประเภท ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศที่มีความไม่แน่นอน 

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะมีตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวที่ออกใหม่ ทั้งเพื่อชดเชยรุ่นที่ครบกำหนดและออกใหม่เพิ่มเติม อีกไม่น้อยกว่า 6.90 แสนล้านบาท จากที่ออกไปแล้วประมาณ 2.77 แสนล้านบาท (ตามฐานข้อมูลของ ThaiBMA) อันเป็นกลุ่มที่ต้องวางแผนรับมือในกรณีที่ต้นทุนการระดมทุนปรับสูงขึ้น

3. จังหวะการระดมทุนของภาครัฐ เผชิญความท้าทายมากขึ้น ตามทิศทางผลตอบแทนตราสารหนี้ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในต่างประเทศ ดังจะเห็นได้จาก US Treasury Yields ที่ขยับสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2567 ตามแรงผลักดันจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด สัญญาณจากเฟดซึ่งมีท่าทีไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงล่าสุด สถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น 

ประเด็นเหล่านี้ มีส่วนทำให้ต้นทุนการระดมทุนในตลาดต่างๆ ของไทยปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น BIBOR อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุปานกลางถึงยาว

ขณะที่ ทิศทางความผันผวนของอัตราผลตอบแทนในประเทศ อาจยังคงภาพเช่นนี้ต่อไปในอีกหลายเดือนข้างหน้า ซึ่งย่อมจะกดดันต้นทุนการระดมทุนของทั้งภาครัฐและเอกชนไทยหลังจากนี้

กล่าวโดยสรุป ประเด็นต่างๆ ข้างต้น คงทำให้ภาครัฐต้องพิจารณาจังหวะ วงเงิน ช่องทางและเครื่อมือการระดมทุนให้เหมาะสม เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อตลาด ในภาวะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศยังไม่ปรับลดลง ขณะที่งบดุลของภาคธุรกิจและครัวเรือนไทยหลายส่วนยังไม่มีความแข็งแรงมากพอที่จะรองรับต้นทุนการเงินที่อาจได้รับผลกระทบจากภาวะความตึงตัวของสภาพคล่อง

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์