เงินเฟ้อ เม.ย.บวก 0.19% แรงกดดันราคาน้ำมันปรับขึ้น

3 พ.ค. 2567 - 06:09

  • อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายนปรับมาเป็นบวก 0.19%

  • แรงกดดันจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวขึ้น

  • จับตาการขึ้นค่าแรง 400 บาท ส่งผลราคาสินค้าเพิ่มขึ้น

economic-gas-inflation-spending-SPACEBAR-Hero.jpg

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนเมษายน 2567 เท่ากับ 107.96 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.19% กลับมาบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน

อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ในเดือนมีนาคม 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยลดลง 0.47 % และยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ  อยู่ที่ระดับต่ำอันดับ 5 จาก 136 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และอยู่ในระดับต่ำอันดับ 2 ในอาเซียน จาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน)

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเมษายน 2567 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2567 สูงขึ้น 0.85% ตามการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์  1.19% ปรับสูงขึ้นตามราคาผักสด  ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่สด ผลไม้สด และกาแฟผงสำเร็จรูป

ข้าวสารเจ้า แป้งข้าวเจ้า ปลาทู และกระเทียม ราคาปรับลดลงจากเดือนที่ผ่านมา และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.61% ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก และการสิ้นสุดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ของใช้ส่วนบุคคลสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด  และค่าเช่าบ้าน อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญที่ราคาปรับลดลง อาทิ ค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ เสื้อเชิ้ตบุรุษ เครื่องถวายพระ และน้ำหอม 

สำหรับ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม รวมถึงอีก 8 เดือนหน้าของปี 2567 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเป็นบวก เนื่องจากราคาน้ำมันน้ำปรับตัวสูงขึ้น ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น

“การนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศทำให้ไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการขาดแคลนไฟฟ้าหากไม่สามารถนำเข้า LNG ได้ถ้าเกิดสถานการณ์ที่กระทบต่อการผลิตและขนส่ง LNG นอกจากนี้ไทยมีแนวโน้มจะต้องพึ่งพา LNG นำเข้ามากขึ้นเนื่องจากก๊าซในอ่าวไทยมีแนวโน้มลดลงอีกหากยังไม่มีการสำรวจและขุดเจาะเพิ่มเติมดังนั้นมีความจำเป็นที่ไทยต้องเร่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งยังทำให้สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศและกระแสการลงทุนการค้าใหม่ของโลกที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย”

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์