ทีมข่าว Spacebar Big City ลงพื้นที่พูดคุยกับหลายภาคส่วน เริ่มที่แม่ค้าขายอาหารอีสานในจังหวัดขอนแก่น ‘กุศล ผางสูง’
‘กุศล’ ตั้งแผงเล็กๆขายอาหารมานานกว่า 10 ปีแล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มแรงงานทั้งไทยและต่างด้าวที่หาเช้ากินค่ำ เนื่องจากมีโรงงานขนาดใหญ่และร้านค้าขนาดย่อมตั้งอยู่ ราคาขายย่อมเยา เพราะอยากให้ลูกค้าที่มีรายได้น้อยสามารถซื้อหาอาหารกินได้อิ่มท้อง
การปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำพร้อมกันทั่วประเทศ 400 บาท ‘กุศล’ เห็นว่า จากสภาพเศรษฐกิจเชื่อว่าทุกสาขาอาชีพต้องการเงินเดือนเพิ่มขึ้น เพื่อให้จ่ายในครอบครัวให้พอเพียง แต่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจทำให้แรงงานตกงานเพิ่มขึ้น เพราะผู้ประกอบการจะต้องปรับลดคนงาน บางรายอาจจะต้องปิดการ หรือย้ายฐานการผลิต
“ค่าจ้างแพง นายจ้างก็ใช้คุ้มค่า แรงงานทำงานหนัก เพิ่มเวลาทำงานมากขึ้น ลูกค้ามาคุยให้ฟังว่าหลายโรงงานปรับการทำงาน จากที่ทำงาน 3 กะ ต้องทำงาน 2 กะ คือ เข้างาน 8 โมงเช้า ถึง 2 ทุ่มและเข้า 2 ทุ่มถึง 8 โมง ทำให้คนไทยทำงานไม่ไหว ลาออก แรงงานส่วนใหญ่จึงเป็นต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย นายจ้างก็ต้องรัดเข็มขัดเหมือนกัน แรงงานใช้จ่ายประหยัดขึ้นกว่าเดิม เพราะสินค้าแพงนำค่าแรงไปแล้ว อยากให้คนทำงานได้ขึ้นเงินเดือน แต่จากสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ตอนนี้ เชื่อว่าไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลต้องการได้”

“ค่าแรงขึ้น ค่ากิน ค่าอยู่ ค่าเดินทางขึ้นตาม หรือร้านค้าเล็กๆอย่างร้านอาหาร ร้านก๋วยเตี๋ยวที่จ้างรายวัน หากต้องขึ้นค่าแรงเขาก็จะเลิกจ้างแล้วทำเองเพื่อให้ได้กำไร การค้าขายก็ยังคงฝืดเคืองเหมือนเดิม การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการขึ้นค่าแรง จึงกังวลว่าจะทำให้โรงงานขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ทยอยปิดตัว”
ตัวแทนอนุกรรมการค่าจ้างฝ่ายลูกจ้าง จ.ขอนแก่น ‘ฉลวย พระเมืองแก้ว’ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการประชุมระหว่างตัวแทนกลุ่มลูกจ้าง นายจ้าง และหน่วยงานภาครัฐ ต่างมีเหตุผลของแต่ละฝ่ายในการปรับค่าแรงขั้นต่ำ เสียงจากลูกจ้างต้องการให้มีการขึ้นค่าแรง ส่วนนายจ้างให้เหตุผลสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา พบว่ามีหลายโรงงานที่ปิดตัว บางแห่งย้ายฐานการผลิตไปแล้ว บางแห่งอยู่ระหว่างการพิจารณาการย้ายไปประเทศเพื่อนบ้าน หากมีประกาศขึ้นค่าแรงพร้อมกัน 400 ทั่วประเทศ เชื่อว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ
“โดยส่วนตัว เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน แต่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง 400 บาทเท่ากันทุกจังหวัด เพราะสภาพเศรษฐกิจแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน การพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำระดับจังหวัดแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสภาพเศรษฐกิจ สังคม ขนาดอุตสาหกรรมของแต่ละจังหวัด คณะกรรมการระดับจังหวัดจะร่วมพิจารณาความเหมาะสม เป็นราคาที่ทุกฝ่ายยินยอมและพอใจ จากนั้นจะส่งมติการขึ้นค่าจ้างไปยังคณะกรรมการค่าจ้างส่วนกลางให้พิจารณา”

ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง ยังบอกด้วยว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการส่วนกลางไม่ได้ขึ้นตามมติในที่ประชุมของแต่ละจังหวัด แต่ขึ้นตามการพิจารณาของคณะกรรมการส่วนกลาง จึงมองว่า ส่วนกลางไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็นจากคณะอนุกรรมการ หากรัฐบาลยังคงยืนยันประกาศขึ้นพร้อมกัน 400 บาททุกพื้นที่ หลายโรงงานแบกภาระด้านการลงทุน เชื่อว่าจะมีโรงงานลดการผลิต ปิดตัวและย้ายฐานการผลิตเป็นจำนวนมาก นำไปสู่การปรับลดกำลังคน เลิกจ้างงาน และทำให้เกิดปัญหาว่างงานตามมา
อีกประเด็นที่รัฐบาลอ้างว่าจะปรับขึ้นค่าแรงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เห็นว่า อาจจะช่วยกระตุ้นได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น อย่างจังหวัดขอนแก่นมีทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย หากขึ้นเงินค่าจ้างทางแรงงานต่างด้าวก็จะได้รับเช่นเดียวกับแรงงานไทย ซึ่งเงินเดือนที่ได้รับ แรงงานต่างด้าวจะส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง เงินจึงไม่มีการหมุนเวียนในประเทศ
“ภายใต้ พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย จะได้รับเงินค่าแรงเหมือนคนไทย คนไทยได้รับสิทธิอะไร ต่างด้าวได้เหมือนกัน เงินที่รัฐอ้างว่าจะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น หากรัฐยืนยันการขึ้นค่าแรง ขอให้พิจารณาตามเขตของจังหวัด ตามความเหมาะสมของการครองชีพให้รับฟังคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างแต่ละจังหวัดบ้าง ไม่ใช่เอาคะแนนการเมืองออกมาหาเสียงออกมาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะกระทบหลายส่วน เพียงแค่รัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงเท่านั้น ยังไม่มีการขึ้นจริงเงินยังไม่ถึงมือแรงงานจริง ราคาสินค้าขึ้นรอแล้ว”
“สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือควรมาตรการควบคุมราคาสินค้าที่มีการบังคับใช้ แต่ที่ผ่านมาประกาศจะขึ้นค่าแรงสินค้าก็ขึ้นราคารอ จะขึ้นก็ขึ้น เมื่อขึ้นแล้วราคาสินค้าไม่ลงในเรื่องการครองชีพ เรื่องปากท้องของประชาชน รัฐบาลอย่านำมาเป็นประเด็นการเมือง อยากขอให้พิจารณาจากสภาพความเป็นจริงว่าในจังหวัดนั้นๆมีความเป็นอยู่กันอย่างไร ขอให้รัฐบาลเป็นเพียงพี่เลี้ยงในการดูแล รวมถึงมีมาตรการควบคุมการขึ้นราคาสินค้า มาตรการรองรับลูกจ้างที่มีฝีมือ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ”
ฉลวย กล่าว

ทวีสันต์ วิชัยวงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น หนึ่งในคณะกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัด กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงมากจากการพิจารณาแบบไตรภาคี คือ ภาครัฐ 5 คน นายจ้าง 5 คน และลูกจ้าง 5 คน แต่ละจังหวัดจะมีการคำนวณขึ้นค่าแรงตามดัชนีชี้วัด เช่น เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ เป็นต้น
โดยมติในที่ประชุมจะส่งไปยังคณะกรรมการค่าจ้างกลางพิจารณาไปแล้ว หากคณะกรรมการค่าจ้างกลางสั่งให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ องค์กรเอกชน 3 สถาบัน คือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าแห่งประเทศไทย และชมรมธนาคารแห่งประเทศไทย ได้คัดค้าน ผลกระทบที่ตามมา คือภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ รวมทั้งสินค้าอุปโภค บริโภค ต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้น

ส่วนที่รัฐบาลระบุว่า หากขึ้นค่าแรงแล้วจะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น มีความเห็นว่าเป็นการมองเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะการขึ้นค่าแรงรัฐบาลไม่ได้เป็นผู้จ่ายเงิน แต่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบที่ต้องรับภาระ สุดท้ายรัฐบาลต้องคำนึงถึงภาวะเงินเฟ้อที่อาจจะเกิดขึ้น สภาพคล่องในการจับจ่ายใช้สอย
“หากขึ้นค่าแรง ข้าวกะเพราขึ้นราคาเป็นจานละ 65 บาท ผู้บริโภคจะไหวหรือไม่ หากชั่งนำหนักแล้ว การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทอาจะส่งผลเสียมากกว่า”
ล่าสุด สภาอุตสาหกรรม ได้ทำหนังสือคัดค้านส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดและรัฐบาลแสดงความไม่เห็นด้วยในการปรับขึ้นค่าแรงให้เป็นไปตามดัชนีคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ทั้งสภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ปัจจุบันผู้ประกอบการต้องเสียค่าจ้าง ค่าลงทุนที่มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
ขณะที่รัฐบาลต้องการให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีความเห็นว่า ให้ดำเนินการโครงการอื่นที่สำคัญจำเป็นเร่งด่วนก่อน เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ในกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน มีงบประมาณจำนวนมากควรดำเนินการก่อน เพราะเชื่อว่า จะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่า รวมทั้งการส่งเสริมผู้ประกอบการให้เข้าถึงเงินลงทุน
“การขึ้นค่าแรง เป็นดาบสองคม เพราะเมื่อค่าแรงขึ้น ก็นำไปสู่การปรับราคาสินค้า คนที่รับภาระคือ ผู้บริโภคเช่นเดิม”