แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาล เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายโรงงานได้มีการปรับราคาน้ำตาลทรายไปแล้วราว 4-5 บาท/กิโลกรัม (กก.) ซึ่งการปรับราคาดังกล่าว เป็นการชิงปรับราคาไปก่อนที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) จะประกาศราคาน้ำตาลหน้าโรงงานตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริง เพื่อนำมาคำนวณราคาอ้อยข้ันต้นฤดูการผลิตปี 2566/67 ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้ประโยชน์นั้นได้ตกกับชาวไร่อ้อยในการได้รับราคาน้ำตาลที่สูงขึ้นจากปริมาณน้ำตาลทรายจำหน่ายในประเทศที่จะมาคำนวณราคาขั้นต้น 25 ล้านกระสอบ
สถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปีนี้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา หลังจากผลผลิตอ้อยใน บราซิล และอินเดีย ที่เป็นแหล่งผลิตใหญ่ของโลกได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวน จนทำให้อินเดียต้องมีการจำกัดการส่งออกน้ำตาล ในปีการผลิต 2565/66 ไว้เพียง 6.1 ล้านตัน จากเดิมที่ส่งออกราว 10-11 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการบริโภคน้ำตาล ก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากจีน ที่ถือเป็นผู้บริโภคน้ำตาลรายใหญ่ของโลกในปัจจุบัน
ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก ถีบตัวขึ้นมาสูงถึงระดับ 27.04 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนถึง 51.34% ซึ่งเมื่อบวกพรีเมียม และทอนกลับเป็นค่าเงินบาทจะขยับไปถึงระดับ กก.ละ 27-28 บาท
ขณะเดียวกัน สถานการณ์การผลิตอ้อยของไทยในปีนี้ จากภัยแล้งทำให้คาดว่าผลผลิตอ้อยจะลดลงการหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 66/67 อาจเหลือเพียง 75-80 ล้านตัน หรือลดลง 10% จากปี 65/66 ทำให้ราคาอ้อยถีบตัวสูงขึ้น ประกอบกับ ก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้หารือกับฝ่ายโรงงานน้ำตาลทรายและชาวไร่อ้อย ในการพิจารณาแนวทางการสนับสนุนการตัดอ้อยสด เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ที่ชาวไร่ต้องการวงเงินสนับสนุน 120 บาท/ตันหรือคิดเป็นเงินงบประมาณราว 8,000 ล้านบาทที่รัฐยังคงค้างจ่ายปีการผลิต 2565/66และความชัดเจนถึงการสนับสนุนในปีการผลิต 2566/67 ที่กำลังจะเปิดหีบสิ้นปีนี้
ในการหารือมีการหยิบยกแนวทางการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานเพิ่มขึ้นอีกกิโลกรัมละ 4 บาทตามต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง รวมถึงเกณฑ์การช่วยเหลือการตัดอ้อยสดเพื่อลดอ้อยไฟไหม้ ที่ยังไม่มีข้อสรุป และมีการต่อรองในเรื่องของการปรับขึ้นราคาน้ำตาลแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องขอเงินสนับสนุน 120 บาท/ตัน แต่ทางชาวไร่และโรงงานต่างเห็นว่าเป็นคนละเรื่อง
ปัจจุบัน น้ำตาลทรายไม่ได้เป็นสินค้าควบคุมราคาโดยกระทรวงพาณิชย์ และที่ผ่านมาโรงงานก็พยายามรักษาระดับราคาไม่ให้สูง แต่ก็มีข้อกังวลว่า หากไม่มีการปรับราคาน้ำตาลในประเทศให้สูงขึ้น อาจจะทำให้โรงงานน้ำตาลหันไปส่งออก เนื่องจากได้ราคาดีกว่า และผลเสียจะตกกับชาวไร่อ้อย
สำหรับ มติ กอน.ก่อนหน้านี้ การปรับราคาขึ้นจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สะท้อนไปยังราคาหน้าโรงงานจริงกก.ละ 2 บาท และการเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กก.ละ 2 บาท เพื่อนำไปจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ปลูกอ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานน้ำตาลตามนโยบายลดฝุ่นPM 2.5 จากปัจจุบันราคาหน้าโรงงาน ได้แก่
- น้ำตาลทรายขาวธรรมดาอยู่ที่ กก.ละ 19 บาท
- น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กก.ละ 20 บาท
ขณะที่ราคาขายปลีกในท้องตลาด ประกอบด้วย
- น้ำตาลทรายขาวธรรมดา กก.ละ 24 บาท
- น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กก.ละ 25 บาท
การปรับราคาดังกล่าว จะมีผลให้ราคาหน้าโรงงาน น้ำตาลทรายขาวธรรมดาปรับขึ้นเป็น กก.ละ 23 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ปรับขึ้นเป็น กก.ละ 24 บาท
ขณะที่ราคาขายปลีกจะปรับขึ้นไปเป็น กก.ละ 28 บาท และ กก.ละ 29 บาทตามลำดับ หลังจากที่ราคาหน้าโรงงานเพิ่งปรับเพิ่มขึ้น กก.ละ 1.75 บาท เป็น กก.ละ 19 บาท และ กก.ละ 20 บาท เมื่อเดือนมกราคม 66
อย่างไรก็ดี ได้มีการสำรวจราคาน้ำตาลทรายในท้องตลาดขณะนี้ ราคาอยู่ที่กก.ละ 26 - 29 บาท ขึ้นอยู่แต่ละชนิด ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปว่า หากสอน.ประกาศขึ้นราคาครั้งใหม่ จะยิ่งส่งผลให้ราคาน้ำตาลในประเทศปรับขึ้นเกินกว่ากก.ละ 30 บาทหรือไม่ แต่หากราคาน้ำตาลทรายปรับขึ้นอีก ย่อมส่งผลให้ราคาสินค้าอื่น ๆ ที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นส่วนประกอบ ต้องปรับขึ้นราคาตาม โดยเฉพาะเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ ทั้งน้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง นมและผลิตภัณฑ์ รวมถึงขนม เบเกอร์รี่ อาหาร จะยิ่งทำให้ภาระค่าครองชีพของคนปรับตัวสูงขึ้นอีก ขณะที่รัฐบาลพยายามลดค่าครองชีพ ลดรายจ่ายประชาชนในทุกด้าน
ข่าวน่าสนใจ
พาณิชย์ แย้ง ขึ้นราคาน้ำตาล 4 บาท/กก.