สิทธิ ‘Easy E-Receipt’ รับเงินคืนสูงสุด 17,500 บาท
ใครกำลังวางแผนยื่นภาษีบุคคลธรรมดาปี 2566 อย่าลืมใช้สิทธิ Easy E-Receipt’ ที่รัฐบาลออกมาเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี ทีมข่าว SPACEBAR จะมาเก็บตกรายละเอียดช่วงโค้งสุดท้ายในช่วงการยื่นภาษีมาฝากกัน
มาตรการ “Easy E-Receipt” เพื่อสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศในช่วงต้นปี 2567 ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง โดยผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท เฉพาะที่ได้รับ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เท่านั้น
มี 7 หมวด ไม่เข้าร่วม ‘Easy E-Receipt’ – ส่วน หนังสือ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ โอท็อป ไม่ต้องเข้า VAT 7 % ก็ใช้สิทธิได้
การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการ “Easy E-Receipt” โดยให้ผู้ซื้อสินค้าสังเกตร้านค้าทีมีสัญลักษณ์ Easy E-Receipt ควบคู่กับ e-Tax Invoice & e-Receipt ซึ่งมีหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ดังนี้
1. สินค้าหรือรับบริการ 7 หมวด จากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) พร้อมต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย โดยค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จะได้รับสิทธิฯ ไม่รวมถึง
(1) ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
(2) ค่าซื้อยาสูบ
(3) ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
(4) ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
(5) ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
(6) ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567
(7) ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
2. สินค้า 3 หมวด ที่ลดหย่อนได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT 7 % ก็สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt โดยจะต้องมีใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) จาก ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร ได้แก่
(1) ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
(2) ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
(3) ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งได้ลงทะเบียนกับ กรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
3. ค่าซื้อสินค้าและค่าบริการตามข้อ 1 และ 2 เมื่อรวมกันแล้วสามารถหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท
นอกจากนี้ยังมี ค่าซื้ออาหารในโรงแรม ค่าซ่อมรถ ค่าซื้อแพคเกจทัวร์ท่องเที่ยวในประเทศ กรณีจ่ายค่าที่พักโรงแรม หรือจ่ายค่าบริการนำเที่ยว ค่าธรรมเนียมเทรดคริปโตฯ ลดหย่อนภาษีได้ ที่ใช้บริการภายใน 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 และผู้ประกอบการสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) เพื่อนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการได้
โดยก่อนซื้อสินค้าและบริการ ต้องแจ้งความประสงค์ต่อผู้ประกอบการจดทะเบียนให้ ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์จากระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับ อิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร เพราะไม่ใช่ทุกร้านค้าที่เช้าร่วม สามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร หรือที่ https://etax.rd.go.th โดยกดไปที่เมนู “ผู้ได้รับอนุมัติ”
วิธีการคำนวณว่าประหยัดภาษีได้เท่าไหร่
การคำนวณว่าจะจ่ายภาษีน้อยลงจากมาตรการ Easy E-Receipt นั้น ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจ่ายภาษีในอัตราฐานภาษีเท่าไหร่ เช่น
กรณี ใช้จ่าย E-Receipt 50,000 บาท เต็มวงเงิน
-อัตราเสียภาษี 35% ช้อป E-Receipt 50,000 จะได้เงินภาษีคืน 50,000 คูณ 35% เท่ากับได้เงินคืน 17,500 บาท -อัตราเสียภาษี 20% ช้อป E-Receipt 50,000 จะได้เงินภาษีคืน 50,000 คูณ 20% เท่ากับได้เงินคืน 10,000 บาท
-อัตราเสียภาษี 5% ช้อป E-Receipt 50,000 จะได้เงินภาษีคืน 50,000 คูณ 5% เท่ากับได้เงินคืน 2,500 บาท
อีกตัวอย่างกรณี ใช้จ่าย E-Receipt 20,000 บาท
-อัตราเสียภาษี 35% ช้อป E-Receipt 20,000 จะได้เงินภาษีคืน 20,000 คูณ 35% เท่ากับได้เงินคืน 7,000 บาท
-อัตราเสียภาษี 20% ช้อป E-Receipt 20,000 จะได้เงินภาษีคืน 20,000 คูณ 20% เท่ากับได้เงินคืน 4,000 บาท
-อัตราเสียภาษี 5% ช้อป E-Receipt 20,000 จะได้เงินภาษีคืน 20,000 คูณ 5% เท่ากับได้เงินคืน 1,000 บาท