ภาษีนำเข้า 0% ไวน์นอก ถล่มไวน์ไทย • สภาชำแหละงบ 67 วิถีโค้งถึงทักษิณ • รถไฟฟ้าสีเขียว 20 บาท อยู่ไหน?

3 ม.ค. 2567 - 10:06

  • กระทรวงการคลังปรับโครงสร้างภาษีนำเข้า 0% ถึงเวลาไวน์นอกถล่มไวน์ไทย

  • สภาชำแหละงบประมาณ 2567 กลายเป็นกระสุนวิถีโค้งถึงทักษิณ ชั้น 14

  • รถไฟฟ้าสีเขียว 20 บาท อยู่ไหน? คนกรุงเทพยังจำนโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ชาติสุทธิพันธุ์ ได้

Deep Space-01-67-SPACEBAR-Hero.jpg

ภาษีนำเข้า 0% ไวน์นอกถล่มไวน์ไทย

มีการเปรียบเปรยกันว่า คนจนกินเหล้า คนรวยกินไวน์ น่าจะเป็นความจริง เพราะราคาไวน์นำเข้าจากต่างประเทศ มีการประเมินกันว่าจะต้องเสียภาษีทุกอย่างรวมแล้วกว่า 200%

นักลงทุน นักธุรกิจต่างชาติ บ่นว่าไวน์ไทยแพงมาก จนพูดทีเล่นทีจริงกับคนของรัฐบาลก่อนว่า ราคาไวน์ที่ขายกันในไทยเป็นหนึ่งในปัจจัยความสะดวกในการทำธุรกิจในประเทศไทย

เมื่อภาษีที่เรียกเก็บจากไวน์นำเข้าสูงมาก จึงเกิดขบวนการหิ้วไวน์โดยไม่เสียภาษี ซึ่งในวงการไวน์ทราบกันดีว่ามีเส้นสายอย่างไรบ้าง ทำให้รัฐฯ ขาดรายได้ไปจำนวนมาก หากประเมินตัวเลขการนำเข้าไวน์ต่างประเทศ ที่มีประมาณปีละ 15 ล้านขวด เป็นไวน์ที่เสียภาษีถูกต้อง 50% ที่เหลือเป็นไวน์ที่ผ่านเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ รายได้รัฐฯ หล่นหายไปมากทีเดียว การทบทวนภาษีไวน์จึงเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้  โดยมี Wine Lover เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เป็นผู้ผ่าตัดโครงสร้างภาษี เพื่อทำให้ไวน์ถูกลง 

การปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากรไวน์ เดิมเรียกเก็บภาษีร้อยละ 60 ลดเหลือศูนย์ คือ ไม่เสียภาษีนำเข้า

ส่วนภาษีสรรพสามิต ไวน์ราคาขวดละ 1,000 บาทขึ้นไป เก็บภาษีร้อยละ 5 ของราคา จากเดิมร้อยละ 10 หรือเก็บตามปริมาณ 1,000 บาทต่อลิตร จากเดิม 1,500บาท 


ไวน์ราคาไม่เดินขวดละ 1,000 บาท เดิมไม่เสียภาษีสรรพสามิตอยู่แล้ว คงเก็บภาษีคิดตามปริมาณ 900บาท ต่อลิตร 

ในแง่ของผู้บริโภค เข้าใจง่ายๆ ว่า ไวน์นำเข้าต้องถูกลงอย่างน้อย 50% เพราะลดภาษีไปมากแล้ว

แต่ข้อเท็จจริงราคาไวน์ไม่ได้ลดลงมากขนาดนั้น ผู้นำเข้าไวน์ต่างประเทศรายหนึ่งอธิบายการปรับโครงสร้างภาษีไวน์ครั้งนี้ว่า ราคาลดลงประมาณ 1 ใน 4 เท่านั้น สมมติราคาไวน์ 1,000 บาท จะลดลงไปเหลือ 700-800 บาท

เนื่องจากไวน์มีภาษีที่ถูกเรียกเก็บในหมวดภาษี เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ หรือEarmark Tax  ที่เรียกกันติดปากว่า ภาษีบาป คือ ภาษีที่เก็บเพิ่มจากเครื่องดื่มแอลกอฮออล์ บุหรี่ การพนัน  ได้แก่ 

  • ภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทย จำนวน 10% ของราคา 
  • เงินสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จำนวน 2% 
  • เงินสนับสนุนองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) จำนวน 1.5% 
  • เงินสนับสนุนกองทุนชราภาพ 2% 

ไวน์ 1 ขวด เสียภาษีปลีกย่อยอีกหลายประเภท การยกเว้นภาษีนำเข้าไวน์ 60 % ไม่ได้ทำให้ราคาไวน์ถูกลงครึ่งหนึ่ง 

หลังวันที่ 1 มีนาคมนี้ ไวน์ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ก็จะเข้ามาสู่ระบบ ยอดขายเพิ่มขึ้น การจัดเก็บภาษีเกี่ยวเนื่องก็จะเพิ่มขึ้น คาดกันว่าจะทำให้เก็บภาษีส่วนนี้ได้มากขึ้นกว่า 1,000 ล้านบาท ไม่รวมถึงเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางความบันเทิงครบวงจรของรัฐบาลจะได้เป็นจริง ไม่ใช่นโยบายขายฝันเหมือนนโยบายอื่น ๆ

แต่มองอีกด้านหนึ่ง ผู้ผลิตไวน์ไทย ที่มีตัวตน จัดตั้งเป็นสมาคมผู้ผลิตไวน์ไทย จะเป็นอย่างไร จะสู้รบตบมือกับไวน์นำเข้าได้อย่างไร เมื่อแต้มต่อเรื่องภาษีหายไปแล้ว  คนที่นิยมไวน์ต่างประเทศก็สามารถซื้อหาได้ง่ายขึ้น  ไวน์ไทยจะเสียเปรียบตรงจุดนี้  เพราะตัวเลือกของไวน์มีน้อยกว่าไวน์นำเข้าที่มีหลากหลายแบบ ตัวเลือกมากมาย  ช่องทางที่เหลือให้ไวน์ไทยก็น้อยลง

การเติบโตของผู้ผลิตไวน์ไทย อย่าง กรานมอนเต้, พีบี วัลเลย์, สยามไวน์เนอร์รี่, ซิลเวอร์เลค, วิลเลจ ฟาร์ม และ อัลซิดินี่ พวกเขาเติบโตมาด้วยตัวเอง ภาครัฐช่วยเหลือน้อยมาก แถมยังไม่สามารถทำการตลาด โฆษณาเหมือนสินค้าทั่วไปได้  

มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลที่ไวน์ไทยไม่เติบโตเหมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ เพราะว่า ไม่มี 2 ตระกูลใหญ่ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาทำตลาดไวน์   

ถ้า ‘บ้านใหญ่เหล้า’ ลงมา การเติบโตของไวน์ไทยจะไปไกลกว่านี้ แต่ผู้ผลิตไวน์รายเล็กอาจจะล้มหายตายจากไปหมด

สภาชำแหละงบ 67 วิถีโค้งถึงทักษิณ

หลังใช้เวลาช่วงหยุดยาวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซุ่มจัดทัพ ลับฝีปาก กันทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล วันนี้ก็ได้อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567 กันเสียที และจะร่ายยาวไปถึงปลายสัปดาห์ ในวันที่ 5 มกราคมนี้

ก้าวไกล แม้จะเป็นพรรคกลางเก่ากลางใหม่ในสภา แต่เมื่อมารับบทถือธงนำในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ ก็ต้องออกแรงทำการบ้านกันหนักหน่อย ทั้งซ้อมย่อย-ซ้อมใหญ่ ภายใต้ธีม ‘วิกฤตแบบใด ทำไมจัดงบแบบนี้’

วางตัว 33 ขุนพล ชำแหละงบปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ให้ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคฯ นำอภิปรายด้านวิกฤติการเมือง ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคฯ นำด้านวิกฤติทางเศรษฐกิจ ภัทรพงศ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ นำด้านวิกฤตสิ่งแวดล้อม PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของภาคเหนือ

ส่วนวิกฤติด้านความขัดแย้ง โดยเฉพาะปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้รอมฎอน ปันจอร์ นำอภิปราย และวิกฤติด้านการศึกษา สังคม ให้วิโรจน์ ลักขณาอดิศร นำทัพอภิปราย

แม้จะเป็นยกแรกของก้าวไกลในสภาชุดนี้ แต่ถือเป็นยกสำคัญหลังมีการจัดทัพภายในกันใหม่ ในวันที่ไม่มีคนชื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ที่อยู่ระหว่างถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ อีกทั้งหลังปัดกวาดบ้านปัญหาจริยธรรมสมาชิกพรรค ที่เขย่าศรัทธามวลชน 14 ล้านคะแนน ไปก่อนหน้านี้

ก้าวไกล คงต้องใช้เวทีนี้เรียกคืนฟอร์มการทำหน้าที่นักการเมืองฝ่ายค้าน ที่ได้สร้างมาตรฐานไว้สูงในสภาชุดที่แล้วกลับมา ทั้งยังเป็นการพิสูจน์ข้อครหาเรื่องถูกมองมีใจอยู่กับพรรคเพื่อไทยด้วย

ด้านพรรคฝ่ายค้านร่วมอย่างประชาธิปัตย์ ที่ถูกประทับตราเรื่อง ‘พรรคอะไหล่’ เอาไว้แน่น ต่อให้จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ซึ่งถูกวางตัวเป็นแม่ทัพการอภิปรายในหนนี้ จะออกลีลาแข็งขัน ‘ถ้าไม่ได้ทำผิด ก็อย่าไปกลัว’ เสมือนส่งสัญญาณท้ารบเต็มที่ไปยังรัฐบาลพรรคเพื่อไทย 

แต่ก็ยากจะสลัดคำว่าพรรคอะไหล่ออกไปได้ ต่อให้เติม ‘สรรเพชร์ บุญญามณี’ สส.สงขลา ทายาทของนิพนธ์ บุญญามณี ที่ซุ่มปั้นลูกชายไต่บันไดการเมือง ก็เตรียมวาดหัวเรือไปสร้างบ้านหลังใหม่ ไม่ได้หวังขายยี่ห้อประชาธิปัตย์อีกต่อไป

กล่าวสำหรับประชาธิปัตย์ชั่วโมงนี้ แม้มวยรุ่นใหญ่จะออกมาขยับเรียกฟอร์มเดิม ให้มีกลิ่นอายความเป็นฝ่ายค้านมืออาชีพกลับมาได้บ้าง แต่ก็หนีเงาฝ่ายรอเข้าร่วมรัฐบาลที่ซ้อนทับอยู่ไม่ออก

ทีนี้ไปดูการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่ถูกฝ่ายรัฐบาลตีกรอบเอาไว้ค่อนข้างมาก ไม่ให้ใช้เป็นเวทีซ้อมเล็กหรือซ้อมใหญ่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และห้ามแตะคนชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่นอนป่วยอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพราะไม่เกี่ยวกับงบประมาณ

‘กรณีนายทักษิณ ไม่เกี่ยวกับเรื่องงบประมาณ ไม่ควรนำมาอภิปราย เชื่อว่าพรรคก้าวไกลคงไม่กล้าเอามาเล่นเท่าไร แต่ถ้าหยิบมาเล่นจริง รัฐบาลต้องประท้วงเพราะไม่เกี่ยวกับงบประมาณ’

วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล ตีกรอบการอภิปรายไม่ให้พรรคฝ่ายค้านนำเรื่องนอกเหนืองบประมาณมาพูด หรือพูดกระทบเสียดสีคนอื่นที่อยู่นอกสภา โดยเฉพาะการได้สิทธิพิเศษของนายทักษิณ ที่กลับมารับโทษโดยไม่ถูกคุมขังในเรือนจำแม้แต่วันเดียว 

‘เงื่อนไขพักโทษก็เป็นไปตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ ปี 2563 ออกมาสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นมือกฎหมายรัฐบาลในขณะนั้น เพื่อแก้ปัญหานักโทษล้นคุกตามมาตรฐานสากลทั่วโลก ทุกคนได้ประโยชน์ ไม่ใช่เพื่อทักษิณ อย่าลากมาเป็นประเด็นการเมือง’

แต่ดูเหมือนประธานฯ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ไม่ได้ปิดประตูลั่นดาลห้ามพูดถึงทักษิณเสียเลยทีเดียว เพราะยังเปิดทางแง้ม ๆ เอาไว้ว่า ‘ครั้งนี้เป็นการอภิปรายเรื่องของงบประมาณ หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับงบประมาณก็สามารถที่จะอภิปรายได้’

ในขณะที่ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประธานวิปฝ่ายค้าน ก็ไม่ได้สนใจคำขอของฝ่ายรัฐบาลนัก 

‘คิดว่าไม่เกี่ยวข้องอะไร สส.ทุกคนทราบอยู่แล้วว่า วาระที่จำเป็นและเกี่ยวข้องก็ต้องค่อยพูดถึง ถ้าวาระที่ไม่เกี่ยวข้องก็ไม่มีความจำเป็นต้องเอ่ยถึงบุคคลภายนอก’

ล่าสุด ชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านฯ ยืนยันจะไม่มีการหยิบยกประเด็นของทักษิณขึ้นมาพูด เพราะนั่นไม่ใช่ประเด็น 

‘ส่วนตัวมองว่าฝั่งรัฐบาลอาจจะร้อนตัวไปนิดหนึ่ง แต่สิ่งที่จะต้องพูดด้วยคือ พ.ร.บ.งบประมาณไม่ได้สะท้อนแค่ปัญหาในการดำเนินนโยบายอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสะท้อนสภาวะการทางการเมืองที่เป็นจริงในการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้’

เอาเป็นว่า เรื่องการรับโทษของทักษิณ จะเป็นประเด็นต้องห้ามในการอภิปรายงบประมาณหนนี้ แม้ฝ่ายค้านจะนำมาพูดถึงหรือไม่ก็ตาม แต่เชื่อว่าคงนำมาอภิปรายแบบโฉบ ๆ เฉี่ยว ๆ บ้าง อย่างน้อยก็ตั้งคำถามไปยังการจัดงบประมาณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าได้ดูแลเรื่องนี้กันอย่างไร

ไล่ไปตั้งแต่กระทรวงยุติธรรม ที่กำกับดูแลเรื่องนี้โดยตรง ทั้งการออกระเบียบราชทัณฑ์ ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ไปจนถึงเรือนจำที่ดูแลนักโทษและผู้ต้องขัง ยังไม่นับรวมรวมการเบิกจ่ายงบประมาณการรักษาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีโรงพยาบาลตำรวจอยู่ในสังกัด

ทั้งหมดล้วนเป็นหน่วยที่ต้องเบิกจ่ายเงินงบประมาณจากรัฐทั้งสิ้น ดังนั้น ย่อมหนีการอภิปรายของฝ่ายค้านไปไม่พ้น ที่จะต้องตั้งคำถามเรื่องการใช้จ่ายเงินงบประมาณแบบวิถีโค้งโยงไปถึงคนที่อยู่บนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ได้อย่างแน่แท้เทียว

รถไฟฟ้าสีเขียว 20 บาท อยู่ไหน?

หลังจากใช้ฟรีมา 6  ปี ถึงเวลาต้องจ่ายค่าโดยสารแล้ว กรุงเทพมหานคร ให้ของขวัญปีใหม่ คนกรุงเทพ เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 หมอชิต - คูคต และแบริ่ง - สมุทรปราการ ในอัตรา 15  บาทตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 2มกราคมที่ผ่านมา 

รถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งสาย มี 3 ท่อน คือ

  1. รถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นเส้นทางหลัก มี 2  สายคือ สายสุขุมวิท และสายสีลม ค่าโดยสารสูงสุด 47 บาท
  2. ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน - บางหว้า และ อ่อนนุช – แบริ่ง กทม. เป็นเจ้าของ จ้างบีทีเอสเดินรถ ค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย
  3. ส่วนต่อขยายที่ 2  ช่วงหมอชิต - คูคต และแบริ่ง - สมุทรปราการ เดิมเป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (รฟม.) โอนมาเป็นของ กทม.ในยุครัฐบาล คสช.โดย กทม. ต้องจ่ายค่าก่อสร้างคืนให้ รฟม. ประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้จ่าย และ กทม.จ้างบีทีเอส สร้างระบบไฟฟ้าและเครื่องกล  รวมทั้งจ้างเดินรถ  ซึ่งปัจจุบัน กทม. เป็นหนี้บีทีเอส ค่าระบบไฟฟ้า 2.3 หมื่นล้านบาท และค่าจ้างเดินรถ ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

การขึ้นค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 ผนวกส่วนต่อขายที่ 1 ราคา 15 บาท ทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ไม่เกิน 62 บาท เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า ที่ผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เคยหาเสียงไว้ว่า จะลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหลือ 20 บาท ตลอดสาย เป็นแค่การหาเสียง ทำไม่ได้จริง

เปรียบเทียบกับ อัตราค่าโดยสารตลอดสาย 65 บาท ตามข้อเสนอขอยืดอายุสัมปทานบีทีเอส ค่าโดยสารใหม่ ถูกกว่า เพียง 3 บาทเท่านั้น แต่ กทม. ไม่ได้อะไรเลย ต้องหาเงินมาใช้หนี้ บีทีเอส และหนี้ รฟม.เอง

ข้อเสนอค่าโดยสาร 65 บาท และยืดสัมปทานบีทีเอส ที่จะหมดลงในปี 2572 ออกไปอีก 30 ปี  แลกกับ บีทีเอส ปลดหนี้ค่าระบบค่าเดินรถ รวม 5.3 หมื่นล้านบาท และบีทีเอส ชำระหนี้คืน 

รฟม. อีก 50,000 ล้านบาท แทน รฟม. นอกจากนั้น กทม. ยังได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ในช่วง สัมปทานใหม่ ตั้งแต่ ปี 2572 - 2602 

นี่คือ การตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ แค่ขึ้นค่าโดยสารส่วนต่อขยาย 15 บาท มีรายได้วันละ 3-4 ล้านบาท ไม่มีวันที่จะชำระหนี้คืนบีทีเอส และ รฟม. ได้

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ขายฝันให้คน กทม. ว่า เมื่อสัมปทานบีทีเอส หมดลงในปี 2572  กทม.จะเป็นเจ้าของรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งมีผู้โดยสารมาก ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ จะมีเงินมาใช้หนี้ และจะลดค่าโดยสารลงมาได้ เหลือ 20 บาทตลอดสาย เพราะ กทม. เป็นเจ้าของแล้ว ซึ่งเป็นความฝันที่ขัดแย้งกัน  

ฝันหนึ่งจะมีรายได้มาใช้หนี้  อีกฝันหนึ่ง จะลดค่าโดยสารเหลือ 20 บาทตลอดสาย แล้วจะเหลือกำไรพอใช้หนี้หรือ ?

ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 62 บาท กับ 65 บาท ไม่ต่างกัน ไม่มีผลกระทบต่อผู้โดยสารเลย แต่ทำให้ กทม. เสียโอกาสที่จะเคลียร์หนี้ก้อนใหญ่ 1 แสนกว่าล้านบาท ที่บีทีเอส เสนอตัวยกหนี้ให้ แลกกับการยืดสัมปทานออกไปอีก 30 ปี

อย่างไรก็ตามก็น่าเห็นใจ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เพราะปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว อยู่นอกเหนืออำนาจ ผู้ว่าฯ กทม.เป็นเรื่องการเมือง ที่ถูกพรรคภูมิใจไทย ยกพรรคออกมาค้าน โทษฐานบีทีเอสขวางการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ที่มีการเปลี่ยนสเปกกลางอากาศ

รัฐบาลนี้พรรคภูมิใจไทย ไม่ได้คุมคมนาคมแล้ว แต่อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ไปนั่งเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย กทม. อยู่ในกำกับมหาดไทย หากจะมีการรื้อฟื้นเอาแนวทางแก้ปัญหาหนี้ค่าเดินรถ ค่าก่อสร้าง รถไฟฟ้าสายสีเขียวของกทม. แบบเบ็ดเสร็จ ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย ตามแนวทางคำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ 3/2562 คมนาคมไม่ค้านแล้ว แต่ต้องให้อนุทิน ในฐานะ รมว.มหาดไทย เป็นผู้เสนอวาระเข้า ครม. ถ้าอนุทินไม่เอาด้วย ก็ทำอะไรไม่ได้

หรือว่าจะต้อง ‘ดีล’ กันใหม่ ควบคู่ไปกับรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก เพราะเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว อะไรที่ตกลงกันไป เจ้ากระทรวงคนใหม่ พรรคใหม่ ไม่รับรู้ ต้องคุยกันใหม่ ?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์