ส่อง..แบงก์ไหน ปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้วบ้าง ?

3 ต.ค. 2566 - 06:22

  • 3 แบงก์พาณิชย์ ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก

  • 4 แบงก์รัฐ ประกาศตรึงดอกเบี้ย ทั้งถึงสิ้นปีนี้ และให้นานที่สุด

economy-money-finance-bank-increase-interest-rates-SPACEBAR-Hero.jpg

หลังจาก คณะกรรมการนโยบาย หรือ กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อ 27 ก.ย. 2566 ขึ้น 0.25% ต่อปี เป็น 2.50 % จากเดิม 2.25 % โดยให้มีผลทันที จากนั้น ธนาคารเริ่มทยอยปรับดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก 

เริ่มจาก ธนาคารกรุงเทพ ประกาศ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เพิ่มขึ้น มีผล 29 ก.ย. 2566 โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับขึ้น 0.10-0.25% สำหรับบุคคลธรรมดา สำหรับเงินฝากประจำ 3-36 เดือน อยู่ในกรอบดอกเบี้ย 1.20-2.10 % ต่อปี ด้านเงินฝากสะสมทรัพย์ e-Saving วงเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็น 1.50% ต่อปี และวงเงินฝากส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท เป็น 0.65% ต่อปี 

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อปรับขึ้น 0.25% โดยอัตราดอกเบี้ย MLR (Minimum Loan Rate)หรือ อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา MLR เป็น 7.10% ต่อปี ดอกเบี้ย MOR (Minimum Overdraft Rate)หรือ อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี หรือ MOR เป็น 7.55% ต่อปี และ MRR (Minimum Retail Rate)  หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี เป็น 7.30% ต่อปี

เช่นเดียวกัน ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษ และฝากออมทรัพย์ดิจิทัล อยู่ที่ 1.70-5.0% ต่อปี โดยบางผลิตภัณฑ์มีผลตั้งแต่ 22 ก.ย.66 นอกจากนี้ยังปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลูกค้านิติบุคคลเป็น 2.40-2.50% ต่อปี ตามเงื่อนไขและระยะเวลา โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. 66 เป็นต้นไป  ด้านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.25% สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท ทั้ง MLR  MOR  และ MRR มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไปเช่นกัน

และธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท โดยอัตราดอกเบี้ย MRR ปรับเป็น 7.30% ต่อปี อัตราดอกเบี้ย MLR เป็น 7.05% ต่อปี และ อัตราดอกเบี้ย MOR เป็น 7.575% ต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ยใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป

4 แบงก์รัฐ ประกาศตรึงดอกเบี้ย

ขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อย่าง ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ในระดับปัจจุบันต่อไปจนถึงสิ้นปี 2566 เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการชำระเงินงวดตามนโยบายรัฐบาลให้กับลูกค้าเงินกู้ในปัจจุบันของธนาคารที่มีอยู่จำนวน 1.79 ล้านบัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อคงค้างมากกว่า 1.66 ล้านล้านบาท เพื่อให้ได้มีเวลาในการปรับตัวรับกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น 

เช่นเดียวกับ ธนาคารออมสิน ประกาศยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ โดยจะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทให้นานที่สุด รวมถึง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ก็ขานรับนโยบายกระทรวงการคลัง ยืนยันที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา Prime Rate 6.75% ต่อปี จนถึงสิ้นปี 2566 เพื่อเป็นการช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระผู้ประกอบธุรกิจการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ SMEs ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

ล่าสุด SME D Bank ก็ได้ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท ช่วยลดภาระ บรรเทาความเดือดร้อน หวังสนับสนุนเอสเอ็มอีไทย

ข่าวน่าสนใจ

เตือนสรรพากร เก็บภาษีรายได้ต่างประเทศ ป่วนนักลงทุน

ค่าเช่าบ้านคนละครึ่ง ให้ผู้ไร้บ้าน-ไม่มีงานทำ

น้ำท่วม-น้ำแล้ง จัดการอย่างไร ราคาสินค้าไม่เพิ่ม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์