เตือนสรรพากร เก็บภาษีรายได้ต่างประเทศ ป่วนนักลงทุน

3 ต.ค. 2566 - 06:33

  • คำสั่งกรมสรรพากรเสี่ยงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะตีความผิด

  • หวั่นกระทบกับนักทุนที่ไปลงทุนต่างประเทศกว่า 5 หมื่นราย

  • หากต้องการบังคับใช้ต้องศึกษาให้ละเอียด และออกเป็นกฎหมาย

economy-money-income-tax-planning-investment-revenue-investors-SPACEBAR-Hero.jpg

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ที่ถือเป็นปรมาจารย์คนหนึ่งด้านกฎหมายภาษีของไทย ที่เคยทำงานอยู่ในสำนักงานกฎหมาย เบเคอร์แอนด์แมคเคนซี่ ได้เผยแพร่บทความ เรื่อง “คำสั่งกรมสรรพากรกับแหล่งเงินได้ต่างประเทศ : คุ้มค่าหรือไม่”

ในบทความตั้งข้อสังเกตถึง คำสั่งล่าสุดของกรมสรรพากร ที่ ป.161/2566 เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ที่กำหนดให้ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้ในต่างประเทศ ไม่ว่าจากการทำงานหรือทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ หากมีการนำเงินได้ดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทย ไม่ว่าในปีภาษีใดก็ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้ในปีนั้นๆ โดยจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคมปีหน้า ซึ่งกำลังสร้างความปั่นป่วนและไม่พอใจให้กับบรรดานักลงทุนประเภท High Net Worth ที่มีการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ  โดยเฉพาะในตลาดหุ้นต่างประเทศ

ศจ.พิเศษ กิติพงศ์ มีความเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวอาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะตามมาตรา 41 วรรค 2 เดิมนอกจากมีหลักในการจัดเก็บภาษีเงินได้จากใครก็ตามที่พำนักอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วันขึ้นไปแล้ว หากมีรายได้ และนำเงินเข้ามาในปีภาษีเดียวกัน จะต้องนำรายได้นั้นมาคำนวณเป็นเงินได้เพื่อคำนวณภาษีเงินได้

แต่คำสั่งสรรพากรใหม่ที่ลงวันที่ 15 กันยายน เท่ากับเป็นการยกเลิกการตีความ ที่เคยระบุว่าหากเงินได้ดังกล่าว นำมาคนละปีภาษีก็ไม่ต้องมาคำนวณเป็นเงินได้ ซึ่งที่ผ่านมาผู้มีเงินไปลงทุนในต่างประเทศส่วนใหญ่จะนำเงินได้เข้ามาคนละปีภาษี ซึ่งต้องถือว่าเป็นการวางแผนภาษี ( TAX Planning) ที่ถูกกฎหมาย และกรมสรรพากรยอมรับตลอดเวลา 38 ปีที่ผ่านมา

ศจ.พิเศษ กิติพงศ์ ระบุว่า คำสั่งดังกล่าว ผิดหลักการตีความกฎหมายภาษีอากร และเป็นการขยายการตีความ ของฝ่ายบริหารของกรมสรรพากรเอง โดยได้หยิบยกความเห็นของ นักกฎหมายอีกหลายท่าน เช่น ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ที่มองว่าหลักของการตีความกฎหมายต้องตีความโดยเคร่งครัด และในทางที่เป็นคุณกับผู้เสียภาษี 

การตีความว่า ไม่ว่าจะนำเงินได้เข้ามาในปีใดก็ต้องเสียภาษีเงินได้จึงไม่ถูกต้อง หากจะมองว่าเป็นคำสั่งทางปกครองก็ไม่ชอบ เพราะเป็นการให้พนักงานสรรพากรปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่นเดียวกับ ศาสตราจารย์พิเศษไพจิตร โรจนวานิช และ โกเมนทร์ สืบวิเศษ ที่อธิบายไว้ทำนองเดียวกัน

ดังนั้นการออกเป็นคำสั่งดังกล่าวจึงไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้นจะเสนอให้รัฐบาลแก้กฎหมายให้ชัดเจนแทน

ขณะเดียวกัน คำสั่งดังกล่าว ยังส่งผลกระทบในระยะยาว เพราะสร้างความกังวลให้กับผู้มีเงินได้ในต่างประเทศ รวมถึงชาวต่างชาติที่พำนักในไทยเกิน 180 วัน ที่อาจจะเลือกไม่นำเงินได้กลับเข้ามาในประเทศไทย และฝากทิ้งไว้ในสถาบันการเงินต่างประเทศแทน

ปัจจุบันมีนักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนในต่างประเทศ ไม่รวมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 55,593 ราย มีมูลค่าการลงทุนราว 8,886 ล้านเหรียญ สหรัฐ หรือราว 311,010 ล้านบาท ซึ่งหากผลกระทบจากคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าว ก็คงเลือกวิธีที่จะไม่นำเงินกลับเข้ามาในประเทศ 

ในตอนท้ายบทความ ศจ.พิเศษ กิตติพงศ์ เสนอว่าหากต้องการที่จะจัดเก็บภาษีรายได้จากการไปลงทุนในต่างประเทศจริง ๆ ก็ควรเสนอออกเป็น พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. และควรมีการกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจน และไม่ควรจัดเก็บในอัตราที่สูงเกินไป

“ต้องมีความชัดเจนว่าเงินได้ดังกล่าวจะเท่ากับต้องเสียภาษีซ้อนหรือไม่ เงินได้ประเภทใดจะได้รับเครดิตยกเว้นภาษี รวมถึงการนำเงินไปลงทุนในตลาดหุ้น หรือ ซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศ จะถูกเก็บภาษีในส่วนใด จะเก็ยภาษีส่วนเกิน Capital Gain หรือเฉพาะในส่วนของดอกเบี้นย รวมทั้งจะคำนวณเรื่องกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร เพราะเงินที่นำเข้ามาอาจไม่สามารถแยกได้ว่า เป็นต้นเงิน ดอกเบี้ย หรือ กำไร”

ศจ.พิเศษ กิตติพงศ์

ก่อนคำสั่งนี้จะมีผลบังคับใช้ต้นปีหน้า ควรให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร วินิจฉัยความชอบของคำสั่งนี้ก่อน และควรศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน หากยังยืนยันจะจัดเก็บจริง ๆ ก็ควรเสนอเป็นกฎหมาย

ข่าวน่าสนใจ

ส่อง..แบงก์ไหน ปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้วบ้าง ?

NFTs ‘สินทรัพย์รอฟื้น’ หรือ ‘ค่าโง่’ เมื่อ 95% ไร้มูลค่า

ค่าเช่าบ้านคนละครึ่ง ให้ผู้ไร้บ้าน-ไม่มีงานทำ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์