สบน.แจงอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการออกพันธบัตร สกุลเงินตราต่างประเทศ

21 ก.พ. 2567 - 06:54

  • สามารถช่วยให้รัฐบาลไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่กว้างขึ้น

  • ลดโอกาสของการแย่งชิงเม็ดเงินจากภาคเอกชน

  • ทำหน้าที่เป็นต้นทุนอ้างอิงให้กับภาคเอกชนของไทยที่จะออก FCY Bond ได้

economy-public-debt-foreign-currency-bond-SPACEBAR-Hero.jpg

จินดารัตน์ วิริยะหวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ โฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่าตามที่มีข่าวเผยแพร่ทางออนไลน์ (Online) เกี่ยวเนื่องกับการออกพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Bond : FC1) ของกระทรวงการคลังในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในหลายประเด็น สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ขอเรียนว่า สบน. ได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่าเข้าข่ายข่าวปลอม (Fake News) ผ่านระบบของศูนย์ต่อต้านข้าวปลอม (Anti-Fake News Center Thailand) ไปแล้วเมื่อวานนี้ (วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567)

โดย สบน. ขอชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการระดมทุนของรัฐบาล ว่า ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา สบน.ได้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นแหล่งระดมทุนที่ยั่งยืนให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ผ่านการออกตราสารนี้ระยะสั้น และพันธบัตรรัฐบาลอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Benchmark Bond) ตั้งแต่รุ่นอายุ 3 ถึง 50 ปี ให้มีปริมาณที่สามารถสร้างสภาพคล่องในตลาด สำหรับการสร้างเส้นอัตราผลตอบแทน (rield Curve) ให้เป็นต้นทุนอ้างอิงให้กับภาคเอกชนได้ ทำให้ที่ผ่านมาตลาดตราสารหนี้ในประเทศสามารถรองรับการระดมทุนของรัฐบาลได้อย่างมีเสถียรภาพและมีต้นทุนที่เหมาะสม

กระทรวงการคลัง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ได้มีสั่งการให้ สบน. ศึกษาแนวทางการระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศ (FCY Bond) เพื่อรองรับความผันผวนของตลาดการเงิน กรณีที่ตลาดตราสารหนี้และตลาดการเงินในประเทศอยู่ในสภาวะตึงตัว ซึ่ง สบน. สามารถพิจารณากู้เงินจากต่างประเทศภายใต้ พรบ. หนี้สาธารณะฯ มาตรา 22 เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ได้ตามความจำเป็น ประกอบกับประเทศไทยมีหนี้สาธารณะคงต่างที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ ณ ธันวาคม 2566 อยู่ในระดับต่ำหรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 1.40 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด

ขณะนี้ สบน.อยู่ระหว่างศึกษาวิเคราะห์สภาวะตลาด รวมถึงการพิจารณาข้อดี – ข้อเสียจากการออกพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Bond: ECY Bond) โดยเบื้องต้นพบว่า ต้นทุนการออก FCY Bond โดยรวมยังสูงกว่าการระดมทุนภายในประเทศ ซึ่งต้นทุนเป็นปัจจัยที่ สบน. ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ดี การออก FCY Bond ของรัฐบาลจะสามารถสร้างผลเชิงบวกในมิติอื่น ๆ อาทิ 1) สามารถช่วยให้รัฐบาลไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่กว้างขึ้น 2) ลดโอกาสของการแย่งชิงเม็ดเงินจากภาคเอกชน (Crowling Out Effect) และ3) ทำหน้าที่เป็นต้นทุนอ้างอิงให้กับภาคเอกชนของไทยที่จะออก FCY Bond ได้

ทั้งนี้ เพื่อความรอบคอบและเกิดประโยชน์กับการบริหารการเงินและการคลังในภาพรวม มีต้นทุนและความเสี่ยงที่รับได้ และสอดคล้องกับการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด สบน.จะวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมทั้งมิติของทางด้านต้นทุนและการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน และมิติที่จะส่งผลต่อประโยชน์ในการระดมทุนของภาคเอกชน รวมถึงความคุ้มค่าต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมอย่างเหมาะสมต่อไป

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์