TikTok เตือนผลิตข่าวปลอม เสี่ยงถูกแบน - ดำเนินคดี

16 พ.ย. 2566 - 11:28

  • Tiktok ยกระดับความปลอดภัย 3 ประการ

  • ทุ่มพนักงาน 4 หมื่นคน ดูแลข่าวปลอม-สแกม ลดความเสียหายศก.

  • เพิ่มพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้ใช้งาน สร้างสุขภาวะดิจิทัล

Econom-TikTok-invests-employees-40000-people-oppose-fake-news-threat-scammers-SPACEBAR-Hero.jpg

TikTok เตือนผู้ใช้งานผลิตข่าวปลอม-สแกม ละเมิดสิทธิเด็ก เยาวชน เสี่ยงถูกดำเนินคดี ทุ่มพนักงาน 40,000 คน เพิ่มพื้นที่ปลอดภัย ลดความเสียหายเศรษฐกิจและสังคม 

สิริประภา วีระไชยสิงห์ Outreach and Partnerships Lead, Trust and Safety, TikTok เปิดตัวโครงการ TikTok Safety Day เพิ่มพื้นที่ปลอดภัยทุกการสร้างสรรค์ โดยความสำคัญของโครงการนี้ TikTok ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัย 3 ประการ ได้แก่ การต่อต้านข้อมูลที่บิดเบือนไม่เป็นความจริง (Anti-Misinformation) ความปลอดภัยของผู้เยาว์ (Minor Safety) และ สุขภาวะดิจิทัลและการให้ความรู้ทางด้านดิจิทัล (Digital Wellbeing and Digital Literacy) เพื่อส่งเสริมพื้นที่ปลอดภัยในโลกดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง

1.การต่อต้านข้อมูลที่บิดเบือนไม่เป็นความจริง เพื่อเป็นการปกป้องผู้ใช้งานให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ และดำเนินการเชิงรุกเพื่อต่อต้านข้อมูลที่บิดเบือนและเป็นเท็จ ตลอดจนสแกมและกลโกงต่างๆ  โดยทุ่ม ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยมากกว่า 40,000 คนทั่วโลก ในการทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติ และใช้นวัตกรรมในการพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ อยู่เสมอ เช่น ศูนย์กลางข้อมูล (Information Hub), Information Tag, และ Live Banner 

TikTok ยังสนับสนุนให้ผู้ใช้งานสามารถรายงานการหลอกลวงหรือกิจกรรมที่ต้องสงสัยว่าเป็นการฉ้อโกงโดยทันที ผ่าน Self Report ภายใต้หัวข้อ “การฉ้อโกงและการหลอกลวง”  พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกมากกว่า 15 รายเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมถึง Agence France-Presse สำนักข่าวชื่อดังระดับโลก และ COFACT ในประเทศไทย ในโครงการต่างๆ เพื่อต่อต้านข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

ปริญดา อุดมวงศ์ Head of Communications, TikTok เสริมว่า ขั้นตอนในการตรวจสอบข่าวปลอม และ สแกม มีการดำเนินการทั้งเชิงรุกและเชิงรับ สำหรับเชิงรุก ทาง Tiktok มีขั้นตอนในการตรวจสอบคอนเทนต์ เริ่มจากทีมงานกว่า 40,000 คน ทำงานร่วมกับเทคโนโลยี หรือ Machine learning ในการตรวจสอบ ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่เชิงรุก มีฟีเจอร์ self report ที่ผู้ใช้งานสามารถกดรายงานเพื่อให้ตรวจสอบคอนเทนต์ ซึ่งระยะเวลาในการตรวจสอบก็จะแตกต่างกันออกไป

สิริประภา วีระไชยสิงห์ เสริมว่า วิธีในการลงโทษผู้ใช้งานที่เผยแพร่ข่าวปลอม หรือ ผู้ใช้ที่เป็นสแกม หลอกลวง และคอนเทนต์ที่ละเมิดกฎเกณฑ์ของชุมชน ทาง Tiktok จะมีระดับในการลงโทษ เริ่มจากระงับวิดีโอไม่ให้ปรากฏบน For Your Feed และหากข้อมูลคอนเทนต์เป็นเท็จ ก็จะมีการลบคอนเทนต์ออกจากแพลตฟอร์ม และหากพบว่า ผู้ใช้รายเดิมตั้งใจผลิตผิดซ้ำ จะมีการระงับการใช้บัญชี และความผิดที่รุนแรงที่สุด คือ ละเมิดความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน หรือ  Minor Safety หากพบว่ามีการละเมิดในบางกรณี จะมีส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือ เจ้าหน้าที่รัฐในประเทศนั้นๆ ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

_R6D4073.jpg
Photo: สิริประภา วีระไชยสิงห์ Outreach and Partnerships Lead, Trust and Safety, TikTok

หากผู้ใช้เผยแพร่คอนเทนต์ที่ผิดกฎชุมชน ข่าวปลอม และสแกม ทาง Tiktok จะดำเนินการจัดการตามระดับความรุนแรง เริ่มจากไม่ดันวิดีโอไปยัง (For Your Feed) ลบ ระงับบัญชี หากพบมีความผิดเกี่ยวกับเด็ก จะส่งต่อให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย

สิริประภา วีระไชยสิงห์ Outreach and Partnerships Lead, Trust and Safety, TikTok

2.ความปลอดภัยทางดิจิทัลให้กับผู้เยาว์บน TikTok เช่น ฟีเจอร์ Family Pairing ซึ่งช่วยให้ผู้ปกครองเชื่อมต่อการใช้งานกับยูเซอร์กับของลูกหลานได้ เพื่อกรองเนื้อหาสำหรับเด็กและเยาวชน โดยมีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 400 ล้านคน โดยมีเด็กและเยาวชนได้รับประโยชน์จากฟีเจอร์นี้ 850,000 คนทั่วโลก  

โดยฟีเจอร์นี้ มีส่วนช่วยผู้ปกครองสามารถเลือกและคัดกรองเนื้อหาให้เด็กอายุ 13 ถึง 17 ปีได้ นอกจากนี้ TikTok ยังได้จัดตั้ง Youth Consultation ภายใต้ความร่วมมือกับ iNet และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยเพื่อรับฟังประสบการณ์ของผู้ใช้แพลตฟอร์มโดยตรง

3.สุขภาวะดิจิทัลที่ดีและความรู้ทางด้านดิจิทัลต้องมาก่อน โดย TikTok ดำเนินการเชิงรุกในการใช้เครื่องมือด้านความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้แพลตฟอร์มผ่าน Screen Time Management ที่ประกอบด้วย การแจ้งเตือนเวลาหน้าจอรายวัน (daily screen time notifications) และการแจ้งเตือนการพักหน้าจอ (screen time break reminders) เป็นต้น เพื่อสนับสนุนไลฟ์สไตล์ดิจิทัลที่สมดุล และจัดตั้ง TikTok Safety Advisory Councils (SAC) เพื่อรวบรวมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระจากทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เพื่อให้คำแนะนำในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยบน TikTok

_R6D4679_0.jpg
Photo: สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคี Co-Fact

สุภิญญา แนะรัฐยกระดับข่าวปลอม-มิจฉาชีพ เป็นวาระแห่งชาติ

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคี Co-Fact  และเครือข่ายนักคิดดิจิทัล หนึ่งในพันธมิตรโครงการนี้ ระบุว่า ในโลกของโซเชียลมีเดียมีทั้งข้อมูลทั้งข่าวสารที่จริงและเท็จ สำหรับโครงการ TikTok Safety Day  ทาง Co-Fact  จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลิตเนื้อหาที่ถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือ พร้อมช่วยในชี้เป้าคอนเทนต์ข่าวปลอม สแกม หรือ มิจฉาชีพ เพื่อประสานต่อไปยังทีมงานของ TikTok ให้สามารถตรวจจับคอนเทนต์เหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น 

นอกจากนี้ มีข้อเสนอต่อรัฐบาล อยากให้ใช้สื่อของรัฐบาลในการรณรงค์และยกระดับความปลอดภัยในโซเซียลมีเดียแก่ประชาชน ยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีองค์กรด้านความมั่นคง ตำรวจ อัยการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาบูรณาการร่วมกัน เพื่อทำงานได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว

ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านอินเตอร์เน็ต ประเทศไทยอยู่ในระดับที่ดีมาก ประชากรไทยใช้อินเตอร์เน็ตติดอันดับ 5 ของโลก เฉลี่ย 8 ชั่วโมงต่อวัน ปัจจุบันคนไทยมีบัญชี Tiktok ถึง 40 ล้านบัญชี ทำให้คนไทยใช้อินเตอร์เน็ตอำนวยความสะดวกในการหาข้อมูลและซื้อขายสินค้ามาก แต่ขณะเดียวกันก็มีปัญหาการหลอกลวงในโลกโซเซียลมีเดียสูงอยู่ ดังนั้นการที่ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันในแก้ปัญหาจะช่วยทำให้ผลความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมได้

ข่าวที่น่าสนใจ

นายกฯ ชวน TikTok เปิดศูนย์สอนการใช้งานแพลตฟอร์มในไทย แลกสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ชวนเข้าสู่โลกเจน Z แค่ลองใช้ TikTok ค้นหาข้อมูลที่คุณอยากรู้

ไอ้เราก็เท่ซะด้วย เปิดที่มาวลีฮิตบน TikTok ที่แท้มาจากไหนกันนะ?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์