รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการคลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ทวีตข้อความในแอฟพลิเคชั่น X ในวันนี้ (26 มีนาคม 2567) โดยระบุว่าในวันที่ 28 มีนาคมนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ สภาผู้แทนราษฎร จะมีการรายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติดังกล่าวจึงขอนำเสนอข้อมูลบางส่วนที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานบันเทิงครบวงจรและกาสิโน
ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ รมช.จุลพันธ์ ยืนยันว่า สถานบันเทิงครบวงจรตามนิยามนี้ ไม่ได้มีเพียงกาสิโนถูกกฎหมาย แต่จะต้องเป็น สถานที่ที่รวมสถานบันเทิงหลายประเภทในพื้นที่เดียวกัน เช่น โรงแรมระดับ 5 ดาว แลนด์มาร์ค ศูนย์การจัดแสดงโชว์ ร้านอาหาร ฯลฯ ร่วมกับกาสิโน
การจัดตั้งสถานบันเทิงครบวงจรและกาสิโนระดับโลก จะจัดสรรให้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนดไว้เฉพาะ เพื่อให้สะดวกในการบริหารจัดการ การจัดเก็บรายได้ และการควบคุมการเข้ามาเล่นกาสิโนของคนในประเทศ
ข้อมูลจาก Statista พบว่า ประเทศที่มีได้รายได้เข้าประเทศสูงที่สุดจากอุตสาหกรรมนี้คือ มาเก๊า 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สหรัฐอเมริกา (ลาสเวกัส) 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สิงคโปร์ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกาหลีใต้ 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฟิลิปปินส์ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เวียดนาม 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อินโดนีเซีย 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มีการยกกรณีตัวอย่างสิงคโปร์ว่า หลังจากมีการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศสิงคโปร์ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้กว่า 300,000 ล้านบาท ขยายรายได้ภาคการท่องเที่ยวมากกว่า 47% เทียบกับก่อนการสร้างสถานบันเทิงครบวงจร สร้างผลกระเศรษฐกิจสิงคโปร์ได้ 4% ของ GDP ในปี 2022 ช่วยการจ้างงานที่มีรายได้สูงกว่า 20,000 ตำแหน่ง และสามารถจัดเก็บภาษีเข้ารัฐได้ถึงกว่า 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หลังจากการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อัตราผู้ติดการพนันและการพนันผิดกฎหมายลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 2.1% ในปี 2005 เป็น 0.2% ในปี 2020
ส่วนในสหรัฐฯ ผลการศึกษาจาก AGA หรือ American Gaming Association ระบุว่าอุตสาหกรรมกาสิโนสร้างรายได้แก่เศรษฐกิจมหภาคของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 3.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างรายได้ให้แรงงาน 1.04 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 3.78 ล้านล้านบาท ซึ่งมาจากการสร้างงานให้แก่ผู้ใช้แรงงานสหรัฐเกือบ 2 ล้านรายทั่วประเทศจากธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน รัฐบาลกลางสหรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นสามารถเก็บภาษีจากการพนันได้กว่า 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
อุตสาหกรรมการพนันของสหรัฐฯ ทำให้เกิดการจ้างงานโดยตรงกว่า 700,000 คน ประกอบด้วยการจ้างงานภายในสถานบันเทิงกว่า 600,000 คน มีการจ้างพนักงานที่ทำงานในสำนักงานธุรกิจของทั้งกาสิโนและสถานบันเทิงกว่า 23,000 คน รวมไปถึงการจ้างงานในตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องจากการเดินทาง การท่องเที่ยวภายในสถานบันเทิงอีกกว่า 89,000 คน
รมช.จุลพันธ์ยัง ระบุอีกว่า ปัจจุบันทั่วโลกจะมีการเก็บรายได้ของกาสิโนแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือภาษีกาสิโนโดยเฉพาะ โดยหลักการทั่วโลกจะคิดจากรายได้ขั้นต้นจากการเล่นพนัน (Gross Gaming Revenue; GGR) กล่าวคือ รายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายเบื้องต้นของผู้ประกอบการได้จากผู้เล่นที่วางเดิมพัน ซึ่งแต่ละประเทศมีอัตราการเก็บภาษีส่วนนี้แตกต่างกัน อาทิ เมืองลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา จัดเก็บที่ร้อยละ 10 ของ GGR ประเทศสิงคโปร์จัดเก็บที่ร้อยละ 17 ของ GGR และ มาเก๊าจัดเก็บที่ร้อยละ 35 ของ GGR เป็นต้น
รายได้ส่วนที่สองจะเก็บได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาต สิงคโปร์กรณีมีกาสิโน 1 แห่งค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 28.8 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งใบอนุญาตมีเวลากำหนดแล้วแต่ประเทศ กรณีประเทศสิงคโปร์จะมีอายุใบอนุญาตอยู่ที่ 17 ปี ญี่ปุ่นจะมีระยะเวลาใบอนุญาต 10 ปี มาเก๊าให้ระยะเวลา 20 ปี ซึ่งสามารถต่อขยายได้ตามแต่ละประเทศพิจารณา
รายได้อีกทางหนึ่งคือ ค่าเข้าใช้บริการกาสิโน สำหรับคนสิงคโปร์หรือคนที่พำนักในประเทศสิงคโปร์อายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป อัตราค่าเข้าจะอยู่ที่ 150 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 3,900 บาท ต่อ 24 ชั่วโมง หรือถ้าเก็บเป็นรายปีจะอยู่ที่ 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ เงินเก็บในส่วนนี้จะเข้าไปที่กองทุนภาษีและค่าธรรมเนียมการพนัน เพื่อนำไปใช้ในกิจการเพื่อสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการพนัน
ส่วนกรณีของญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นและคนต่างชาติที่พำนักในญี่ปุ่นอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป สามารถเข้ากาสิโนได้เพียง 3 ครั้งต่อ 28 วัน โดยเสียค่าเข้า 6,000 เยน หรือ 1,500 บาท





