KCAR เดินเกม รักษารายได้ รับขาลงตลาดรถมือสอง

25 ม.ค. 2567 - 11:14

  • จับตา KCAR วางกลยุทธ์ รับยอดขายธุรกิจรถมือสองตก เน้นบริการสูงสุด ไม่เน้นเติบโตสูงสุด

  • เผยเป้าปี 67 รายได้โต 6% พร้อมตั้งงบ 2 พันล้าน เก็บรถเข้าพอร์ต

Kcar-car-operating-lease-carent-used-car-SPACEBAR-Hero.jpg

วิกฤตหุ้นกู้ และยอดขายรถมือสอง ‘ตก’ ธุรกิจรถมือสอง ต้องทำอย่างไร?
KCAR ผู้ประกอบการที่ทำทั้งธุรกิจรถเช่า และรถมือสอง ชี้ ปรับกลยุทธ์สอดรับตลาดขาลงช่วยธุรกิจอยู่รอด ตอกย้ำ ปี 65 เป็นปีที่ดี KCAR เติบโตสวนตลาดขาลง ปี 66 ประเมินกำไรจะเติบโตมากกว่า 10% จากปี 65 ขณะที่ปี 67 ยังต้องติดตามสภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนขององค์กรธุรกิจ และประชาชน

พิชิต จันทรเสรีกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงไทย คาร์เรนท์ แอนด์ ลีส จำกัด (มหาชน) หรือ KCAR ผู้ให้บริการรถเช่า และซื้อขายรถยนต์มือสอง เผยภาพรวมตลาดรถเช่าฯ-รถมือสอง ปี 2567 ว่า ยังไม่สู้ดีนัก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ดีมาก KCAR จึงชูกลยุทธ์ ‘บริการสูงสุด ไม่เน้นเติบโตสูงสุด’ เพื่อเร่งระบายรถยนต์มือสอง ที่ขณะนี้มีรถถูกยึดเข้ามาในตลาดจำนวนมาก แตะ 5 แสนคัน เฉพาะในพอร์ตของ KCAR มีเพิ่ม 2,000 คัน โดยรถจำนวนมากดังกล่าว มีผลมากดราคารถมือสองให้ต่ำลง 

นอกจากนี้ ยังมีรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นอีก KCAR จึงปรับทิศทาง ไม่เพียงการเน้นที่ ‘บริการสูงสุด ไม่เน้นเติบโตสูงสุด’ แล้ว ยังจะมีการจัดหารถยนต์ไฟฟ้า เพื่อมาตอบสนองลูกค้า กลุ่มที่ต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นด้วย โดยแผนขยายฐานลูกค้ารถเช่า จะเน้นไปที่กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ และรายกลาง ให้มากขึ้น ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น 10% จากปัจจุบันที่มีประมาณ 1,200 ราย เน้นทำการตลาด บริการ และการเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น ดึงดูดลูกค้าในภาวะตลาดซบ เพื่อรักษาฐานรายได้ต่อไป

“บริษัทจะใช้กลยุทธ์เข้าไปเสนอแข่งราคาในบางรถบางรุ่นที่พอสู้ได้  ส่วนลูกค้าระดับกลางจะเน้นมากขึ้นเป็นพิเศษ เพราะมีความยืดหยุ่นในด้านราคาสูง”

พิชิต กล่าว

วางงบลงทุน 2,000 ล้าน ซื้อรถเข้าพอร์ต

สำหรับปี 2567 KCAR วางงบลงทุนไว้ที่ประมาณ 2 พันล้านบาท เพื่อซื้อรถยนต์เข้าพอร์ต คาดว่าพอร์ตรถยนต์ ณ สิ้นปีจะอยู่ในระดับเดียวกับปัจจุบันที่มี 9,000 คัน เนื่องจากต้องรอดูสถานการณ์การคืนรถของลูกค้า ว่าครบถ้วนมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ทั้งนั้น ในครึ่งปีแรก จะใช่เงินลงทุนในการซื้อรถประมาณ 700-800 ล้านบาท สำหรับการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า แม้จะมีเป้าหมายลงทุนเพิ่มในส่วนนี้ แต่ยังต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง และต้องศึกษาปัจจัยเสี่ยงให้ลึกกว่านี้ โดยเฉพาะ ‘ค่าเสื่อม’ โดยในปัจจุบันมีอยู่ในพอร์ตแล้ว ประมาณ 200-300 คัน

ด้านเป้ารายได้ KCAR ตั้งเป้าโต 5-6% โดยจะเร่งขายรถยนต์มือสองเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 คัน จากปกติที่จำหน่ายเฉลี่ยปีละ 1,000 คัน ซึ่งถือได้ว่า ขายเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ขายหมดภายในปีนี้ เนื่องจากยังต้องดูสถานการณ์ตลาดรถมือสองที่ราคาไม่ค่อยดี หากเร่งขายในช่วงเวลาเช่นนี้ ก็อาจกระทบผลดำเนินงานได้ จึงทยอยขายออกไปบางส่วน และรอดูปี 2568 ที่คาดว่า ราคารถมือสองจะปรับตัวสูงขึ้น 

สำหรับธุรกิจจำหน่ายและรับซื้อรถมือสองนั้น KCAR บริหารจัดการภายใต้โปรแกรมมาตรฐาน ‘โตโยต้า ชัวร์’ ที่บริษัทได้ขยายมาเสริมธุรกิจรถเช่า ในปีนี้บริษัทมองเห็นโอกาสในการรุกตลาดมากขึ้น แม้ว่าภาพรวมตลาดรถยนต์มือสองจะยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แต่น่าจะหดตัวเพียงเล็กน้อย จากภาวะเศรษฐกิจ และกดดันจากรถยนต์ไฟฟ้าที่มาดึงส่วนแบ่งไปในบ้างกลุ่ม แต่ผู้บริโภคยังมีความต้องการอยู่ บริษัทจึงพร้อมรุกทำตลาด และปรับช่องทางการขายผ่านเว็บไซต์ใหม่ ให้ง่ายขึ้น

“ปีนี้วางงบลงทุนไว้ประมาณ 2,000 ล้านบาท สำหรับการซื้อรถยนต์เป็นหลัก โดยจะเพิ่มรถมือสอง 2,000 คัน จาก 1,000 คัน เพื่อผลักดันยอดขายรถมือสองให้เติบโต 10-15% ส่วน พอร์ตรถยนต์เช่า 9,000 คัน จะยังคงเดิม ในขณะที่รายได้รวมปีนี้วางไว้เติบโตประมาณ 5% แต่กำไรจะเติบโตได้มากกว่าต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยบริษัทสามารถผลักดันรถเช่า และรถมือสอง ทำกำไรสูงสุดในอุตสาหกรรมสวนตลาดกระแสเศรษฐกิจซบ สู้วิกฤตหุ้นกู้และยอดขายรถมือสองตก”

พิชิต กล่าว

สำหรับกลุ่มลูกค้าของ KCAR ประกอบด้วย
- รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 15% เช่น ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 
- บริษัทเอกชน 85% โดยที่ 50% จะเป็นบริษัทเอกชนจะเป็นบริษัทชั้นนำ อาทิ ธนาคาร กสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์ และ SCG 
ด้านสัดส่วนรายได้ 59% จะมาจากรายได้ค่าเช่า อีกกว่า 39% จะมาจากรายได้ขายรถใช้แล้ว และอื่นๆ 2% และโดยรวมแล้ว 98% เป็นเช่าระยะยาว ที่เหลือประมาณ 2% เป็นลูกค้ารายย่อยที่เช่ารถรายวัน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์