‘คลัง’ หงายไพ่ เงินดิจิทัล ‘ใช้เงินกู้’

4 มกราคม 2567 - 09:36

meeting-budget-2024-digital-wallet-chulphan-take-loan-SPACEBAR-Hero.jpg
  • แหล่งที่มา ‘เงินดิจิทัลวอลเล็ต’ หนึ่งประเด็นร้อนในที่ประชุมสภา

  • เมื่อ รมช. คลัง ‘จุลพันธ์’ แจงแหล่งเงินแจก มาจาก ‘เงินกู้’

  • ส.ส.ศิริกัญญา แย้งต่อ แจงความต่างการเป็น ‘หนี้สาธารณะ-หนี้ภาครัฐ’

เมื่อ ส.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล พรรคก้าวไกล ถามถึงงบในส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ตรงส่วนไหน เป็นงบทิพย์หรือไม่ ก็มีคำตอบจากท่าน รมช.คลัง ‘จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์’ ที่ตอบเต็มคำ การกู้เงินทำโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตเหมาะสมที่สุด!

เปิดหน้าไพ่มาอีก 1 ใบ สำหรับแหล่งที่มาของเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่ขณะนี้ ที่ประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เผยให้เห็น หลังรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ‘จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์’ ชี้แจง ยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแหล่งที่มาของเงิน ‘จริง’ โดยขณะนี้ดิจิทัลวอลเล็ตจะใช้เงินกู้ ที่สามารถทำได้ ตามกลไกในการจะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านงบประมาณแผ่นดิน ย้ำว่ารัฐบาลต้องการสร้างความโปร่งใสตรวจสอบได้ ต้องการเร่งแก้วิกฤตเศรษฐกิจ และช่วยเหลือประชาชน 

ทั้งนี้ ในมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการในโครงการต่างๆ ได้ โดยมีข้อกำหนดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ต่อไปนี้
1. ฟื้นฟูหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ
2. เพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
3. ช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยหรือการก่อวินาศกรรม

จะเห็นได้ว่าการดำเนินโครงการภายใต้มาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ นั้นไม่ใช่รัฐบาลไปกู้เงินจากหน่วยงานรัฐหรือสถาบันการเงินของรัฐแต่อย่างใด แต่เป็นการบริหารจัดการภาระผูกพันระหว่างรัฐบาลและหน่วยงานรัฐกันภายใน ซึ่งเป็นหน่วยงานสาธารณะอย่างเดียวกัน ทั้งนี้รัฐบาลจะชดเชยค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยงานตามความเหมาะสม

“สาเหตุแรกที่เปลี่ยนจากงบฯ เป็น พ.ร.บ.กู้เงินที่ได้หารือไปยังกฤษฎีกา ต้องบอกว่าถ้าทุกคนตั้งเป้าประสงค์เช่นเดียวกับรัฐบาล ซึ่งในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าพรรคไหนก็ตามเวลาไปหาเสียง ก็ชี้ว่าขณะนี้สถานการณ์ประเทศไทยเปราะบางและอยู่ในภาวะที่วิกฤต คือเศรษฐกิจวิกฤต จนประชาชนลำบาก อันนี้ผมว่าตอนเลือกตั้ง เราเห็นตรงกัน มาวันนี้แต่ละคน แต่ละพรรค อาจจะเห็นแตกต่างไป อันนี้ผมรับได้”

รมช.จุลพันธ์ กล่าว

สำหรับกลไกในการจะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่านงบประมาณแผ่นดิน มีส่วนงานด้านเศรษฐกิจ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมถึงส่วนงานในกระทรวงการคลัง มีความเห็นที่รับฟังได้ คือ การใช้งบฯ เป็นแค่การเปลี่ยนมือคนใช้งบฯ ไปในการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น

“หมายความว่าเปลี่ยนจากภาครัฐ คือเงินบาทเดียวกันที่ภาครัฐใช้ เปลี่ยนให้ประชาชนเป็นคนกระตุ้นเศรษฐกิจ ฉะนั้นงบประมาณในส่วนนี้หากลงไปแล้ว การที่จะหวังผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนกลับมาอยู่ดีกินดี อาจจะคาดหวังได้ยากขึ้น กลไกที่เหมาะสม คือการสร้างแหล่งเงินใหม่ หาแหล่งเงินใหม่ สุดท้ายข้อสรุปที่ได้ตรงกัน ครม.เองก็หารือผ่านคณะกรรมการนโยบาย ก็มีข้อสรุปว่าควรมีเงินจากภายนอกเข้ามา เป็นการเติมเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการกระตุ้น”

รมช.จุลพันธ์ กล่าว

การชี้แจงดังกล่าว ก็ทำให้ ส.ส.ศิริกัญญา แย้งข้อมูล โดยชี้ผลลัพธ์ว่าเป็นการก่อหนี้ พร้อมตอกย้ำถึง ‘นิยาม’ หนี้สาธารณะ – หนี้ภาครัฐ เพื่อชวนคิดว่า อยู่ก้อนไหนกันแน่!

“ท่านจะบอกว่าเงินที่ยืมหน่วยงานรัฐแบงค์รัฐหรือ ม. 28 ไม่ใช่หนี้ได้อย่างไร ในเมื่อรัฐต้องตั้งงบจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ย! แน่นอนว่ามันไม่เข้านิยามหนี้สาธารณะ แต่มันก็คือ ‘หนี้ภาครัฐ’ ประเภทหนึ่ง เราเข้าใจว่า quasi-fiscal policy มันดีอย่างไร แต่ขอแค่วางแผนใช้หนี้ให้เค้าด้วย ตอนนี้กลายเป็นอยากจะใช้เมื่อไหร่ก็ใช้ อยากจะคืนเท่าไหร่ก็คืน จนมีหนี้ค้างจ่ายดึกดำบรรพ์มาตั้งแต่ปี 51 ถ้าข้อมูลเผยแพร่อยู่แล้ว ท่านก็เอามาโชว์เลยว่า ยอดหนี้ตอนนี้เท่าไหร่ เจ้าหนี้มีใครบ้าง ได้ข่าวว่าใช้จนชนเพดานเรียบร้อยแล้ว”

ศิริกัญญา กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์