ในที่สุด การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 หรือบอร์ดไตรภาคี (ครั้งที่ 10/2567) ก็ยังไม่สามารถจัดการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ได้ โดยนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานในที่ประชุมฯ เผยบรรยากาศค่อนข้างชื่นมื่น มีเรื่องที่เห็นชอบ 3 เรื่อง คือ
1.รับทราบการแต่งตั้งผู้แทนฝ่ายรัฐ จำนวน 2 คน คือ นายอัครุตม์ สนธยานนท์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง และเรือเอก สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน
2. รับทราบขั้นตอนวิธีการเงื่อนไขรายละเอียดและข้อกฎหมายในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ
3. การพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท
“อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตัวเลขมีหน่วยงานเสนอเข้ามากว่า 77 แห่ง ที่ประชุมทุกคนคุยกันแล้วว่าขอไปประชุมอีกครั้ง ในวันที่ 23 ธ.ค. 2567 เวลา 13.00 น. ส่วนตัวเลขก็จะดูตามภาวะเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่และความเห็นของที่ประชุมค่าจ้างขั้นต่ำเป็นหลัก ไม่มีธงตัวเลข 400 บาทหรือเท่าไหร่ อยู่ที่ความเห็นของคณะกรรมการค่าจ้าง และสภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพในพื้นที่ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะได้ในอัตรา 400 บาท เท่ากัน ต้องดูตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ แต่จะพยายามให้ทันเป็นของขวัญปีใหม่ประชาชน และความอยู่ได้ของทุกฝ่าย ทั้งลูกจ้าง นายจ้าง”
นายบุญสงค์ กล่าว
ด้านนายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้าง ฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า ทุกๆ ปี ฝ่ายนายจ้างยินดีที่จะให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ให้เป็นไปตามครรลอง ปรับตามรอบอย่างที่ควรจะเป็น ไม่เคยคัดค้านที่จะปรับ แต่จะปรับเป็นตัวเลขเท่าไหร่ต้องดูสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัด
ขณะที่ นายวีรสุข แก้วบุญปัน กรรมการค่าจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ข้อมูลตัวเลขจากที่แต่ละจังหวัดเสนอมาในชั้นของอนุกรรมการฯ เป็นข้อมูลตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ขณะนี้มีความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง ที่เราจะต้องมีการพิจารณาใหม่ เพราะฉะนั้น ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างมีความเห็นว่าเราควรจะนำตัวเลขที่มีอยู่มาหารือกันเพื่อความรอบคอบอีกทีในวันที่ 23 ธันวาคม 2567 อาจจะเป็นตัวเลขเดิมหรือมีการปรับลดหรือเพิ่มต้องดูกันอีกที
“ส่วนตัวเลข 400 บาทก็ยังคงเป็นความหวังของฝ่ายลูกจ้าง แต่ตัวเลขจะออกมาเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับบอร์ดไตรภาคีที่จะพิจารณา ฝ่ายลูกจ้างอยากได้ ฝ่ายรัฐอยากให้ แต่ฝ่ายนายจ้างก็ต้องอยู่ได้ด้วย”
นายวีรสุข กล่าว
