OPPO รีบลบแล้ว! แอปฯเงินกู้ ตาม กสทช.สั่ง

14 ม.ค. 2568 - 02:42

  • OPPO น้อมรับคำสั่ง กสทช. ขีดเส้นลบแอปฯ กู้เงิน 16 ม.ค.นี้

  • เร่งออกแถลงการณ์อีกฉบับ ยุติติดตั้งแอปฯ ล่วงหน้าของแอปฯ สินเชื่อฯ ในอุปกรณ์ของ OPPO แล้ว ตั้งแต่ 14 ม.ค. 68

  • สภาผู้บริโภคเรียกร้องภาครัฐที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการละเมิดกฎหมาย

oppo-deletes-loan-application-fineasy-nbtc-telephone-SPACEBAR-Hero.jpg

ทันทีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กสทช. หลัง กสทช. รับทราบปัญหา มีการติดตั้งแอปพลิเคชันกู้เงินติดอยู่ในโทรศัพท์มือถือ 2 แบรนด์ คือ OPPO และ REALME สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจให้ผู้ใช้เป็นอย่างมาก ก็ได้เชิญ บริษัท โพสเซฟี่ กรุ๊ป จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ OPPO และ บริษัท โปรทา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ Realme (เรียลมี) มาพูดคุย ก่อนจะยื่นคำขาดให้ลบแอปฯ เงินกู้ ที่ถูกติดตั้งมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการในรูปแบบ System App ภายในวันที่ 16 มกราคม 2568 นั้น OPPO ออกแถลงการณ์ขออภัยอีกครั้ง โดยเนื้อหาระบุ... 

OPPO ขออภัยอย่างยิ่งต่อความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้งานบางแอปพลิเคชันในช่วงที่ผ่านมา เราให้ความร่วมมือและทำงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ดำเนินการทันทีดังนี้:

ในช่วงเย็นวันที่ 13 มกราคม 2568 แอปพลิเคชัน Fineasy ได้ออกประกาศภายในแอปฯ เพื่อระงับการให้บริการแล้วเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2568 เป็นต้นไป โทรศัพท์ใหม่ที่ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาการติดตั้งแอป Fineasy ล่วงหน้าจะไม่ถูกจำหน่ายอีกต่อไป

ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนจะได้รับการอัปเดต OTA (Over-the-Air) ซึ่งเป็นเวอร์ชันระบบใหม่ที่ไม่มีการติดตั้งแอปฯ Fineasy อีกต่อไป

ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคมเป็นต้นไป จะหยุดการติดตั้งแอปฯ ล่วงหน้าของแอปฯ สินเชื่อของบุคคลที่สามทั้งหมดในอุปกรณ์ของ OPPO

ทั้งนี้ OPPO มุ่งมั่นที่จะพัฒนาและปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานที่ดีเยี่ยมเพื่อผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง และยินดีให้ความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภค เราขอขอบคุณความไว้วางใจและการสนับสนุนจากผู้ใช้งานทุกท่านเป็นอย่างดีเสมอมา

oppo-deletes-loan-application-fineasy-nbtc-telephone-SPACEBAR-Photo V01.jpg

สภาผู้บริโภคให้เอาผิดตามกฎหมาย

ทางด้านสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้เสนอแนวทางคุ้มครองผู้บริโภค และขอให้หน่วยงานรัฐเร่งดำเนินการ เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบเบื้องต้น 6 ประเด็น

1. สภาผู้บริโภคเสนอแนะให้บริโภคคืนเงินต้นแล้วปิดหนี้ ยกเลิกการเป็นหนี้สิน ส่วนผู้บริโภคใครจ่ายเงินเกิน เช่น มีผู้ร้องเรียนกู้เงิน 80,000 บาท จ่ายเงินไป 700,000 บาท สามารถฟ้องร้องเรียกเงินคืน ตามกฎหมาย สภาผู้บริโภคพร้อมฟ้องคดีกลุ่มให้คืนเงินกับผู้เสียหายทุกราย ผ่านแจ้งสายด่วน  1502 ขอให้บริษัท OPPO และ Realme เปิดเผยบริษัทที่ให้บริการเงินกู้โดยด่วนเพื่อรับผิดชอบเรื่องนี้

2. สินเชื่อความสุข และ Fineasy เป็นที่ชัดเจนว่า ไม่ได้รับอนุญาตจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ยังไม่มีคำตอบว่า ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังหรือไม่ โดยสามารถให้กู้ยืมได้แต่ต้องคิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 หากได้รับอนุญาตสามารถคิดดอกเบี้ยได้ร้อยละ 25 หรือสูงสุดถึง ร้อยละ 36 ซึ่งขอให้กระทรวงการคลัง แจ้งว่าเป็นสินเชื่อออนไลน์ที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ และมีความผิดเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราหรือไม่ 

3. มือถือ oppo และ realme เข้าข่ายละเมิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนหรือไม่ สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ต้องดำเนินการตรวจสอบและเปรียบเทียบปรับทางปกครองกับบริษัทโดยด่วน ผู้เสียหาย ประชาชนผู้บริโภคสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้

4. กสทช. ขอให้หยุดจำหน่ายมือถือรุ่นที่เป็นปัญหา 3 วัน แต่กสทช.ดูเรื่องความปลอดภัยซึ่งต้องตอบคำถามว่า เข้าข่ายเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลสิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม พ.ศ.2566 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น หน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต ตาม ข้อ 14 ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันและรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการทั้งทางด้านเทคนิคและการจัดการภายในองค์กรในรูปแบบที่เหมาะสม

5. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคต้องเปรียบเทียบปรับ การปล่อยกู้ออนไลน์ที่ไม่ได้มีการส่งมอบคู่สัญญาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 2522 กรณีละ 2 แสนบาทตามกฎหมาย

6. สินเชื่อความสุขและFineasy น่าจะเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ ที่ผิดกฎหมายเพราะติดตามหนี้กับญาติ หรือเพื่อน ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย กระทรวงมหาดไทยต้องเข้ามาจัดการตามกฎหมาย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์