สมาคมธนาคารไทย ช่วยลูกหนี้เปราะบาง แก้หนี้ยั่งยืน

30 มกราคม 2567 - 06:42

tab-responsible-lending-loan-bank-SPACEBAR-Hero.jpg
  • สมาคมธนาคารไทย ตอกย้ำ ช่วยกลุ่มเปราะบางแก้หนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ต่อเนื่อง

  • ตอกย้ำ ทั้งมาตรการดูแลลูกหนี้ที่มีอยู่เดิม และมาตรการเพิ่มเติมที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา

  • กลยุทธ์ปี 2567 ดูแลลูกหนี้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ให้ความสำคัญกับช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน โดยภาคธนาคารตระหนักถึงปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ความมั่นคงและการเติบโตของเศรษฐกิจ จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีอยู่เดิม และมาตรการเพิ่มเติมที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา 

สำหรับปี 2567 จะเป็นการดูแลลูกหนี้สอดรับกับการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลลูกหนี้ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ และการแก้ไขปัญหาหนี้ ภายใต้ความร่วมมือของสมาคมธนาคารไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมี  3 แนวทางมาตรฐาน คือ

1. ช่วยลูกหนี้ต่อเนื่องด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยจะเสนอแนวทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาชำระหนี้แต่ยังไม่เป็น NPL อย่างน้อย 1 ครั้ง ลูกหนี้ที่มีปัญหาชำระหนี้ที่เป็น NPL อย่างน้อย 1 ครั้ง โดยลูกหนี้ไม่ถูกโอนขายหนี้ก่อนครบกำหนด 60 วัน นับจากวันที่เสนอเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้

2. ช่วยลูกหนี้เรื้อรังกลุ่มเปราะบาง ให้สามารถปิดจบหนี้ได้ โดยลูกหนี้เรื้อรังกลุ่มเปราะบาง จะได้รับความช่วยเหลือให้ปิดจบหนี้ได้เร็วยิ่งขึ้น ภายใน 5 ปี และลดภาระดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้น ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี 

3. คุ้มครองสิทธิลูกหนี้ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น ไม่คิดค่าปรับไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลทุกประเภท ยกเว้นกรณีรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้านในช่วงเวลา 3 ปีแรก และค่าธรรมเนียมอื่นที่ไม่เป็นไปตามระเบียบของธปท. ลูกหนี้จะได้รับข้อมูลสำคัญถูกต้องครบถ้วนและเปรียบเทียบได้  ผ่านสื่อโฆษณา การเสนอขายและการแก้หนี้ รวมถึงไม่คิดดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่ให้แก่ลูกหนี้รายย่อย (รวมบัญชีเดินสะพัดของสินเชื่อวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี)

ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ลูกหนี้ก็จำเป็นต้องปรับตัว ต่อไปนี้
- มีวินัยทางการเงินเพิ่มขึ้น โดยธนาคารให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนทุกระดับ
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ เช่น ไม่ใช้วงเงินสินเชื่อหมุนเวียนไปกับการบริโภคที่ไม่จำเป็นและเกินกำลังจนไม่สามารถปิดจบหนี้ในแต่ละรอบงวดได้ เป็นต้น 
- เข้าใจถึงความสำคัญของข้อมูลเครดิต และนำไปปฏิบัติ ก่อให้เกิดพฤติกรรมทางการเงินที่ดี 
- สร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน เป็นเกราะป้องกันภัยทางการเงินที่มาในทุกรูปแบบ และนำสู่การวางแผนทางการเงิน เพื่อความมั่นคงในระยะยาว

tab-responsible-lending-loan-bank-SPACEBAR-Photo01.jpg

ที่ผ่านมา ภาคธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และปรับเป็นมาตรการช่วยเหลือแบบเฉพาะจุดหลังสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น โดยยึดหลักการช่วยเหลืออย่างครบวงจรและยั่งยืน ถึง ณ ปัจจุบัน ยังมียอดภาระหนี้ที่ธนาคารและสถาบันการเงินให้ความช่วยเหลืออีกกว่า 3.4 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า 6.1 ล้านบัญชี

สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ยังให้ความสำคัญในการผลักดันการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างจากการที่ไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพหรืออาจมีศักยภาพลดลง ทั้งยังก่อให้เกิดการเข้าไม่ถึงสินเชื่อและมีความเหลื่อมล้ำสูง นำไปสู่การพึ่งพาหนี้นอกระบบที่ราคาแพง 

ดังนั้น การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต้องแก้ด้วยการดึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้ามาในระบบให้มากที่สุด ส่งเสริมการแข่งขันแบบเสรีไม่ผูกขาด บนพื้นฐานของการมีข้อมูลและความโปร่งใสและกฎกติกาที่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ให้บริการสินเชื่อทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร non-bank สหกรณ์ โดยเร่งผลักดันการปฏิรูปข้อมูลหนี้ทั้งในและนอกระบบ สร้างฐานข้อมูลที่ครบถ้วนและเชื่อถือได้มากขึ้นโดยให้สหกรณ์เข้าสู่ระบบข้อมูลเครดิตแห่งชาติให้ครบถ้วน รวมถึงการนำข้อมูลทางเลือกอื่นๆ มาใช้ 

ซึ่งภาคธนาคารหวังว่า จะทำให้สามารถประเมินศักยภาพของผู้ประกอบอาชีพอิสระและพ่อค้าแม่ค้าได้ดียิ่งขึ้นทั้งในด้านความสามารถหรือความตั้งใจในการชำระหนี้ จากที่ผ่านมามักถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อจากผู้ให้บริการในระบบแม้ขอกู้เงินในวงเงินไม่มาก เนื่องจากไม่มีข้อมูลแสดงรายได้ ไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีหลักประกัน ไม่มีข้อมูลประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น เพื่อนำไปใช้ในการประเมินรายได้ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับกำลังในการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์