สหภาพแรงงานการบินไทย ‘ชักธงรบ’ ผนึกกำลังร่วมกับ กลุ่มอดีตพนักงานการบินไทย ชมรมคนรักการบินไทย ต้านภาครัฐส่งตัวแทนเข้า ‘ครอบงำ’ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ
ในช่วงเช้าวันนี้ 8 พฤศจิกายน ที่หน้าอาคารสำนักงานใหญ่ของการบินไทย ห้าแยกลาดพร้าว มีการนัดหมายระดมพล อดีตพนักงานการบินไทย และ ชมรมคนรักการบินไทย และประชาชนผู้หวงแหนสมบัติชาติซึ่งจะพร้อมใจกันใส่เสื้อสีม่วง
สีของสายการบินแห่งชาติที่เป็นความภาคภูมิใจ
เพื่อไปแสดงพลังในการ**‘คัดค้าน’**ความพยายามกลับเข้าไป ‘แทรกแซง’ การบริหารงานของการบินไทย โดยล่าสุดกลุ่มสหภาพแรงงานการบินไทยเป็นอีกกลุ่มที่ประกาศจะเข้าร่วมและมีการออกแถลงการณ์คัดค้าน
ในแถลงการณ์ล่าสุดของสหภาพแรงงานการบินไทย เรียกร้องให้ หยุด!!! ทำลายสายการบินแห่งชาติ พร้อมกับแสดงจุดยืน ‘คัดค้าน’ การส่งผู้แทนภาครัฐ 2 คน จากกระทรวงการคลังและคมนาคม เพิ่มเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ
เรียกร้องให้ ‘เพิ่มตัวแทน’ จากพนักงานการบินไทย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจการบิน และสะสมประสบการณ์มายาวนานกว่า 60 ปี ให้เข้าไปเป็น ‘ผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ’ แทน เพี่อใช้ความรู้ความสามารถโดยอิสระปราศจากการแทรกแซง และแสวงหาผลประโยชน์จากฝ่ายการเมืองเหมือนในอดีต
ในแถลงการณ์ของสหภาพแรงงานการบินไทยระบุว่า ที่ผ่านมา บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ต้องประสบปัญหาขาดสภาพคล่องต่อเนื่องมาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี จนต้องเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ตั้งแต่ปี 2563
โดยจากความร่วมมือร่วมใจ และความสามัคคีของผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และพนักงานทุกคนทุกระดับ อดทน มุ่งมั่น ฟันฝ่ากับปัญหาอุปสรรคนานประการ จนสามารถพลิกวิกฤตจากการขาดทุนกลับมามีกำไรได้ตามแผน
ปัญหาที่การบินไทยต้องเผชิญขาดสภาพคล่อง และขาดทุนนับแสนล้านบาท เกิดจากปัญหาที่ ‘ถูกแทรกแซง’ แต่งตั้งผู้บริหารตามใบสั่งนักการเมือง เพื่อเข้าไปกำหนดนโยบายที่ไม่เอื้อประโยชน์ให้การบินไทยแข่งขันกับสายการบินคู่แข่ง รวมทั้งมีการทุจริตในการจัดซื้อเครื่องบิน
การขาดทุนจากการแสวงหาผลประโยชน์ผ่านตัวแทนของนักการเมือง ทำให้การบินไทยต้องแบกภาระการขาดทุน จนต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ พ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ นำมาสู่การเลิกจ้างพนักงานกว่าหมื่นคน
ที่สำคัญเกียรติภูมิของสายการบินแห่งชาติที่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยมากว่า 60 ปี ถูกทำลายลงอย่างย่อยยับ เพราะ ‘การเมืองทุจริต’
จนถึงวันนี้กว่า 4 ปี ที่ผู้บริหารแผน 3 คน ร่วมกับพนักงานการบินไทยทุกระดับร่วมกันฟื้นฟูกิจการจน คาดว่าจะสามารถ ‘ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ’ ได้ในปี 2568 โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวแทนจากภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ
จากบทเรียนในอดีต ทำให้สหภาพแรงงานการบินไทยไม่อาจยอมรับการที่ฝ่ายการเมืองจะส่งตัวแทนจากภาครัฐทั้งจากกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคมเข้ามาเพิ่มอีก 2 คน เพราะจะทำให้มีตัวแทนจากภาครัฐเพิ่มเป็น 3 คน ซึ่งจะกลายเป็นเสียงข้างมากที่มีอำนาจบริหาร และสามารถเปลี่ยนแปลงแผนงานและนโยบาย ทั้งๆที่ผ่านมาการดำเนินงานเป็นไปด้วยดี และไม่มี ปัญหาการทุจริต
เพราะเหตุนี้สหภาพแรงงานการบินไทย จึงคัดค้านความพยายามดังกล่าวของภาครัฐ และพร้อมที่จะเคลื่อนไหวร่วมกับ กลุ่มอดีตพนักงานการบินไทย และกลุ่มคนรักการบินไทย

