ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมคณะกรรมการสายงานเกษตรและอาหาร เข้าหารือกับ อิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อผลักดันแนวทางความร่วมมือในการยกระดับศักยภาพภาคเกษตรไทย และแก้ไขปัญหาเร่งด่วนด้านการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร ท่ามกลางความท้าทายจากสงครามการค้าและกฎระเบียบระหว่างประเทศที่เข้มงวดขึ้น
ดร.พจน์ระบุว่า ภาคเกษตรและอาหารเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทย ทั้งในด้านรายได้และการจ้างงาน จึงจำเป็นต้องเร่งปรับกลยุทธ์ให้ทันต่อสถานการณ์โลก พร้อมเสนอแนวทางในนโยบาย ‘Unlocking New Growth’ ที่เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่าน 5 ห่วงโซ่หลัก โดยเฉพาะภาคเกษตรและอาหารที่มีศักยภาพสูงในการเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นฐานสำคัญในการยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นครัวของโลก

8 ประเด็นข้อเสนอเร่งด่วนของหอการค้าไทย
ทั้งนี้ หอการค้าไทย ได้เสนอประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะเร่งด่วนของธุรกิจเกษตรและอาหารต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาภาคเกษตรภายในประเทศและการส่งออกสินค้าเกษตร ไปต่างประเทศ ดังนี้
1. จัดตั้ง Global Trade Task Force : เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคเกษตร รองรับความผันผวนของสงครามการค้า โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ เช่น เสนอให้ยกเว้นภาษีทูน่ากระป๋อง และลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี พร้อมส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อแปรรูปเป็นสินค้ามูลค่าสูงเพื่อการส่งออก
2. ตั้ง ‘Team Thailand’ แก้ปัญหาทุเรียนส่งออกจีน : เพื่อบูรณาการหน่วยงานรัฐในการเร่งเจรจากับจีนเรื่องข้อจำกัดใหม่ เช่น การตรวจสาร Basic Yellow 2 ที่อาจกระทบทั้งห่วงโซ่อุปทาน พร้อมทั้งเสนอเพิ่มเครื่องมือ-เจ้าหน้าที่ตรวจด่านเพื่อรองรับฤดูกาลผลไม้
3. ควบคุมเข้มสารคลอร์ไพริฟอสในข้าวส่งออก : เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือและมาตรฐานการส่งออกข้าวไทย หลีกเลี่ยงข้อกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศ
4. ลดอุปสรรคทางกฎหมาย-กฎระเบียบภายในประเทศ : เช่น ค่าธรรมเนียมตามร่าง พ.ร.บ.การประมง และ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ ที่อาจขัดพันธกรณีระหว่างประเทศ และกระทบต่อการส่งออกสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์
5. เร่งรัดเจรจากับรัสเซียกรณีระงับนำเข้าสินค้าประมงไทย : โดยให้กรมประมงและกรมปศุสัตว์ประสานงานกับหน่วยงาน FSVPS ของรัสเซีย เพื่อฟื้นฟูตลาดส่งออก
6. แก้ปัญหาวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแช่เยือกแข็ง : ทั้งด้านการเลี้ยงสัตว์น้ำและการจับจากแหล่งธรรมชาติ พร้อมสนับสนุนเทคโนโลยีตรวจสอบย้อนกลับและควบคุมมาตรฐานผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่
7. ส่งเสริมอาหารแห่งอนาคต (Future Food) : โดยเฉพาะการพัฒนา ‘ผำ’ (Microalgae) เป็นสินค้าที่มีศักยภาพสูง เสนอสนับสนุนห้องปฏิบัติการตรวจโปรตีนและการตลาดแบรนด์ “ผำฉะ” สู่ตลาดโลก
8. ขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตร (AFC) : ขอให้กระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนการจัดตั้ง AFC ทุกจังหวัด เพื่อบริหารจัดการปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำอย่างมีระบบ
ดร.พจน์ ยังชี้ ข้อเสนอเหล่านี้เป็นผลจากการรวบรวมความเห็นจากสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศ และเป็นโอกาสดีที่รัฐมนตรีช่วยฯ ได้ร่วมรับฟังอย่างใกล้ชิด โดยกระทรวงเกษตรฯ เตรียมตั้ง “คณะกรรมการความร่วมมือภาครัฐและเอกชนด้านเกษตรและอาหาร (กรอ.กษ)” เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาร่วมกันในเชิงนโยบายและปฏิบัติ
