ผลการเลือกสว.ชุดพิสดาร ยังเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ที่พูดถึงกันในหลายวงสนทนา พอๆ กับที่พูดถึงความร้อนแรง MV ชุดใหม่ของน้องลิซ่า ซูเปอร์สตาร์พันธุ์ไทย
เพราะคาดไม่ถึงว่าโฉมหน้าสภาสูงชุดใหม่ของไทย จะมีหน้าตาออกมาเป็นแบบนี้ ทั้งๆ ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ชุด ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ ซุ่มออกแบบกันอยู่นาน โดยมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ร่วมกลั่นกรอง จัดทำกฎหมายลูกอีกหลายฉบับ ภายใต้ใบสั่ง 20 ข้อ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ณ เวลานั้น
แต่ค่ายกลเจ็ดดาวของกรธ.กลับถูกฝ่ายการเมืองตีโจทย์แตกในเวลาชั่วข้ามคืน
จึงได้เห็นความหลากหลายของคนที่มาเป็นสว.มากกว่า 20 อาชีพ ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านขนมครก
‘สื่อผี’ ที่คนในแวดวงสื่อใช้เรียกผู้ไปปรากฎตัวตามงานแถลงข่าวต่างๆ แบบไม่มีสังกัดในอดีต หรือแม้แต่ ‘สารถี’ เก่าของนักการเมือง ที่รู้จักกันดีในแวดวงเหล่าพลขับผู้ทรงเกียรติด้วยกันว่า เขาคือ ‘เจ้ามือวงไฮโล’ ในระหว่างนั่งฆ่าเวลารอเจ้านายประชุม
ไม่นับกองทัพ อสม.ที่พร้อมใจกันมายื่นใบสมัครสว.และอีกหลากหลายอาชีพ ที่พกพาดีกรีการศึกษาระดับ ป.7 เข้ามาสมัครในหลายกลุ่มแบบไม่ตรงปก
ในเมื่อจัดวางสถานะของวุฒิสภาให้เป็นสภาผู้ทรงคุณวุฒิ คอยทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย รวมทั้ง รับรองแต่งตั้งผู้จะเข้ามาทำหน้าที่ในองค์กรอิสระทั้งหลาย ดังนั้น ผู้เข้ามาทำหน้าที่สว.ก็ต้องมี ‘วุฒิภาวะ’ และมีความรู้ในระดับหนึ่ง
ไม่ใช่เอาใครก็ได้ที่อยู่ในอาณัติของฝ่ายการเมืองมานั่งเป็นสภาฝักถั่วพันธุ์ใหม่
‘ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์’ หนึ่งในอดีตกรธ.สารภาพแบบสุภาพๆ ไม่ถึงขั้น ‘ตำหนิ’ ผู้ผ่านการได้รับเลือกเข้ามาชนิดเหมาเข่งเสียทีเดียว เพียงแต่บอกว่า
‘ไม่ตรงใจ และเกินความคาดหมาย’
เพราะมีคนของฝ่ายการเมืองเข้ามาเป็นจำนวนมาก ผิดจากเจตนารมณ์ที่ได้ออกแบบไว้ ต้องการให้วุฒิสภา เป็นสภาของผู้ทรงคุณวุฒิ ‘ปลอดการแทรกแซง ครอบงำ’ จากฝ่ายการเมือง แต่พอผลออกมาผิดฝา ผิดตัว จึงเสมือนกับไปสร้างกติกาสนับสนุน เปิดทางให้ฝ่ายการเมืองเข้ามายึดสภาสูงเสียเอง
ส่วนปัญหา ‘การฮั้ว’ ดร.อมร ยอมรับว่า ไม่ได้เขียนกฎหมายกำกับไว้ก็จริง แต่ในระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญ ‘แสวง บุญมี’ ที่เป็นตัวแทนจาก กกต.ซึ่งเวลานั้นยังไม่ได้ขึ้นเป็นเลขาธิการ ยืนยันหนักแน่น ‘ไม่มีปัญหาในการกำกับดูแล’ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของ กกต.จะกำกับดูแลให้เกิดความเรียบร้อย ไม่ให้มีปัญหาเกิดขึ้น
เช่นเดียวกับผู้สมัคร ที่มาจากกลุ่มอาชีพต่างๆ เดิมจะให้มีมากถึง 30 กลุ่มด้วยซ้ำ สุดท้ายปรับลดเหลือ 20 กลุ่ม แต่ก็ยังเกิดปัญหาขึ้น ‘เพราะขาดการตรวจสอบ กลั่นกรอง’ นั่นเอง
ดร.อมร ย้ำว่า แม้ระบบไม่สามารถคัดกรองได้ 100% ก็ตาม แต่คาดไม่ถึงผลจะออกมาเป็นแบบนี้ และเชื่อว่าอดีตประธาน กรธ. มีชัย ฤชุพันธุ์ ก็คง ‘คาดไม่ถึง’ ด้วยเช่นกัน
สุดท้าย ดร.อมร ให้ความเห็นเอาไว้หากยังต้องมีสว.มาจากกติกาเดิม คงต้องเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์ เป็นบทเรียน ทบทวนกติกากันใหม่ เช่น ค่าสมัคร ที่เดิมจะเปิดฟรีไม่ต้องมี แต่เพื่อไม่ให้เป็นภาระในการตรวจสอบมากเกินไป จึงต้องมีการกำหนดค่าสมัครไว้ ซึ่งในอนาคตอาจให้เหลือแค่หลักร้อย เพื่อไม่ให้สูงเกินไป
หรือการไม่ให้เลือกตัวเองในรอบไขว้ ก็ต้องมาทบทวน ต้องไม่บีบบังคับไม่ให้เลือกตัวเอง เพราะต้องคิดว่าผู้ที่มาสมัครทุกคน เข้ามาเพื่อ ‘ต้องการเป็นสว.’ ไม่ใช่ให้มาเลือกคนอื่นเข้าไปเป็นสว.เท่านั้น
ส่วนการจะแก้ไม่แก้กติกาอย่างไร ดร.อมร ให้เป็นหน้าที่ของสว.หรือรัฐสภา ที่จะร่วมกันพิจารณาต่อจากนี้
ทั้งหมดที่ว่ามา แม้จะมีเพียงคำว่า ‘ไม่ตรงใจ เกินความคาดหมาย’ พร้อมกับตั้งคำถามถึงกกต.ที่ไม่สามารถกำกับดูแลไม่ให้เกิดการฮั้ว อย่างที่รับปากไว้ รวมทั้ง ยังขาดการกลั่นกรอง แต่รวมความทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้ว
เท่ากับเป็นความผิดหวังของอดีตกรธ.ที่ได้เห็นการเลือกสว.ผลออกมาเป็นแบบนี้
แต่หากตีกรอบภารกิจสว.ชุดบ้านใหญ่ ไว้ที่การถ่วงดุลสงครามสี ให้มาทำหน้าที่สภาฝักถั่วพันธุ์ใหม่ ก็น่าจะอยู่ในระดับที่พอรับได้อยู่กระมัง