คนในแวดวงเศรษฐกิจทั้งในฝั่งตลาดเงินและตลาดทุนกำลังเฝ้าจับตามองการพบกับ ของขุนคลังป้ายแดง พิชัย ชุณหวชิร ที่นัดหมายผู้ว่าแบงก์ชาติ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เข้ามาพบที่กระทรวงการคลังในวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคมนี้
เพื่อหารือถึงแนวนโยบายในการดูแลเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะมีมุมมองที่แตกต่างกัน และกลายเป็นตัว ‘ฉุดรั้ง’ เศรษฐกิจไทย ให้ตกอยู่ในสภาวะอึมครึม จนทำให้เศรษฐกิจไทยตกอยู่ในสภาวะ กบที่โดยต้มอยู่ในหม้อน้ำที่ใกล้จะเดือดกลายเป็น ‘กบต้มสุก’ เข้าไปทุกขณะ
จากเดิมที่รัฐบาลของนายกฯเศรษฐาผ้าขาวม้าหลากสีต้องการใช้ทั้งนโยบายการคลังที่และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ GDP เติบโต โดยการงัด ‘นโยบายประชานิยม’ เต็มสูบอัดฉัดเม็ดเงินแบบหว่านแหให้กับคนไทย 50 ล้านคน ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะต้องใช้เม็ดเงินสูงถึง 5 แสนล้านบาท และยังต้องการจะให้มีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายโดย อยากให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.25% เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคและลงทุน
แนวคิดดังกล่าวสวนทางกับแบงก์ชาติที่ยังคงเน้นในเรื่องของเสถียรภาพด้านราคา เพราะเป็นห่วงจะทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น และอยากเห็นรัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเปราะบางซึ่งจะใช้เม็ดเงินน้อยกว่า
โดยมองว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการเร่งในการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเริ่มไล่ตามไม่ทันพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของโลกจนทำให้เศรษฐกิจไทยสูญเสียความสามารถในการอแข่งขัน จึงยังค่อนข้างระมัดระวังและยังไม่ต้องการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างที่รัฐบาลต้องการ
คงปฎิเสธไม่ได้ว่าผลจากความขัดแย้ง และรัฐบาลเป็นฝ่ายเปิดศึกกับกดดันแบงก์ชาติผ่านสื่อเป็นระยะๆมีส่วนทำให้กลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเกิดอาการชะงักงัน และเริ่มอ่อนแรงลงเรื่อยๆ
จนสถานการณ์ในขณะนี้เริ่มปรากฏสัญญาณไม่ได้หลายอย่าง สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงตัวเลข**‘หนี้สินครัวเรือน’** ของไทยที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงถึง 16.36 ล้านล้านบาท หรือ 91.3% ของขนาด GDP มูลค่า 17.9 ล้านล้านบาทของไทย
จากตัวเลขดังกล่าวหาไปดูในไส้ใน มีสัญญาณที่ส่อเค้าไม่สู้ดีที่ชัดเจน คือ เศรษฐกิจเริ่มมีอาการชะลอตัวลงค่อนข้างแรงเห็นได้จากยอดสินเชื่อที่หดตัวลง ขณะเดียวกันตัวเลขหนี้เสีย NPL และหนี้กำลังจะเสีย SM-Special Mentions ก็เริ่มเร่งตัวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหนี้ที่มีการกู้ไปกินไปใช้หรือสินเชื่อเพื่อการบริโภคที่คิดเป็นสัดส่วนถึงราว 28% หรือกว่า ¼ ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด และกำลังจะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่จะฉุดให้เศรษฐกิจไทยมีปัญหาทุดหนักลงเรื่อยๆ
ข้อมูลจากเครดิตบูโรเปิดเผยในส่วนของ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในฐานระบบจำนวน 13.6 ล้านล้านบาท พบว่า
ยอดสินเชื่อในภาพรวมในไตรมาสแรกของปีนี้ (มกราคม-มีนาคม 2567) เติบโตเพียง 2.9% จากปีที่แล้ว โดยสินเชื่อในส่วนของการกู้เพื่อประกอบธุรกิจหดตัวลงเกือบหมด ทั้งสินเชื่อเพื่อการเกษตร ลดลงถึง -8.3% สินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจ -5.7 สินเชื่อจากการเบิกเงินเกินบัญชี หรือ OD -5%และสินเชื่อรถยนต์ -1.5%
ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ที่มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยดูจากศักยภาพของการหารายได้ว่ามีความมั่นคง เพียงพอ และสม่ำเสมอหรือไม่ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด
ประกอบกับเม็ดเงินจากงบประมาณภาครัฐ ในปี 2567 โดยเฉพาะ ‘งบลงทุน’ ก็ถูกรัฐบาลดึงเอาไว้ไม่ต่ำกว่า1.75 แสนล้านบาท เพราะต้องการจะนำไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อสมทบกับงบปี 2568 จำนวน1.527 แสนล้านบาท และงบจาก ธ.ก.ส. อีกราว 1.723 แสนล้านบาท เพื่อให้ได้รวมกันถึง 5 แสนล้านบาท ซึ่งอาจจะต้องร้องเพลงรอไปถึงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ หรือต้นปีหน้า
ขณะเดียวกัน เมื่อหันไปดูยอดของการปล่อยสินเชื่อเพื่อการบริโภคกลับพบตัวเลขที่หดตัวลง เพราะแบงก์เริ่มเข้มงวดเรื่องการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากตัวเลขที่น่าเป็นห่วงจากหนี้เสียที่มีแนวโน้มจะเร่งตัวมากขึ้นในทุกประเภท
ปัจจุบันหนี้เสียที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วมีรวมกันสูงถึง 1.07ล้านล้านบาท หรือราว 7.9% และยังมีหนี้เสีย NPLs ที่ขาดชำระเกิน 90 วัน มียอดสะสมสูงถึง 1.09 ล้านล้านบาท หรือราว 8% ของยอดหนี้ในระบบเครดิตบูโร ในขณะที่หนี้ที่กำลังจะเสีย คือค้างชำระ แต่ยังไม่เกิน 90 วัน ก็เร่งตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูงถึง 6.4 แสนล้านบาท
หนี้เสีย NPLs จำนวน 1.09 ล้านล้านบาทดังกล่าว เพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขสองหลักคือ 14.9% จากปีที่แล้ว โดยมีพระเอกคือ ‘หนี้รถยนต์’ 2.38 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 32% หนี้บ้าน 1.99 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น18% ‘หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล’ 2.63 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.9% และ ‘หนี้บัตรเครดิต’ 6.37 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.6%
ขณะที่หนี้ที่กำลังจะเสีย เริ่มมีอาการไม่สู้ดีชำระแบบตะกุกตะกัก ก็มีแนวโน้มจะเร่งตัวขึ้น ทั้งหนี้บ้าน และหนี้รถ ที่เพิ่มขึ้น 15% และ 7% ตามลำดับ แต่ที่อาการหนักกว่านั้นคือ หนี้บัตรเครดิตที่เริ่มขาดการชำระหลังจากมีการเพิ่มอัตราการจ่ายขั้นต่ำจากเดิม 5% เป็น 8% ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ที่เพิ่มขึ้นถึง 32.4 % ซึ่งหากมองภาพรวม หนี้ที่เริ่มมีปัญหาเร่งขึ้นถึง 7.3% หรือราว 6.44 แสนล้านบาท
สรุปง่ายๆ ตอนนี้คนไทยส่วนใหญ่อยู่ในอาการ ‘ชักหน้าไม่ถึงหลัง’ รายได้ไม่ฟื้น หมุนเงินไม่ออก กู้เพิ่มก็ไม่ได้ หมดปัญหาจ่ายหนี้ กำลังตกลงไปในหลุมดำ ของกับดักหนี้อีกรอบ
คงได้แต่หวังว่า การพบเจอกันของ รมว.คลังพิชัย กับผู้ว่าฯเศรษฐพุฒิ ในคราวนี้ ทั้งสองฝ่ายจะยอมปล่อยวาง ‘ทิฐิ’ หรือ ‘อคติ’ ทางความคิด เลิกเปิดศึกเพื่อเอาชนะกันทางความคิดเสียที เพราะสถานการณ์มันน่าจะเลยจุดนั้นมามากแล้ว เพราะหากยังมัวแต่ทะเลาะกัน ระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่เริ่มนับถอยหลังไปแล้วคง ‘ปลด’ชนวนไม่ทัน และระเบิดตายหมู่กันทั้งประเทศ...