เอกชนลุกขึ้นสู้ ไม่ยอมเป็นเหยื่อค่าแรงขั้นต่ำ

8 พ.ค. 2567 - 10:32

  • ปัญหาของการขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ

  • พรรคเพื่อไทยประกาศตอนหาเสียงแบบไม่คิดบนพื้นฐานความเป็นจริง

  • ภาคเอกชนรวมตัวกันค้าน ไม่ตกเป็นเหยื่อเหมือนที่ผ่านมา

economy-thai-industrial-plant-SPACEBAR-Hero.jpg

เป็นนายจ้าง เจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดย่อม ต้องเผชิญปัญหาสารพัดทั้งเศรษฐกิจซบเซา กำลังซื้อหดหายผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าออนไลน์ ถูกสินค้าจีนทุ่มตลาดตัดราคา ฯลฯ

ยุคนี้นายจ้าง เจ้าของธุรกิจมีภาระหนักหนาเพิ่มขึ้นคือกลายเป็นเหยื่อการหาเสียงเรื่อง ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ ของนักการเมือง คือ นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400  บาททั่วประเทศทุกอาชีพตามที่พรรคการเมืองได้หาเสียงไว้  **‘ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าทำไม่ได้’**เพราะจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม พ่อค้า แม่ค้ารายย่อยแต่ในฤดูกาลเลือกตั้งนักการเมืองทำได้ทุกอย่าง 

ปกติการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำถ้าจะมีคือปีละครั้ง โดยคณะกรรมการค่าจ้างที่ประกอบด้วย ตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาลเป็นผู้พิจารณา และเสนอให้ ครม. เห็นชอบ

แต่ยุคนี้รัฐบาล ‘แย่งอำนาจการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ’ ไปจากคณะกรรมการค่าจ้าง และประกาศขึ้นค่าจ้างตามอำเภอใจ ขึ้นครั้งที่ 1 เป็นของขวัญวันปีใหม่ ขึ้นครั้งที่ 2 เป็นของขวัญวันสงกรานต์ ขึ้นครั้งที่ 3 เป็นของขวัญวันแรงงาน ฯลฯ 

ค่าจ้างขั้นต่ำกลายเป็นประเด็นเมื่อไร นายจ้าง เจ้าของธุรกิจ ถูกนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านใส่สีตีไข่ให้เป็นนายทุนกดขี่ขูดรีดผู้ใช้แรงงาน เอารัดเอาเปรียบชนชั้นกรรมาชีพเมื่อนั้น ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง นายจ้าง เจ้าของธุรกิจเหล่านี้ คือผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในทุกระดับ คือ ผู้สร้างงาน สร้างผลิตผล สร้างรายได้ที่ส่วนหนึ่งเอาไปจ่ายเงินเดือนนักการเมือง และบริวาร 

ในความเป็นจริงค่าจ้างแรงงานมีฝีมือ ปัจจุบันเริ่มต้นที่ 500 บาทขึ้นไปอยู่แล้ว ค่าจ้างขั้นต่ำ คือ  ค่าจ้างแรงงานไร้ฝีมือ เพิ่งทำงานไม่มีประสบการณ์ ซึ่งคือแรงงานต่างด้าว 5  ล้านคน แต่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400  บาท ทำให้ช่องว่างแรงงานไร้ฝีมือกับแรงงานที่มีทักษะแคบลง นายจ้างจึงต้องปรับค่าจ้างแรงงานที่ได้รับมากกว่า 400 บาทสูงขึ้นไปอีกทำให้ต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปีนี้ขึ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคมในอัตรา 2-16  บาท ไม่เท่ากันทั่วประเทศ สูงสุดคือ 370 บาทต่อวัน ต่ำสุด 330 บาทต่อวัน แม้นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินจะไม่พอใจ เพราะต้องการให้ขึ้นเป็น 400 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอำนาจของคณะกรรมการค่าจ้างที่ประกอบด้วย ตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ

จึงนำไปสู่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งที่ 2 แบบ  ‘แก้บน’ คือขึ้นเป็นวันละ 400  บาทใน 10 จังหวัดพื้นที่ท่องเที่ยวเฉพาะธุรกิจโรงแรม 4 ดาวขึ้นไปที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50  คนขึ้นไป และบางจังหวัดก็ปรับเฉพาะบางพื้นที่ เช่น กทม. ปรับเฉพาะเขตปทุมวัน และเขตวัฒนา จังหวัดระยอง ปรับเฉพาะเขตตำบลบ้านเพ สุราษฎร์ปรับเฉพาะเกาะสมุย ฯลฯ ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 

ปรับแบบนี้รัฐบาลก็รู้ว่า ไม่มีผลอะไรเลยในทางปฏิบัติเพราะโรงแรม 4 ดาว ในพื้นที่ดังกล่าวจ่ายค่าจ้างมากกว่าวันละ 400 บาทอยู่แล้ว แต่เป็นการปรับเพื่อรักษาหน้านายกฯ ไม่ให้เสียคำพูดเท่านั้น

สัญญาณการปรับค่าจ้างขั้นต่ำล่าสุด เริ่มต้นจาก รมต.กระทรวงแรงงาน ‘พิพัฒน์ รัชกิจประการ’ ให้ข่าวตอนปลายเดือนเมษายนว่า จะมีบิ๊กเซอร์ไพรส์เป็นของขวัญวันแรงงานด้วยการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567  ซึ่งเป็นเรื่องที่พิพัฒน์ ‘พูดเอง เออเอง’  คณะกรรมการค่าจ้างไม่รับรู้  

พ้นวันแรงงาน 1 พฤษภาคมแล้ว ไม่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามที่พิพัฒน์โม้ไว้  จึงออกมาแก้ตัวว่าทำไม่ทันจะไปขึ้นเอาวันที่ 1 ตุลาคมปีนี้

หลังจากนั้นอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยตอกย้ำว่า ขึ้นแน่เพราะเป็น ‘บัญชา’ นายกฯ สำทับด้วยโฆษกรัฐบาล ชัย วัชรงค์ โฆษกรัฐบาลบอกว่า เตรียมประกาศข่าวดีสำหรับผู้ใช้แรงงาน ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท ทั่วประเทศ โดยจะทยอยปรับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป

วันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา 76  หอการค้าจังหวัด  54 สมาคมการค้านำโดย ‘พจน์ อร่ามวัฒนานนท์’  รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่จะเข้ามาเป็นประธานแทน สนั่น อังอุบลสกุล ออกแถลงการณ์คัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ โดยขอให้รัฐบาลยึดถือกติกาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน คือให้คณะกรรมการค่าจ้างเป็นผู้พิจารณา  

รองประธานสภาหอการค้าไทย ยังประกาศท่าทีหากรัฐบาลยังยืนยันจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400  บาท ว่า 

‘จำเป็นที่จะต้องรักษาสิทธิ ในการดำรงไว้ของหลักนิติธรรม (The Rule of Law ) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกภาคเอกชนที่มีส่วนได้เสียในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวต่อไป’

ไม่ใช่ค้านแล้วจบ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะเชื่อไหม แต่คราวนี้ถ้ารัฐบาลไม่ฟัง เอกชนก็พร้อมจะสู้ ตามกระบวนการยุติธรรม เพราะรัฐบาลขึ้นค่าแรงแบบผิดกฎหมาย

บ่ายวันนี้ (8 พฤษภาคม) หลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ( กกร.) ‘เกรียงไกร เธียรนุกูล’ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บอกว่าที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง 400 บาท เพราะสูงเกินความเป็นจริง และจะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ การลงทุนของประเทศ 

การปรับค่าแรงขั้นต่ำ ควรเป็นไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน คือ ให้คณะกรรมการค่าจ้างเป็นผู้พิจารณา

โดยปกติภาคเอกชนจะไม่แสดงความเห็นที่สวนทางกับรัฐบาล ถ้าไม่เห็นด้วยก็จะ ‘นิ่งเฉย’ การแสดงจุดยืนต่อต้านนโยบายค่าแรง 400 บาทของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แสดงว่า เหลืออดกับพฤติกรรมของนักการเมืองที่อาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาประเทศ แต่ 8 เดือนแล้ว ไม่ได้ทำอะไรเลย  ยังจะเอานายจ้างมาเป็นเหยื่อนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำที่หาเสียงไว้แบบเกินความเป็นจริง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์