การแบ่งงานระหว่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับ รมช. อีก 3 คน นอกจากจะเป็นชนวนให้ ‘กฤษฎีกา จีนะวิจารณะ’ ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังทันที เพราะรู้สึกถูกด้อยค่า ไม่ให้เกียรติ จากขุนคลัง พิชัย ชุณหวิชร แล้ว
ยังเป็นที่โจษขาน ตั้งข้อสงสัยของคนในแวดวงการเงินการคลัง รวมทั้งในหมู่ข้าราชการของกระทรวงว่าเหตุใด รัฐมนตรีจึงให้ความ ‘สนใจ’ กับธนาคารขนาดใหญ่ของรัฐ มากกว่าหน่วยงานในกระทรงการคลังที่มีบทบาทในการวางแผน ดูแลภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ
รัฐมนตรีพิชัยแบ่งงานให้ตัวเอง กำกับดูแลธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่กำกับดูแลหน่วยงานของกระทรวงการคลังเพียงหน่วยงานเดียวคือ กรมบัญชีกลาง
หน่วยงานที่เป็นเสมือน think tank ทำงานด้านโนบายและแผน อย่าง ‘สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ( สศค.)’ และ ‘สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ( สคร.)’ ถูกมอบหมายให้อยู่ภายใต้รัฐมนตรีมือใหม่หัดขับ ‘เผ่าภูมิ โรจนสกุล’ ซึ่งได้ปูนบำเหน็จ เลื่อนขั้นจากเลขานุการ รมต. ว่าการกระทรวงการคลัง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เพราะว่าเป็นเด็กของ**‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’**
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทุกยุคทุกสมัยจะดูแลหน่วยงานด้านนโยบายเอง ไม่ว่าจะเป็น สศค., สคร. หรือ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ อาจจะแบ่งให้รัฐมนตรีช่วยดูแลบ้าง แต่อย่างน้อยที่สุด สศค. รัฐมนตรีคลังจะดูเองเพราะเป็นหน่วยงานมันสมองด้านข้อมูล การวางแผนยุทธศาสตร์การคลัง และเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ
รมต. คลังคนล่าสุดก่อนหน้าพิชัยคือ เศรษฐา ทวีสิน ก็กำกับดูแลทั้ง สศค. และ สคร. ส่วนธนาคารกรุงไทย ออมสิน และอาคารสงเคราะห์มอบหมายให้กฤษฎาดูแล
การดึงแบงก์รัฐขนาดใหญ่ทั้ง 3 แห่ง รวมทั้งธนาคารอิสลามมาดูแลเอง แต่กลับไม่สนใจหน่วยงานที่เป็นเสมือนมันสมองด้านนโยบายการคลัง ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า รัฐมนตรีพิชัย มีเป้าหมายอย่างไร
โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าพิชัย มีความสนิทสนมกับ ‘เบ้ง’ ทศพงษ์ จารุทวี อดีตเจ้าของ ผู้บริหาร บริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ประสบ ‘ปัญหาสภาพคล่องจนล้มละลาย’ ในยุคต้มยำกุ้งอดีตคู่เขยกับเศรษฐา และเคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แสนสิริ ในยุคแรกๆ ผ่านการถือหุ้นแสนสิริของแนเชรัล พาร์ค
ทศพงษ์ ได้ชื่อว่าเป็น ‘พ่อมดการเงิน’ คนหนึ่งในยุคฟองสบู ก่อนหน้าปี 2540 คือใช้กลยุทธ์ ‘เล่นแร่แปรธาตุ ยักย้าย ถ่ายเททรัพย์สิน’ เพื่อสร้างส่วนต่างจากการลงทุน ในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์
แม้ทศพงษ์ จะหายหน้าไปจากสังคมแต่ในแวดวงการลงทุนรู้ดีว่า เขายังมีบทบาทอยู่หลังฉากมีการพบปะกับ เศรษฐา และพิชัย อย่างสม่ำเสมอ ที่โรงแรมหรู บนถนนพญาไท
ในช่วงหลังเลือกตั้งตอนที่พรรคเพื่อไทย เสนอชื่อ เศรษฐา เป็นหนึ่งในแคนดิเดต นายกรัฐมนตรี
‘ชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์’ ได้เคลื่อนไหวโจมตีเศรษฐาว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อน จากการเสนอขายที่ดินที่ถนนสารสิน และทองหล่อให้แสนสิริ
บางช่วงบางตอนชูวิทย์แย้มพรายว่ามี ‘ขงเบ้ง’ เป็นผู้วางแผน ซึ่งแสนสิริได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริงและมีกระแสข่าวตอบโต้ว่า ชูวิทย์กล่าวหาเศรษฐา เพราะไม่พอใจเศรษฐาตอนเป็นซีอีโอ แสนสิริ ที่ไม่ยอมซื้อที่ดินในซอยสุขุมวิท 24 ของชูวิทย์
อย่างไรก็ตามความจริงที่ทั้งเศรษฐา และพิชัยยังไม่เคยปฏิเสธคือ ‘มีความสนิทสนมกับอย่างมากกับทศพงษ์’
ดังนั้นเมื่อพิชัยทิ้งหน้าที่ของรัฐมนตรีคลังในการดูแลภาพรวมเศรษฐกิจและการคลัง แต่ลดบทบาทตัวเองไปคุมแบงก์รัฐขนาดใหญ่ ซึ่งอันที่จริงแต่ละแบงก์ ก็มีบอร์ดที่มีข้าราชการระดับบริหารของกระทรวงการคลังไปนั่งดูแลอยู่แล้ว และยังถูกกำกับจากแบงก์ชาติอีกชั้นหนึ่งด้วย
ทำไมรัฐมนตรีคลังต้องดึงมาดูเอง จึงช่วยไม่ได้ที่เขาจะถูกตั้งข้อสงสัยว่า มีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือเปล่า
ในอดีตธนาคารของรัฐเป็น ‘ขุมทรัพย์’ ที่นักการเมือง ข้าราชการแสวงหาประโยชน์ ด้วยการปล่อยสินเชื่อให้กับเครือข่าย บริวารของนักการเมือง เมื่อปล่อยสินเชื่อแล้วเป็นหนี้เสีย ก็ทำลายหลักฐาน แทงบัญชีจำหน่ายออกจากระบบ ลูกหนี้ได้เงินร้อยล้านไปใช้ฟรีๆ โดยไม่ต้องคืนหนี้ หนี้เสียตกเป็นภาระของธนาคารที่ต้องเอาภาษีประชาชนมาชดใช้
กรณีแบงก์กรุงไทยที่ปล่อยสินเชื่อให้บริษัทที่ติดแบล็คลิสต์เพราะ ‘นาย’ ต้องการ เป็นตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้หากไม่มีการยึดอำนาจโดย คสช. และมีการสอบสวนจนมีผู้บริหารธนาคารหลายคนติดคุกเรื่องคงเงียบไป คนทำผิดคงลอยนวล
กรณีธนาคารอิสลามที่รัฐมนตรีพิชัยดึงมาดูแลเอง เคยมีผู้บริหารที่เป็นพ่อมดการเงิน ร่วมยุคสมัยเดียวกับทศพงษ์ ปล่อยสินเชื่อจนกลายเป็นหนี้เสียมโหฬาร ธนาคารล้มละลายต้องฟื้นฟูกิจการจนถึงทุกวันนี้ไม่มีผลประโยชน์ให้แสวงหา มีแต่หนี้เสียที่ต้องทำลายหลักฐานไม่ให้เอาผิดกับตัวการได้
หวังว่าวงจรอุบาทว์ของธนาคารรัฐในอดีต ‘ปล่อยหนี้เสีย กลบหนี้เน่า’ จะไม่เกิดขึ้นในยุคของรัฐมนตรคลังชื่อ พิชัย ชุณหวชิร