เฟคนิวส์ ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท 1 ต.ค.

9 พ.ค. 2567 - 11:14

  • การขึ้นค่าแรง 400 บาท วันที่ 1 ตุลาคมนี้ กลายเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ทราบ

  • ที่ผ่านมาการขึ้นค่าแรง เป็นอำนาจของคณะกรรมการค่าจ้าง

  • หากปรับขึ้นจริง สภาหอการค้าเตรีมการฟ้องร้องทันที

DeepSpace2-SPACEBAR-Hero.jpg

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หมวด 6 ว่าด้วย คณะกรรมการค่าจ้างให้คณะกรรมการค่าจ้างมีอำนาจหน้าที่กำหนดอัตราค่าจ้างพื้นฐาน และเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา

รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานรวมไปถึงนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีไม่มีอำนาจเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบมีหน้าที่แค่รับทราบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดเท่านั้น

ทำเกินจากนี้ เช่นไปกำหนดว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องเป็น 400  บาท ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไปถือว่าทำไปโดยไม่มีอำนาจผิดกฎหมาย  ซึ่งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณมีนัยว่า หากรัฐบาลยืนยันประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ400 บาท ในวันที่ 1 ตุลาคม แล้วละก็จะฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำผ่านคำพูดที่ว่า 

‘จำเป็นที่จะต้องรักษาสิทธิ ในการดำรงไว้ของหลักนิติธรรม (The Rule of Law ) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกภาคเอกชนที่มีส่วนได้เสียในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวต่อไป’

มาตรา 87  พ.ร.บ .คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 วางหลักเกณฑ์ในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้ว่า  ให้คณะกรรมการค่าจ้างศึกษา และพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบข้อเท็จจริงอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งดัชนีค่าครองชีพ  อัตราเงินเฟ้อมาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้า ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม 

ดังนั้นการขี้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท เพราะพรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อเป็นของขวัญวันปีใหม่วันสงกรานต์ และวันแรงงานจึงทำไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย

ทั้งรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ‘พิพัฒน์ รัชกกิจประการ’  รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โฆษกรัฐบาล ‘ชัย วัชรงค์’   ต่างรู้อยู่แก่ใจว่า ทำไมได้ แต่ก็ยังประกาศออกไปอย่างเป็นเรื่องเป็นราว  หลอกให้ผู้ใช้แรงงานที่รู้ไม่เท่าทัน หลงดีใจ พอๆกับหลอกคนไทยให้รอเงินหมื่นดิจิทัลมาเกือบปีแล้ว 

‘ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจยกระดับวิถีชีวิตประชาชนของนายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการกำหนดแนวทางจนเกิดเป็นผลความสำเร็จ โดยได้ประกาศข่าวดีสำหรับผู้ใช้แรงงานไทย เตรียมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400  บาททั่วประเทศ  ซึ่งจะเป็นการทยอยปรับขึ้นเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2567  นี้’

เป็นคำประกาศของโฆษกรัฐบาลเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม

มาฟังตัวจริง เสียงจริง คนที่มีอำนาจตามกฎหมายในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำบ้าง 

‘อรรถยุทธ ลียะวณิช’ คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 ในสัดส่วนผู้แทนฝ่ายนายจ้าง เปิดเผยว่า หอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ติดต่อผ่านทางโทรศัพท์พร้อมส่งข้อมูลต่างๆ มาให้ตนเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 

แต่ข่าวที่ระบุว่า จะมีปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทุกกลุ่มอาชีพทั่วประเทศนั้น ไม่ทราบว่ามาได้อย่างไร เพราะกรรมการไตรภาคียังไม่มีการดำเนินการอะไรใดๆ ยังไม่มีการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ซึ่งปกติ จะพิจารณาปรับเพิ่มเป็นรายจังหวัด การจะมาทำรายอาชีพแบบนึกจะทำก็ทำเลยไม่ได้ 

ส่วนในการปรับรอบ 2 ในกลุ่มโรงแรม 4 ดาวขึ้นไป ใน 10 พื้นที่ ก็ผ่านการทำแบบสอบถามต่างๆ แล้วเห็นว่าไม่กระทบกระเทือนอะไร หากจะทำรายอาชีพต้องทำวิจัย ซึ่งกรรมการไตรภาคีก็มีมติในการประชุมเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ให้ทำวิจัยว่าหากปรับเป็นรายอาชีพนั้นเหมาะที่จะทำในช่วงนี้หรือไม่

โดยในการประชุมวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ก็จะมาพูดคุยกันในรายละเอียดว่าจะมีการวิจัยเรื่องอะไรบ้างขอบข่ายการวิจัยใช้เวลานานแค่ไหน ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เคยทำวิจัยเกี่ยวกับค่าจ้างเด็กนักเรียนภาคฤดูร้อน และวิจัยเรื่องค่าจ้างลอยตัวซึ่งทำกัน 2 ปี ไม่ใช่นึกอยากจะทำอะไรก็ทำ ออกมาประกาศเลยบอร์ดค่าจ้างยังไม่มีมติ และไม่รู้ว่าข่าวออกมาจากไหนทั้งๆ ในที่ประชุมไม่มีเรื่องนี้

การพูดออกไปก่อนว่า จะขึ้นเท่านั้น เท่านี้ มันไม่ควรที่จะพูด ไม่รู้ว่าเอาข้อมูลจากไหนมาพูด ก็ต้องถามในที่ประชุมวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ว่าใครพูดซึ่งทำไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดการปั่นป่วนทั้งประเทศ   

การเมืองไม่ควรจะพูด กรรมการค่าจ้างก็เหมือนคณะกรรมการควบคุมดอกเบี้ย ราคาน้ำมันต่างๆ ต้องปราศจากการเมือง แต่นี่นายกฯ พูดบ้าง ปลัดกระทรวงพูดบ้าง มันเหมาะหรือไม่

ระหว่างนักการเมืองกับบอร์ดค่าจ้าง  ใครพูดจริง พูดเท็จ ใครปล่อยข่าว สร้างเฟคนิวส์ ตรองดูเถิด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์