พรรคเพื่อไทย ในวันนี้ มีต้นกำเนิดมาจากพรรคไทยรักไทยในอดีต ซึ่งจดทะเบียนเป็นพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) นักธุรกิจโทรคมนาคม และมือเศรษฐกิจในยุคนั้น อาทิ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ทนง พิทยะ โอฬาร ไชยประวัติ ร่วมกันจัดตั้งและขับเคลื่อน
พรรคไทยรักไทย ประสบความสำเร็จตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกในเดือนมกราคม ปี 2544 โดยโค่นพรรคประชาธิปัตย์แชมป์เก่า ชนะแบบถล่มทลายได้ สส.มากถึง 248 คน และเกือบครึ่งเป็นคนหน้าใหม่ จนเป็นที่มาของคำว่า ‘สส.นกแล’
ไทยรักไทย ขายความเป็นมือเศรษฐกิจ สู้กับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ขณะนั้น มีธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ และศุภชัย พานิชภักดิ์ เป็นตัวชูโรง และไม่ได้มีเฉพาะคำว่า ‘ตาดูดาวเท้าติดดิน’ แต่ยังมีคำว่า ‘เรียลทีม’ สู้กับ ‘ดรีมทีม’ ทางเศรษฐกิจของ ปชป.ด้วย
หลังส่ง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 จากนั้น พรรคไทยรักไทย ที่ต่อมาเป็นพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยในวันนี้ ยังชนะเลือกตั้งมาตลอด จนมีนายกรัฐมนตรีอีก 3 คน คือ สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ผู้สมัครพรรคไทยรักไทย ต่างขี่นโยบายหลักๆ เข้าสภาทั้งกองทุนหมู่บ้าน พักชำระหนี้เกษตรกร และที่โดดเด่นคือ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ปัจจุบันนำมาต่อยอดเป็น ‘รักษาทุกที่’
แต่ผ่านมาถึง พ.ศ.นี้ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่มาจากนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ กลับมีปัญหาการขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจ
หลายนโยบายที่ใช้หาเสียงไว้ ถึงเวลามาเป็นรัฐบาลจริงๆ กลับขยับไม่ออก โดยเฉพาะที่เรียกกันนโยบาย ‘เรือธง’ ทั้งการแจกเงินหมื่นบาทผ่านโครงการดิจิทัล วอลเล็ต โครงการซอฟต์พาวเวอร์
หรือแม้แต่ในบางนโยบายที่ไม่ได้หาเสียงไว้ แต่อยากทำ เลยถูกนำมาเป็นตัวชูโรง เดินสายโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำด้วย คือ โครงการแลนด์บริดจ์ ที่เกิดการขบเหลี่ยมกับพรรคก้าวไกลเวลานี้
ทั้งสามนโยบายที่ว่ามานั้น ทำท่าจะไปต่อลำบาก ดังนั้นจึงเชื่อกันว่าในท้ายที่สุดแล้ว โครงการแจกเงินหมื่นบาทที่มีความหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมาย นายกฯ เศรษฐา น่าจะเลือกยอมเสียคะแนนนิยมดีกว่าเสี่ยงไปติดคุก
ส่วนโครงการซอฟต์พาวเวอร์ ก็ขาดพลังที่จะขับเคลื่อน และแม้แต่โครงการแลนด์บริดจ์ ก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งสุดท้ายก็คงเป็นอีกโครงการที่ทำให้รัฐบาลเศรษฐาเสียรังวัด
ทำให้ยี่ห้อความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของเพื่อไทย ที่ถูกส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง
สำหรับพรรคเพื่อไทยต่อจากนี้ ที่กำลังถูกมรสุมรุมเร้าหนัก โดยเฉพาะปัญหาคนชั้น 14 ถึงแม้คนเพื่อไทยจะมองข้ามจุดนี้ไป เพราะเห็นปัญหาปากท้องของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญกว่า แต่เรื่องอภิสิทธิ์ชน ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกันในทางกฎหมาย ก็จะเป็นตะกอนอยู่ในใจของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยอยู่ต่อไป
กลายเป็นความไม่พอใจที่ฝังลึกและแกะไม่ออก ไม่ว่าจะด้วยการปรับครม.หรือเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ก็คงไม่สามารถช่วยอะไรได้
สุดท้ายเมื่อผ่านพ้นแดนอันตรายในเดือนพฤษภาคมนี้ไป รัฐบาลเพื่อไทย ก็คงอยู่แบบประคองๆ ตัวต่อไป ซึ่งจะไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ อย่างมากอาจมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีในช่วงท้ายๆ
สุดท้ายท้ายสุด หากสถานการณ์เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพื่อไทยแม้ไม่ถึงกับเสื่อม แต่คงอยู่ในภาวะที่ลำบาก
ที่สำคัญจุดขายเรื่องเศรษฐกิจต่อจากนี้ก็คงขายไม่ออก