‘เพื่อไทย’ตายน้ำตื้น ผิดที่-ผิดคน-ผิดเวลา

9 ก.พ. 2567 - 09:14

  • นโยบายของพรรคเพื่อไทย ยังวนเวียนอยู่ไม่กี่เรื่อง

  • เปิดตัวนโยบายสวยหรู แต่เมื่อลงมาทำงาน ก็ยังไม่เห็นผลงาน

  • ต้องเร่งทบทวนการวางตัว การทำงาน ที่ดูผิดที่ ผิดทางไปทั้งหมด

Deep SPACE economy-government-politics-SPACEBAR-Hero.jpg

จากกระแสข่าวดรามาเรื่อง ‘กางเกงช้าง’ ที่มีเสียงวิจารณ์ และคนในรัฐบาลพากันลุกขึ้นมาร้องโวยวายว่า เรากำลังถูกจีนฉกฉวยโอกาสทางการค้า ‘ก๊อปปี้’ หนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ ด้านแฟชั่นที่กำลังได้รับความนิยมของไทย เอาไปผลิตและส่งกลับมาขายตีตลาดผู้ประกอบการไทยในราคาแสนถูก เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สะท้อนให้เห็นการทำงานของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ในยุคนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่ขาดความเข้าใจในปัญหาอย่างแท้จริง

ทันที่ที่เกิดกระแสข่าว นายกฯเศรษฐา ถุงเท้าหลากสี บอกว่าได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ที่อยู่ในความดูแลของ รองนายกฯ อ้วน-ภูมิธรรม เวชยชัย เข้าไปดูเรื่องการปกป้องลิขสิทธิ์ จนทำเอาเต้นไปทั้งกระทรวงพาณิชย์ ถึงขนาดมีแนวคิดพิลึกๆ ที่จะปิดพรมแดนห้ามนำเข้ากางเกงช้างจากจีน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างมาก

เพราะหากเข้าใจปัญหาจะตระหนักได้ทันทีว่า ‘กางเกงช้าง’ เป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งของปัญหาสินค้าจีนที่กำลังทะลักเข้าสู่ตลาดไทย เพราะมีต้นทุนต่ำ และกำลังทำลายผู้ประกอบการ SME ไทย โดยมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สนั่น อังอุบลกุล ระบุว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน กกร. ห่วงและกังวลกับปัญหาดังกล่าวมาก และยอมรับว่าจีนเปรียบเสมือน ‘โรงงานโลก’ ที่มีความพร้อมทั้ง แรงงาน วัตถุดิบ และซัพพลายเชนในการผลิตสินค้าที่ทำให้มีต้นทุนต่ำ และยิ่งใช้วิธีทำการตลาดสมัยใหม่ค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ซ ในแบบ B-C ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์รายใหญ่ๆ ก็ยิ่งทำให้เข้าถึงผู้ซื้อโดยตรงได้ง่ายมากขึ้น     

อีกส่วนหนึ่งยังเป็นผลมาจาก ผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าระหว่างสองประเทศจากข้อตกลงเอฟทีเอ และช่องโหว่จากกฎระเบียบเรื่องภาษี และศุลกากรของไทย ที่ทำให้สินค้านำเข้าของจีนยิ่งได้เปรียบในเรื่องต้นทุน เมื่อเทียบกับสินค้าไทย

ความรุนแรงของปัญหาสะท้อนชัดจากตัวเลขการค้าระหว่างสองประเทศเมื่อปีที่แล้ว ที่ไทยส่งอออกไปจีนเพียง 3.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่นำเข้ามาสูงถึง 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้เราขาดดุลการค้ากับจีนสูงถึง 3.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ 

จุดสำคัญที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขก็คือ ทบทวนการยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ไม่เกิน 1,500  บาท ที่ทำให้สินค้าจีนได้เปรียบสินค้าไทยที่ยังต้องเสีย VAT

นอกจากนี้ ยังอยากให้มีการทบทวนเรื่องการใช้สิทธิประโยชน์ในเขต Free Trade Zone ที่เปิดโอกาสให้จีนมาสร้างศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ โดยได้รับการยกเว้นภาษี รวมถึงการนำมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดมาบังคับใช้ รวมถึงความเข้มงวดในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าที่ผ่านแดน 

ทั้งหมดเป็นปัญหาที่ ทั้ง นายกฯ เศรษฐา ในฐานะ รมว.คลัง และ รองนายกฯ อ้วน-ภูมิธรรม ในฐานะ รมว.พาณิชย์ ควรจะให้ความสำคัญและเร่งแก้ไขปัญหา แต่กว่า 6 เดือนที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมใดๆออกมา

บางทีอาจจะถึงเวลาที่พรรคเพื่อไทย อาจจะต้องหันกลับมาทบทวนการทำงานของคนในรัฐบาลกันใหม่ โดยเฉพาะทีมงานด้านเศรษฐกิจที่ดูจะสาละวนอยู่กับเรื่องไม่กี่เรื่อง ที่จนถึงนาทีนี้ก็ยังวนเวียนไปมาไปได้ไม่ถึงไหน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต โครงการแลนด์บริดจ์ และ นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ 3 เรือธงซึ่งยังคงเกยตื้นเข็นลงน้ำไม่ได้เสียที

ซ้ำร้ายงานในเวลาเดียวกัน ภารกิจและงานในกระทรวงฯ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของทั้งสองคนก็กลับไม่เดินหน้า และไม่ได้รับการแก้ไขอย่างที่ควรจะเป็น

ต้องยอมรับว่ามาถึงวันนี้ รัฐบาลคงหมดเวลาที่จะกล่าวโทษหรือโยนบาปให้คนอื่น อย่าง แบงก์ชาติ ว่าทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา เพราะไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ย หรือกล่าวหาว่า องค์กรอิสระอย่าง ปปช. กำลังเล่นเกมเตะตัดขา โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 

ที่สำคัญตัวนายกฯ เศรษฐาเองก็ควร ลด การสร้างสถิติใหม่ กับกิจกรรมสร้างภาพ เดินสายไปต่างประเทศ หรือต่างจังหวัด หรือการไปเปิดงาน ตามอีเวนต์สัมมนาต่างๆ

หันกลับมา ‘โฟกัส’ กับเนื้องานหลัก เพื่อหาข้อสรุป ฝ่าทางตันหาทางออก หากเรือธงอย่าง โครงการดิจิทัลวอลเล็ต มันลำใหญ่เกินกว่าที่จะขับเคลื่อนออกไป ทำไมไม่เปลี่ยนแผน ต่อเรือใหม่ที่อาจจะเล็กกว่าเดิมหลายๆ ลำ เพื่อไปถึงเป้าหมายให้ตรงจุด แทนที่จะมุ่งหว่านแห เพียงเพราะหวังจะสร้าง ‘อิมแพ็ค’ ให้ชาวบ้านตื่นตะลึงเหมือนที่ผ่านมา 

อย่ามัวแต่เล่นบท ‘รำไม่ดี โทษปี่โทษกลอง’ ปล่อยให้เศรษฐกิจไทยตกอยู่ในอาการของ ‘โรคซึมเศร้า’ แบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะ  ‘ท่ารำ’ ของรัฐบาล มันไปไม่ได้กับวงปี่พาทย์จริงๆ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์