ในทางการเมือง โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง อาจจะกำลังสร้างความว้าวุ่นให้กับ พรรคเพื่อไทย ว่าจะเดินหน้าต่อหรือถอยหลังดี เพราะนอกจากจะถูกนักวิชาการและฝ่ายตรงข้ามถล่มแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าเสียงตอบรับจากชาวนา-เกษตรกรส่วนใหญ่ดูจะไม่ ‘ปลื้ม’ เพราะพวกเขาอยากได้ในรูปของเงินช่วยเหลือชาวนาแบบเต็มๆไร่ละ 1,000 บาทเหมือนสมัยรัฐบาลลุงตู่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากกว่า
เรื่องนี้ทำให้ นายกฯเศรษฐา นักกู้ผ้าขาวม้าพันคอ ที่ขยันเดินสายลงพื้นที่ถี่ยิบในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาออกอาการ ‘คิดหนัก’ กว่าใครเขาเพื่อน เพราะเจอชาวบ้านบ่นมากับตัวเองว่าอยากได้เงินช่วยเหลือไร่ละหนึ่งพันบาทมากกว่าปุ๋ยคนละครึ่ง ที่ต้องไปดิ้นรน ‘ควักเงิน’ ไปก่อนครึ่งหนึ่งเพื่อซื้อปุ๋ย ทำให้หนีไม่พ้นต้องกู้หนี้ ธ.ก.ส.เพิ่มอีก แทนที่จะได้เงินจากรัฐบาลราว 2 หมื่นบาท เหมือนสมัย ‘ลุงตู่’
เจอชาวบ้านบ่นมาก็ต้องคิดหนักเป็นธรรมดา โดยเฉพาะในยามที่คะแนนนิยม ‘ลดฮวบฮาบ’ แบบทุกวันนี้ นายกฯเศรษฐาเริ่มคิดว่าหากฝืนเดินหน้าต่อไป นอกจากรัฐบาลจะไม่ได้แต้มทางการเมืองแล้ว ซ้ำร้ายยังอาจจะกระทบต่อ ‘คะแนนนิยม’ และฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยในพื้นที่เสียอีก
ทั้งหมดเลยเป็นที่มาซึ่งทำให้ เศรษฐาและรัฐมนตรีจากเพื่อไทย ต้องนำเรื่อง ‘ปุ๋ยคนละครึ่ง’ กลับมาคุยกันในที่ประชุมครม. อีกรอบเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งรัฐมนตรีหลายคนในปีกของพรรคเพื่อไทยก็อยากให้มีการทบทวน โดยเฉพาะ ‘เกรียง กัลป์ตินันท์’ รมช.มหาดไทยจากอุบลราชธานี
แต่หลังถกกันพักใหญ่ที่สุด นายกฯเศรษฐาก็ยังไม่กล้า ‘ใส่เกียร์ถอย’ ยังคงยอมให้เดินหน้าต่อ เพราะกลัวว่าหากขืนทำตัวเป็น ‘ไอ้เข้ขวางคลอง’ ใส่เกียร์ถอย ไม่เพียงจะมีปัญหากับพรรคร่วมคือพลังประชารัฐ และ ‘ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า’ ซึ่งคุมกระทรวงเกษตรฯแบบเบ็ดเสร็จ และเป็นคนผลักดันโครงการนี้
ในเวลาเดียวกันรัฐบาลเองก็มีปัญหาเรื่องเม็ดเงินที่ต้องกันเอาไว้ใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต การปรับรูปแบบความช่วยเหลือมาเป็นโครงการปุ๋ยคนละครึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณจากเดิมลงถึงครึ่งหนึ่ง
เพราะแทนที่จะแจกให้เกษตรกรไร่ละ 1 พันบาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือราวครัวเรือนละ 2 หมื่นบาท จะเหลือเพียงการช่วยจ่ายค่าปุ๋ยให้ชาวนาไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือสูงสุด 10,000 บาท โดยเกษตรกรต้องควักจ่ายค่าปุ๋ยที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง
ที่สำคัญมันอาจจะ ‘สายเกินไป’ ที่จะเดินถอย เพราะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.จะเริ่มเปิดให้ชาวนาลงทะเบียนโครงการนี้ในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้แล้ว ขืน ‘ล้มโครงการ’ หรือ ‘เลื่อน’ ระยะเวลาออกไปเพื่อทบทวน อาจจะบานปลายกลายเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลที่มีอยู่น้อยนิดอยู่แล้วให้ทรุดหนักลงไปกว่าเดิมเสียอีก
สุดท้ายก็เลยต้องยอมปล่อยเลยตามเลย และลุ้นกันต่อไปว่าที่สุดแล้วชาวนาจะลดเสียงบ่นในเชิงปรียบเทียบกับได้เงินแจกเหมือนสมัยลุงตู่หรือไม่
เรียกว่างานนี้ยอมซื้อวัดใจ กับผู้กองธรรมนัสไปเลย โดยหวังว่าจะไม่มีปัญหาอื่นๆตามมา ไม่ว่าจะเป็นข้อครหาเรื่องการเอื้อประโยชน์ ล็อกสเปกปุ๋ย ล็อกสูตรปุ๋ย ล็อกบริษัทขายปุ๋ย ต้องเปิดกว้างให้ทุกบริษัททุกยี่ห้อเข้าร่วมโครงการได้หมด
แต่ในอีกมุมหนึ่ง คงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ต้องยอมรับว่าถึงแม้จะมีเสียงที่ไม่ค่อย ‘ปลื้ม’ ออกมาจากชาวนาส่วนใหญ่ แต่ในบางพื้นที่กลับเริ่มมีการเคลื่อนไหวที่คึกคักเป็นพิเศษ โดยร้านค้าปัจจัยการเกษตรตามชุมชนหลายแห่งเริ่มมีการติดต่อเสนอให้เงินสดให้กับชาวนา ‘แลก’ กับการใช้สิทธิ์ในการซื้อปุ๋ยคนละครึ่งของรัฐบาล ภายใต้สูตร 80-20-0
รูปแบบคือ ผู้ค้าปุ๋ยรายย่อยในชุมชนเหล่านี้จะจ่ายเงินสดให้กับชาวนาทันทีครัวเรือนละ 8 พันบาท แลกกับการขอสวมสิทธิ์ในการซื้อปุ๋ยในโครงการปุ๋ยคนละครึ่งของรัฐบาล โดยวิธีการนี้จะทำให้ได้ปุ๋ยที่มีต้นทุนต่ำลงทันทีเพื่อนำไปขายต่อฟันกำไร
คำนวณในทางคณิตศาสตร์แบบบ้านๆอย่างง่ายๆ
สมมุติผู้ค้ารายย่อยในท้องถิ่นซื้อปุ๋ยจากรายใหญ่มาในราคาต้นทุนตันละ 18,000 บาท ผู้ค้าจะจ่ายเงินสดให้ชาวนา 8,000 บาท เพื่อแลกสิทธิ์การซื้อปุ๋ยในโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง และยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อปุ๋ยอีก 10,000 บาทผ่านบัญชีของชาวนาที่ให้สวมสิทธิ์ รวมเบ็ดเสร็จผู้ค้าจะมีต้นทุนทั้งหมดรวม 36,000 บาท
แต่เมื่อจ่ายเงินซื้อปุ๋ยผ่านบัญชีชาวนาที่สวมสิทธิ์ผ่านระบบชำระเงินของ ธ.ก.ส.เรียบร้อยแล้ว ร้านค้าก็จะได้รับค่าปุ๋ยกลับมา 20,000 บาท ที่มาจากเงินของตัวเองร้านค้าที่ซื้อในนามของชาวนาและอีกครึ่งจากเงินสนับสนุนของรัฐบาล
เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำให้ผู้ค้าได้ปุ๋ยที่มีราคาต้นทุนเหลือเพียง 16,000 บาท แต่สามารถนำไปขายในท้องตลาดทั่วไปในราคา 20,000 บาท สามารถ ‘ฟันกำไร’ ทันที 4,000 บาท
วิธีการนี้ สำหรับชาวนาคือการแปลงสิทธิ์ให้กลายเป็นเงินสดภายใต้สูตร ‘80-20-0’ ที่เป็นรหัสลับที่รู้กันภายในระหว่าง ผู้ค้าปุ๋ยกับชาวนาที่ ‘ร้อนเงินมากกว่าร้อนปุ๋ย’ โดยมีการพูดกันว่าเป็นวิธีการที่ ‘วิน-วิน’ ทั้งชาวนาและผู้ค้าปุ๋ย เข้าตำรา ‘วัดครึ่งกรรมการครึ่ง’
มันอาจจะกลายเป็นตำนานอีกบทหนึ่งที่จะถูกพูดถึงไปอีกนาน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากนโยบายเด็ด ‘โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง’ ของผู้กองธรรมนัส ไปเสียอย่างนั้น...