ที่ผ่านมาคงไม่มีใครปฎิเสธถึงความยิ่งใหญ่ของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ในฐานะยักษ์ใหญ่ในวงการธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรแบบครบวงจรที่ยืนเป็นเบอร์หนึ่งมาเป็นเวลานาน
ทำให้สามารถขยายอาณาจักรธุรกิจไปสู่ธุรกิจอื่นๆที่หลากหลาย ทั้งธุรกิจค้าส่งค้าปลีก โทรคมนาคม และอสังหาริมทรัพย์ จน ‘เจียรวนนท์’ ที่นำโดย เจ้าสัว ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ ได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารฟอร์บส์ ให้เป็นตระกูลของ ‘มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดของไทย’ มานานนับสิบปี
เพิ่งจะมาถูกครอบครัว ‘อยู่วิทยา’ ของ ‘เฉลิม อยู่วิทยา’ เจ้าของ ‘กระทิงแดง’ ปาดหน้าขึ้นเป็นแชมป์แทนไปในปีนี้ ด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 2.9 หมื่นล้านเหรียญ หรือราว1.06 ล้านล้านบาท
กุญแจความสำเร็จที่สำคัญที่สุดที่นำไปสู่ความสำเร็จของกลุ่มซีพีในธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตร คือการให้ ‘ความสำคัญ’ กับการพัฒนาพันธุ์พืช-พันธุ์สัตว์ที่จะทำให้มีผลผลิตสูงเกิดความคุ้มค่าในการลงทุนในรูปแบบอุตสาหกรรมครบวงจร
นอกเหนือจากการส่งเสริมงานวิจัยในเรื่องของเมล็ดพันธุ์พืชไร่ที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์อย่างข้าวโพด ถั่วเหลืองแล้ว กลุ่มซีพี ยังเป็นผู้ปฎิวัติรูปแบบการเลี้ยงปศุสัตว์อย่าง หมู ไก่ ในรูปแบบ ‘เกษตรพันธสัญญา’ และนำไปสู่รูปแบบของอุตสาหกรรมเกษตรครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำคือผู้บริโภค
ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงราว 4 ทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มซีพียังรุกคืบมาสู่ธุรกิจสัตว์น้ำ จากการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ จนทำให้ประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงและกลายเป็นส่งออกกกุ้งรายใหญ่ของโลกมาจนถึงทุกวันนี้
เจ้าสัวธนินท์ ยังประสบความสำเร็จในการ ‘พัฒนาสายพันธุ์ปลาทับทิม’ ที่สามารถนำพันธุ์ปลานิลจากหลากหลายแหล่งทั่วโลกทั้งจากอิสราเอล ไต้หวัน และสหรัฐฯ มาพัฒนากับพันธุ์ปลานิลของไทย จนสามารถนำไปเพาะเลี้ยงเป็น ‘ปลาเศรษฐกิจ’ ที่คนไทยนิยมบริโภคได้อย่างน่าชื่นชม
แต่อาจเป็นเพราะกลุ่มซีพียังคงติด ‘กับดัก’ ของความสำเร็จ จึงยังคงพยายามพัฒนาสายพันธุ์ปลาอื่นๆ เพื่อให้มีพันธุ์ปลาเศรษฐกิจใหม่ๆ โดยไม่คาดคิดว่าจะเกิดความ ‘ผิดพลาด’ จนอาจทำให้เกิดหายนะกับระบบนิเวศตามมา เหมือนที่เกิดขึ้นกับ ‘ปลาหมอสีคางดำ’ ที่เป็น ‘เอเลี่ยนสปีชีส์’ พันธุ์สัตว์น้ำที่กำลังรุกรานละทำลายระบบนิเวศของสัตว์น้ำของไทยอย่างรุนแรงในเวลานี้
กลุ่มซีพี เริ่มงานวิจัยและนำเข้าพันธุ์ปลาหมอสีคางดำมาจาก กานา อาฟริกา ในราวปี 2549 โดยตั้งใจจะนำมาเพื่อช่วยผสมและพัฒนาพันธุ์ปลานิลให้มีความ ‘ต้านทาน’ ต่อโรคในสัตว์น้ำมากขึ้น และในปี 2553 มีการยื่นขอนำเข้าพันธุ์ปลามาราว 2,000 ตัว กับ ‘คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC)’ และนำไปเพาะเลี้ยงพัฒนาสายพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยและเพาะเลี้ยง อัมพวา สมุทรสงคราม
ตามปกติเมื่อมีการนำเข้ามา IBC จะมีกฎระเบียบที่จะต้องให้มี ‘การเลี้ยงในระบบปิด’ และรายงานผลการทดลองในรูปบบเอกสารเป็นระยะ รวมทั้งต้องมีระบบการ ‘ป้องกันไม่ให้การหลุดรอด’ ลงไปในแหล่งน้ำอย่างเด็ดขาด
แต่หลังจากนำเข้ามาได้ไม่นาน มีการแจ้งโดยวาจา โดยไม่มีการจัดทำรายงานอย่างเป็นทางการจากกลุ่มซีพีว่าปลาหมอสีคางดำได้ทยอยตายเกือบหมด จึงทำลายปลาส่วนใหญ่ไปหมดแล้ว เหลือแต่เพียงซากในขวดโหลเพียงราว 50 ตัว ทำให้คาดว่าการวิจัยอาจล้มเหลว
แต่เมื่อเวลาผ่านไปราวปี 2555 เริ่มมีสัญญาณที่นำไปสู่ ‘หายนะ’ กับสัตว์น้ำไทย เมื่อมีเกษตรกรในพื้นที่อัมพวา สมุทรสงคราม พบการ ‘แพร่ระบาด’ ของปลาหมอสีคางดำเป็นครั้งแรก และจากจุดนั้นก็เริ่มลุกลามกระจายไปในแหล่งน้ำพื้นที่อื่นๆตามแนวชายฝั่งทะเลทั้งตะวันออก และตะวันตกของอ่าวไทย จนมาถึงตอนนี้มีการพบปลาหมอสีคางดำถึง 13 จังหวัดตามแนวชายฝั่งทะเลไทย
ปลาหมอสีคางดำ เป็นหนึ่งในพันธุ์สัตว์น้ำ ‘เอเชียนสปีชีส์’ ที่สุดอันตราย เพราะมันจะกินสัตว์น้ำขนาดเล็กจนหมด และยังสามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สร้างความเสียหายให้กับแหล่งสัตว์น้ำตามแนวชายฝั่ง และกำลังทำลายระบบนิเวศอย่างรุนแรง จนภาครัฐคือกรมประมงต้องมีมาตรการที่จะเร่งรณรงค์ ‘กำจัดปลาหมอสีคางดำ’ กันทั้งในระดับจังหวัด และระดับประเทศ
กว่า 10 ปีที่ผ่านมา จากปัญหาที่ดูจะเกิดเฉพาะบางจุด แต่ลุกลามมาจนถึงระดับประเทศ นอกเหนือจากกรมประมงที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงแล้ว ก็ยัง ‘ไม่มีคำชี้แจงหรือปฎิกริยา’ ที่จะแสดงความรับผิดชอบใดจากกลุ่มซีพี
ถึงแม้ว่าหลายคนอาจจะคาดเดาได้ไม่ยากว่าปลาหมอสีคางดำที่หลุดรอดลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาตินั้นมาจากไหน แต่ทั้งหมดยังเป็น **‘ปริศนา’**ลึกลับที่ไร้คำตอบที่ชัดเจน
นอกเหนือจากงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ปลาหมอสีคางดำที่กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศไปแล้ว สิ่งที่น่าวิตกไปกว่านั้น กลุ่มซีพี ยังมีการซุ่มพัฒนาสายพันธุ์ ‘ปลาเก๋าหยก’ โดยหวังจะเป็นพันธุ์ปลาเศรษฐกิจอีกตัวหนึ่ง
‘ปลาเก๋าหยก’ เป็นพันธุ์ปลาที่อยู่ในสายพันธุ์เอเลียนสปีชีส์ของปลากะพง โดยซีพี มีการนำสายพันธุ์มาจากออสเตรเลีย ที่มีความอันตราย และน่ากลัวพอๆกับปลาหมอสีคางดำ คือมันจะกินสัตว์น้ำและพืชน้ำขนาดเล็กทุกอย่างเหมือนกัน
ซึ่งกลุ่มซีพี เคยนำมาเปิดตัวในงานเกษตรแฟร์ เมื่อต้นปีที่แล้ว แต่เมื่อมีคนสงสัยสอบถามไปยังกรมประมง กลุ่มซีพีจึงมีการพับแผน และชะลอการเปิดตัวออกไปโดยไม่มีกำหนด ทำให้ไม่นี่ใจว่ามีการพัฒาในเชิงพาณิชย์ หรือมีการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงไปถึงระดับไหน
ถึงแม้กลุ่มซีพีจะประสบความสำเร็จจากการเพาะพันธุ์ปลาทับทิมในเชิงเศรษฐกิจ แต่ความผิดพลาดที่ยังเป็น ‘ความลับดำมืด’ ที่ปล่อยให้มีการหลุดรอดไปในแหล่งน้ำธรรมชาติของปลาหมอสีคางดำที่กำลังไปรุกรานสร้างหายนะให้กับสัตว์น้ำอื่นๆ
น่าจะเป็นบทเรียนที่กลุ่มซีพี ควรจะต้องใช้ความระมัดระวังและเร่งชี้แจงรายละเอียดให้กับสังคม แทนที่จะปล่อยให้ทุกอย่างเป็นปริศนา และทำให้เกิดคำถามในเชิงลบกับกลุ่มซีพีจนตกเป็น ‘จำเลยสังคม’ อย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้...