แจก 10,000 บาท ‘วุ่น’ หาเงินแจกอีก 30 ล้านคน

6 ก.ย. 2567 - 02:30

  • ยังไม่มีท่าทีว่าจะจบแบบสวยงาม

  • เงินหมื่นดิจิทัล ทำต่อก็พัง ยกเลิกก็พัง

  • แจกกลุ่มแรกแล้ว ยังไม่รู้ว่าใช้เงินจากที่ไหนมาแจกกลุ่มสอง

deep-space--SPACEBAR-Hero.jpg

คณะรัฐมนตรีชุดสืบสันดาน หรือในเวอร์ชั่น ‘Family Cabinet’ ที่ถูกครอบครองโดยพ่อนายกฯ ‘อิ๊งค์’ แพทองธาร ชินวัตร เริ่มเดินเครื่องทำงานแล้ว แต่จะสามารถฝ่าวิกฤตศรัทธาที่ติดลบได้หรือไม่ ยังคงเป็นคำถามที่ท้าทาย ไม่เพียงตัวนายกฯแพทองธาร แต่ยังมีรัฐมนตรีอีกหลายๆ คนที่ได้มานั่งในตำแหน่งเพราะนามสกุล

โจทย์แรกที่รัฐบาล ‘อิ๊งค์ 1’ ต้องเร่งดำเนินการคือ การจัดทำนโยบายหลังจากเข้าถวายสัตย์ปฎิญาณตน โดยการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อนำนโยบายของแต่ละพรรคมา ‘มัดรวม’ เป็นนโยบายรัฐบาลเพื่อแถลงต่อรัฐสภาฯในราววันที่ 12-13 กันยายน และจะได้เริ่มประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์ถัดไป 

จุดขายที่สำคัญของรัฐบาลชุดนี้ คือการมุ่งเน้นในนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลักเพื่อหวังดึงฐานเสียงที่เริ่มเอาใจออกห่างให้กลับคืนมา โดยเฉพาะมาตรการเร่งด่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่เป็น ‘มรดาบาป’ สืบทอดมาตั้งแต่ รัฐบาลของอดีตนายกฯเศรษฐา ทวีสิน

โครงการดิจิทัลวอลเล็ต คือโครงการที่พ่อนายกฯ เจ้าของ ‘ไอเดีย’ มุ่งหวังที่จะเป็น ‘เรือธง’ หรือ ผลงานชิ้นโบว์แดงในการสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ที่คาดว่าจะติดตราตรึงใจชาวบ้านไปอีกนานแสนนาน เหมือนโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือกองทุนหมู่บ้าน 

แต่ดูทรงแล้วหลังจากโครงการนี้ ‘เดินไปซ้าย ไปขวา เดินหน้า ถอยหลัง’ อยู่เป็นปี มาถึงนาทีนี้หากกล้ารับความจริงก็ต้องยอมรับว่า มีแนวโน้มค่อนข้างสูงที่โครงการนี้เริ่ม ‘หมดสภาพ’ และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนจากเดิมจนไม่เหลือซาก ชนิดที่แทบไม่ตรงทั้งปกและเนื้อใน

สาเหตุก็เพราะค่อนข้างชัดเจนว่า รัฐบาล ‘ไม่มีเม็ดเงินเพียงพอ’ ที่จะแจกเงินหมื่นในรูปของดิจิทัลวอลเล็ตให้กับคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป และมีรายได้ไม่เกินเดือนละ 7 หมื่นบาท หรือ มีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 5 แสนบาท ที่คาดว่าจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 45 ล้านคนได้อย่างแน่นอน เนื่องจากต้องใช้เม็ดเงินสูงถึง 4.5 แสนล้านบาท

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา รัฐบาลของอดีตนายกฯเศรษฐา พยายามที่จะ ‘พลิกแพลง’ หาเม็ดเงินมาใช้ในโครงการนี้ในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การออกเป็น พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ติดประเด็นทางกฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง จนต้องหันกลับมาตั้งงบจากงบประมาณในปี 2567 ในวงเงินราว 1.65 แสนล้านบาท และ ในปีงบประมาณปี 2568 อีกราว 2.85 แสนล้านบาท

เพื่อให้ทันสิ้นปีงบประมาณ 2567 ในวันที่ 30 กันยายนนี้ รัฐบาลจึงตัดสินใจที่จะใช้วิธีการแจก**‘เงินสดเข้าบัญชีโดยตรง’**ให้กับกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการที่คาดว่ามีจำนวนราว 14.5 ล้านคน เป็นกลุ่มแรก โดยใช้เม็ดเงินจากงบประมาณกลางปี 2567 ที่ขอจัดสรรเพิ่มขึ้นมา 1.22 แสนล้านบาท และจากงบกลางบางส่วนมาสมทบ 

สำหรับกลุ่มที่อยู่ในข่ายจะได้รับสิทธิ์ที่เหลือ รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะใช้เม็ดเงินจากงบประมาณประจำปี 2568 ที่วางกรอบไว้ 285,000 ล้านบาท ซึ่งเดิมจะใช้จากงบกลางที่มีการตั้งเพิ่มจำนวน 152,700 ล้านบาท และ จากการบริหารงบประมาณอีกราว 132,300 ล้านบาท 

ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ จากการพิจารณาแปรญัตติปรับลดงบประมาณในวาระ 2-3 รัฐบาลสามารถปรับลดงบจากการลดการจ่ายหนี้คืนให้กับ 5 สถาบันการเงินภาครัฐได้เพียง 3.5 หมื่นล้านบาท แต่ไม่สามารถไปปรับลดงบประมาณจากหน่วยงานอื่นๆที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไปแล้ว เมื่อมารวมกับงบกลางที่ตั้งไว้เดิม 152,700 ล้านบาท ทำให้มีเม็ดเงินที่จะใช้ในโครงการนี้รวมกันเพียง 187,700 ล้านบาท

แต่จนถึงปัจจุบันคาดว่ามีคนลงทะเบียนของรับสิทธิ์ไปแล้วกว่า 30 ล้านคน หากหักคนกลุ่มเปราะบางซึ่งจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับแจกก่อนสิ้นเดือนกันยายนนี้จำนวน 14.5 ล้านคน ก็จะเหลือตกค้างอีกราว 15.5 ล้านคน และคาดว่ายังมีกลุ่มคนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนอีก 15 ล้านคน ที่กำลังรอลงทะเบียนรับสิทธิ์ในกลางเดือนนี้ รวมทั้งหมดจะมีคนอีกราว 30.5 ล้านคน ซึ่งต้องใช้เม็ดเงินถึง 305,000 ล้านบาท แต่มีเม็ดเงินเพียง 187,700 ล้านบาท 

รัฐบาลจึงยังคงขาดเม็ดเงินอีกราว 117,300 ล้านบาท ที่ยัง ‘ไม่มีทางออก’ และไม่รู้ว่าจะจัดสรรมาจากตรงไหน ถึงแม้จะสามารถอาศัยวิธีการโอนงบประมาณ ที่หลายๆรัฐบาลเคยนำมาใช้ ตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณปี 2502 มาตรา 18 แต่ก็คงไม่สามารถทำได้ทันที 

เนื่องจากปกติต้องรอให้มีการใช้งบประมาณไปแล้วอย่างน้อยครึ่งปีงบประมาณ และยังต้องนำเสนอเข้าสู่สภาฯเพื่อให้ความเห็นชอบ หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือการออกเป็น พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มอีกราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งทั้งสองวิธีต่าง ‘สุ่มเสี่ยง’ ที่จะกลายเป็นประเด็นถูกโจมตีทางการเมือง

จากเม็ดเงินที่มีเพียง 187,700 ล้านบาท จึงทำให้ต้องคิดหนักว่าจะเดินหน้าโครงการแจกเงินหมื่นต่อไปอย่างไร หากเดินหน้าต่อก็อาจจะต้องเฉลี่ยแจกให้คนกว่า 30.5 ล้านคนลดลง หรือ จะแจกเงินหมื่นเฉพาะบางกลุ่มโดยปรับเงื่อนไขใหม่ แต่ไม่ว่าจะเลือกแนวทางไหนก็สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นประเด็นถูกจับ ‘ขึงพืด’ ทางการเมืองเหมือนกัน

ยังไม่ต้องพูดถึงการ **‘ดันทุรัง’**ต่อในการแจกเงินหมื่นส่วนที่เหลือผ่านแอปพลิเคชั่น ให้ตรงตามเงื่อนไขเดิม ที่ต้องมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่น ในส่วนที่เป็นหัวใจคือระบบการชำระเงิน และระบบ Block Chain หลังบ้าน ที่จนป่านนี้ก็ ‘ยังไม่ได้เริ่มต้น’ ทำให้แทบไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะพัฒนาระบบทั้งหมดได้ทันสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน 

เมื่อทุกอย่างเดินมาถึงทางตัน จึงเป็นโจทย์ที่สุดท้าทายข้อแรก ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รอพิสูจน์ภาวะผู้นำของนายกฯหญิง อิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร ว่าจะทลายกำแพงที่ขวางอยู่ตรงหน้า เดินหน้า ‘ลุยไฟ’ ไปต่อ โดยไม่ต้องพึ่งพาพ่อนายกฯได้อย่างไร...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์