การเมืองร้อน กลางสายฝนสิงหาคม

5 ส.ค. 2567 - 02:30

  • ใกล้วันตัดสินคดีใหญ่ๆ ในเดือนสิงหาคม

  • ก้าวไกลแม้บอกว่าไม่ถูกยุบ แต่เตรียมแผนกู้ชีพไว้แล้ว

  • การถอดถอนนายกรัฐมนตรี มีแรงกระเพื่อมต่อเนื่อง ในพรรคร่วมรัฐบาล

deep-space-05082024-SPACEBAR-Hero.jpg

คอการเมืองกำลังเฝ้าจับตามองความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม อันเป็นช่วงเข้าพรรษาหน้าฝนแท้ๆ แต่อุณหภูมิทางการเมืองกลับร้อนผ่าว สวนทางกับสภาพอากาศที่เย็นฉ่ำ

โดยรหัสร้อนทางการเมืองเปลี่ยนจาก 7-14-22 ไปเป็น 7-14-31 แทน ซึ่งสองวันแรกยังคงเดิม ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำตัดสินคดียุบพรรคก้าวไกลและคดีถอดถอน เศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันพุธที่ 7 สิงหาคม และวันพุธที่ 14 สิงหาคม ตามลำดับ

แต่การ ‘พ้นโทษ’ ของ ทักษิณ ชินวัตร ได้ขยับจาก 22 สิงหาคม ออกไปเป็นวันที่ 31 สิงหาคม 

เหตุที่ต้องขยับออกไป เพราะเป็นการเข้าใจ ‘คลาดเคลื่อน’ นับวันผิดไปกล่าวคือ วันครบกำหนดโทษ 1 ปี ต้องนับจากวันได้รับพระราชทานอภัยโทษ ในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ไม่ใช่วันเข้ามารับโทษ วันที่ 22 สิงหาคม 2566 

ตรงนี้เลยทำให้เกิดเป็นคำถามตามมาว่า แล้วที่นับวันพักโทษในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น ถูกต้องด้วยหรือไม่ เพราะหากจะนับจำนวนวันรับโทษ 180 วัน ที่จะได้สิทธิการพักโทษ ก็ต้องยึดโยงเวลา 1 ปี  ที่นับจากวันได้รับพระราชทานอภัยโทษเช่นกัน

ทักษิณ ชินวัตร จึงเป็นตัวจุดประเด็นความร้อนแรงทางการเมืองขึ้นก่อนจะถึงเดือนสิงหาคมด้วยซ้ำ

ทั้งการขอเดินทางไปต่างประเทศ แต่ศาลไม่อนุญาต และเรื่องที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. สอบเอาผิดผู้เกี่ยวข้องปมนักโทษเทวดา เข้าพักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ตลอดเวลา 181 วัน อันเป็นการได้ ‘อภิสิทธิ์’ เหนือนักโทษคนอื่นๆ 

โดยเรื่องหลังสุดนี้จะเป็นชนักปักหลังเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องไปอีกนาน หากกระทำการทุจริตต่อหน้าที่

ถัดมาเป็นเรื่องการปรับครม.หลังการตัดสินคดีนายกฯ เศรษฐา ของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 14 สิงหาคม และการพ้นโทษของทักษิณ ในวันที่ 31 สิงหาคม ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ว่านายกฯ เศรษฐา จะรอดหรือไม่ก็ตาม แต่มีกระแส ‘โอกาสรอดสูง’

ดังนั้น จึงมีการเคลื่อนไหวเรื่องปรับครม.ขึ้นทั้งในพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่จะเข้ามาเสริมแกร่งให้รัฐบาล 314 เสียง เป็นรัฐบาล 335 เสียง โดยมีพรรคประชาธิปัตย์ ปีก เฉลิมชัย ศรีอ่อน เข้าร่วมรัฐบาลด้วย

การเข้ามาของพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้เกิดแรง ‘กระเพื่อม’ ขึ้นในพรรคเพื่อไทยในปีกภาคอีสาน เพราะต้องคายโควต้ามาหนึ่งเก้าอี้ให้กับประชาธิปัตย์ คือ มท.3 ของ ‘เกรียง กัลป์ตินันท์’ จึงเกิดปัญหา ‘คลื่นใต้น้ำ’ ขนาดเล็กๆ ขึ้นในพรรคเพื่อไทยเวลานี้ 

ส่วนประชาธิปัตย์ พรรคน้องใหม่ที่จะเข้าร่วมครม.เศรษฐา ตามข่าวจะได้ 2 คน 3 เก้าอี้ อีกสองเก้าอี้จะไป ‘ริบคืน’ จากพรรคพลังประชารัฐ ที่คนในกระกูล ‘วงษ์สุวรรณ’ นั่งควบอยู่สองเก้าอี้ คือ เก้าอี้รองนายกฯ กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)

ส่วนการได้กลับเข้าสภาอีกครั้งของ ‘ก่อแก้ว พิกุลทอง’ ที่เลื่อนลำดับขึ้นมาแทน ‘สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล’ ที่ลาออกไป เป็นที่รู้กันในพรรคเพื่อไทยว่า เป็นการเยียวยาความรู้สึกของคนเสื้อแดง ขณะที่สุดาวรรณ ที่ลาออกจาก สส.ย่อมได้รับการการันตีจากนายใหญ่เพื่อไทย ให้นั่งเป็นรัฐมนตรีไปแบบยาวๆ จนรัฐบาลครบเทอม

สุดท้ายพรรคก้าวไกล ที่ต่อสู้คดียุบพรรคแบบทุ่มสุดตัว ทั้งในศาล นอกศาล และใช้กลยุทธ์โลกล้อมประเทศด้วย เสมือนหนึ่งมีความมั่นใจว่า พรรคจะไม่ถูกยุบ แต่ลึกๆ แล้วเป็นที่รู้กันว่า ได้ ‘เตรียม’ ออกแบบรองรับสถานการณ์ใหม่เอาไว้รอแล้ว

ไม่เพียงพรรคใหม่ ‘ถิ่นกาขาวชาววิไล’ ที่จะเป็นศูนย์พักคอยทางการเมือง และ ‘ศิริกัญญญา ตันสกุล’ ที่จะมาเป็นแม่ทัพหญิงคนใหม่เท่านั้น แต่ยังซุ่มทำแผนรับการเลือกตั้งซ่อมสส.พิษณุโลก เขต 1 แทน ‘หมออ๋อง’ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ที่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนตุลาคมไว้แล้วด้วย

ทั้งหมดคือการเมืองร้อนๆ ที่ฝ่าสายฝนมา ในช่วงเดือนสิงหาคม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์