วันก่อนพรรคเพื่อไทย จับมือพรรคก้าวไกล ยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ต่อวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยขอแก้ไขใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1. แก้จากเสียงข้างมากสองชั้น ที่กำหนดให้ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงต้องมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และเสียงที่ได้รับความเห็นชอบ ต้องเกินครึ่งของผู้มาใช้สิทธิ โดยแก้เป็นเสียงข้างมากแบบธรรมดา หรือเสียงข้างมากชั้นเดียวแทน
2. ให้การออกเสียงประชามติ สามารถจัดทำไปพร้อมกับการเลือกตั้งที่จัดขึ้นในเวลาเดียวกันได้ เช่น การเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นต้น
3. ให้ลงคะแนนผ่านทางระบบออนไลน์ได้
นอกจากนั้น ยังมีสาระสำคัญอื่นๆ อาทิ การเปิดให้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ และแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่มีการออกเสียงประชามติได้ คงเป็นผลสืบเนื่องจากการจัดทำประชามติรัฐธรรมนูญปี2560 ในยุค **คสช.**ที่ห้ามไม่ให้มีการรณรงค์ในทางที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว
ทีนี้ปัญหาใหญ่ของการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2564 ของเพื่อไทยและก้าวไกล ที่ต้องการยกเลิกเสียงข้างมากสองชั้น เพื่อไม่ให้มีปัญหาต้องมา ‘ตกม้าตาย’ ในตอนท้าย อันเนื่องจากกังวลเสียงที่ออกมาใช้สิทธิและเห็นชอบจะไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เพราะวางเกณฑ์ไว้สูงเกินนั้น
หลังจากทั้งสองพรรคยื่นร่างแก้ไขไปแล้ว ได้มีการตั้งคำถามถึงวิธีการแก้ไขที่ยื่นผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นช่องทางการแก้ไขกฎหมายปกติ ทั้งๆ ที่ พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2564 เป็นกฎหมายปฏิรูป อยู่ในหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องพิจารณาพร้อมกันในที่ประชุมร่วมกันของสองสภา หรือรัฐสภา
จึงเกิดเป็นปุจฉาขึ้นว่า พรรคเพื่อไทยต้องการเล่นเกมกี่ชั้นกันแน่ ในการแก้กฎหมายยกเลิกเสียงข้างมากสองชั้น
ชั้นที่หนึ่ง พรรคเพื่อไทยรู้อยู่แล้วว่า สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขยกเลิกเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น เหตุผลเพราะตั้งแต่ประกาศใช้กฎหมายนี้มา ยังไม่ได้ถูกนำไปใช้เลย ทั้งเห็นว่าหลักเกณฑ์ที่วางไว้มีความเหมาะสมแล้ว เนื่องจากการทำประชามติในเรื่องสำคัญหรือที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด เช่น รัฐธรรมนูญ ต้องวางเกณฑ์ไว้สูงเพื่อเป็นหลักประกันความชอบธรรมให้กับผลประชามติที่ออกมา
ชั้นที่สอง แม้พรรคเพื่อไทย จะอ้างการปฏิรูปในหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญได้สิ้นสุดลงไปแล้วหลังครบ 5 ปี ดังนั้น การเสนอแก้ไข้ พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2564 จึงไม่ต้องเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาก็ตาม แต่ในส่วนของสว.เห็นว่า เมื่อวุฒิสภาชุดนี้ยังอยู่ การแก้ไขกฎหมายที่อยู่ในหมวดปฏิรูป ก็ยังต้องพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภาอยู่
เรื่องนี้หากพินิจให้ดีแล้ว จะเห็นว่าการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติครั้งนี้ ถ้าเพื่อไทยเลือกเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาในฐานะที่เป็นกฎหมายปฏิรูปทีเดียว จะทำให้ร่นเวลามีผลบังคับใช้ได้เร็วกว่า เพราะไม่ต้องผ่านทีละสภา และไหนจะต้องเสียเวลาตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภาขึ้นอีก หากสว.ไม่เห็นด้วย ซึ่งดูทรงแล้วยังไงสว.ก็คงไม่เอาด้วยแน่ๆ
ดังนั้น การยื่นแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2564 ของพรรคเพื่อไทย จึงถูกตั้งคำถามตามมาว่า ต้องการแก้ให้ทันหรือไม่ให้ทันการทำประชามติที่จะมีขึ้น หรือจะลากยาวไปเรื่อยๆ เหมือนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ที่ยังย่ำเท้าอยู่กับการศึกษาไม่รู้จบ
ตกลงพรรคเพื่อไทยจะเล่นเกมยื้อไปเสียทุกเรื่อง ไม่เว้นการแก้กฎหมายประชามติ เพื่อยกเลิกเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น จึงไม่รู้ว่าจะเล่นซ่อนหากันอีกกี่ชั้น!!