ชูศักดิ์ ศิรินิล นำ 122 สส.พรรคเพื่อไทย แถลงยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ไปตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม ด้วยเหตุผลต้องการนำเรื่องไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยซ้ำอีกรอบว่าต้องทำประชามติกี่ครั้งกันแน่
แต่ผ่านมาถึงวันนี้เรื่องยังเงียบกริ๊บ ไม่หือไม่อือ ว่าจะเอายังไงกัน เพราะตามขั้นตอนประธานรัฐสภา ต้องแจ้งเรื่องการบรรจุเข้าระเบียบวาระหรือไม่ภายใน 15 วัน ซึ่งทราบมาว่าฝ่ายกฎหมายของสภาได้สรุปไปตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมาแล้วว่า
ไม่ควรบรรจุร่างแก้ไขนี้เข้าสู่ระเบียบวาระพิจารณาของสภา
โดยยึดเหตุผลเดียวกับสภาชุดที่แล้วที่ ‘ชวน หลีกภัย’ ประธานรัฐสภาในขณะนั้น ก็ไม่บรรจุร่างลักษณะเดียวกันนี้เข้าสู่การพิจารรณาเช่นกัน เนื่องจากยึดตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรนูญ ที่ 4/2564 ที่ให้ไปสอบถามประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเสียก่อน
การยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของกลุ่มสส.เพื่อไทยครั้งนี้ แหล่งข่าวในคณะทำงานชุดศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติของรัฐบาล มองว่า น่าจะมีอะไรที่มากกว่าต้องการความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญเรื่องประชามติ โดยให้เหตุผลประกอบไว้หลายข้อ ได้แก่
1.เลือกเวลายื่นร่างแก้ไขในจังหวะที่คณะทำงานชุดศึกษาการทำประชามติ อยู่ระหว่างสรุปรายงานเสนอนายกรัฐมนตรีพอดี และภูมิธรรม เวชยชัย ประธานคณะทำงานชุดศึกษาฯ ก็พูดเปิดทางสามารถทำคู่ขนานกันไปได้
2.รู้อยู่แล้วว่าร่างที่เสนอไปนั้น มีโอกาสสูงจะไม่ได้รับการบรรจุเข้าระเบียบวาระจากเหตุผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
3.ร่างที่เสนอเข้าไปนั้น เป็นร่างเดิมที่สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตผู้นำฝ่ายค้านฯ และคณะเคยเสนอไปในสภาชุดที่แล้ว
ด้วยเหตุผลที่ว่ามา จึงทำให้ร่างแก้ไขฉบับนี้ของพรรคเพื่อไทย มีทั้งปัญหาวิธีการไม่ได้ทำตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ และเนื้อหาในร่างบางส่วนก็ถูกตั้งคำถาม ที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ไม่เห็นด้วย อาทิ ไปปรับเกณฑ์การแก้ไขจากเดิมที่ให้มีเสียง สว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ในวาระ 1 และวาระ 3 เป็นให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งเหมือนการพิจารณากฎหมายทั่วไปแทน
ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด มีศักดิ์สูงกว่ากฎหมายลูกและกฎหมายทั่ว ๆ ไป
ล่าสุดยังพบมีประเด็นใหญ่งอกเพิ่มเข้ามาในร่างอีก โดยให้ตัดทิ้ง (8) ในมาตรา 256 ที่กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ หลังการแก้ไขต้องจัดทำประชามติก่อนนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ
ไม่นับรวมเรื่องที่มา ส.ส.ร.จำนวน 200 คน ที่ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนร้อยเปอร์เซนต์ จึงไม่แปลกที่ทำไมมีคนในพรรคก้าวไกลออกมาส่งเสียงเชียร์ด้วยเต็มที่ แต่คนในคณะทำงานชุดศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติ กลับตั้งข้อสงสัยเสียเอง
นาทีนี้จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า พรรคเพื่อไทย ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ไปเพื่ออะไรกันแน่ แค่ต้องการพิสูจน์ในสิ่งที่ตัวเองมีความเชื่อมั่นเรื่องข้อกฎหมาย หรือว่ามีอะไรที่มากกว่านั้น
เรื่องนี้ต้องไปหาคำตอบจากคนในพรรคเพื่อไทยเอาเอง
แต่ตอนนี้ประธานรัฐสภาต้องตอบก่อนว่า หลังฝ่ายกฎหมายมีความเห็นไม่ให้บรรจุเรื่องเข้าระเบียบวาระแล้ว ทำไมถึงปล่อยให้เงียบ ล่องหนไปดื้อ ๆ แบบนี้