แผนการเมือง ‘ไฮแจ็ค’ การบินไทย ปะทะเดือด

12 ธ.ค. 2567 - 12:00

  • การบินไทยสู้ยิบตา ไม่ให้การเมืองเข้าครอบงำ

  • ธนาคารและเจ้าหนี้ร่วมมือโต้กลับ

  • ฝ่ายการเมืองที่คิดว่างานนี้ง่าย ต้องกลับไปทบทวนใหม่

Deep Space_Political plan to 'hijack' Thai Airways-SPACEBAR-Hero.jpg

แผนการเมือง ‘ไฮแจ็ค’ การบินไทย เดือด แบงก์กรุงเทพผนึกกำลังเจ้าหนี้หุ้นกู้สหกรณ์ฯ ยื่นคัดค้านมติเพิ่ม 2 ตัวแทนภาครัฐนั่งผู้บริหารแผนเพิ่มเติม ศาลล้มละลายกลางนัดชี้ขาด 21 มกราคม ปีหน้า ในขณะที่ CEO การบินไทย เสนอปลดตัวแทนกระทรวงการคลัง พ้นจากตำแหน่งกรรมการเจ้าหนี้หลังแปลงหนี้เป็นทุนเรียบร้อยแล้ว

ความพยายามในการสกัดกั้นการกลับเข้ามามีบทบาทของฝ่ายการเมืองและภาครัฐในการบินไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปรับปรุงการดำเนินงานหลายๆ อย่าง เพื่อออกจากแผนฟื้นฟูกิจการไปสู่สถานภาพปกติ และกลับเข้าไปเป็นหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยใหม่อีกครั้งในราวกลางปี 2568 ยังคงต้องมีการต่อสู้กันอย่างเข้มข้น

ล่าสุดในวันนี้ (12 ธันวาคม 2567) ‘ศาลล้มละลายกลาง’ มีกำหนดนัดไต่สวน กรณีเจ้าหนี้การบินไทยรวม 9 ราย ‘ยื่นคำร้องคัดค้าน’ มติที่ประชุมเจ้าหนี้แก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะในมติสำคัญที่ต้องการเพิ่มตัวแทนจากภาครัฐอีก 2 คน ให้มานั่งเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ

ก่อนหน้านี้ ในการประชุมเจ้าหนี้ของการบินไทยในรูปแบบออนไลน์ มีการลงเสียงผ่านมติให้เพิ่มผู้บริหารแผนจากภาครัฐอีก 2 คน คือ ‘พลจักร นิ่มวัฒนา’ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จากกระทรวงการคลัง และ ‘ปัญญา ชูพานิช’ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการขนส่ง (สนข.) จากกระทรวงคมนาคม 

ซึ่งจะทำให้คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูในช่วงสุดท้ายจะมีตัวแทนจากภาครัฐถึง 3 ใน 5 คน จากเดิมที่มี 3 คน คือ ปิยสวัสดิ์ อมระนันท์, ชาญศิลป์ ตรีนุชกร และตัวแทนจากกระทรวงการคลัง พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) 

ผลโหวตที่ออกมาปรากฏว่า ตัวแทนจากฝั่งเจ้าหนี้ที่มาจากกระทรวงการคลังและภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ โหวตรับข้อเสนอการเพิ่มตัวแทนภาครัฐเพิ่มอีกสองคน ด้วยมีมูลหนี้รวมกัน 54,210 ล้านบาท ในขณะที่ตัวแทนเจ้าหนี้จากกลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสหกรณ์ฯ โหวตไม่รับข้อเสนอ คิดเป็นมูลหนี้รวมกัน 53,341 ล้านบาท หรือเท่ากับ 50.4% ต่อ 49.6% ซึ่งชนะกันชนิดต้องถ่ายรูปตัดสิน คือ เพียง 0.4% จากมูลหนี้ทั้งหมด 107,552 ล้านบาท

ตัวแทนในฝั่งเจ้าหนี้รวม 9 ราย ซึ่งมีเจ้าหนี้รายใหญ่ 6 ราย ที่นำโดย ธนาคารกรุงเทพ สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจำกัด สหกรณ์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขสุราษฎร์ธานี จำกัด และสหกรณ์ออมทรัพย์องค์การเภสัชกรรม จำกัด และ สหกรณ์ออมทรัพย์ป่าไม้ รวมทั้งรายย่อยอีก 3 ราย ประกอบด้วย เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, กิติมา สีตลกาญจน์ และธนายุส โฆสิตสกุล 

ยื่นคัดค้านมติดังกล่าว โดยขอให้มีการตีความสถานะของกระทรวงการคลังว่าสามารถใช้สิทธิ์โหวตในฐานะเจ้าหนี้หรือไม่

ตัวแทนในฝั่งเจ้าหนี้หุ้นกู้ทั้ง 9 ราย มีความเห็นว่ากระบวนการแปลงหนี้เป็นทุนที่กระทรวงการคลังยอมแปลงหนี้เป็นทุนน่าจะเสร็จสิ้นไปตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน เมื่อมีการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูฯ และการบินไทยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระของบริษัทไปแล้ว แต่ปรากฏว่ากระบวนการกลับไม่แล้วเสร็จ โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลังได้มีหนังสือถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้าขอให้ชะลอการจดทะเบียนไว้หลังการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา 

หากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินการตามคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของการบินไทย ก็จะมีผลทำให้กระทรวงการคลัง ‘ไม่มีสถานะ’ เป็นเจ้าหนี้การบินไทย และกลายเป็นผู้ถือหุ้นเนื่องจากแปลงหนี้ทั้งหมดเป็นทุนแล้ว ทำให้ไม่มีสิทธิในการโหวตแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ จนสามารถส่งตัวแทนเข้ามานั่งในทีมผู้บริหารแผนฯ ได้ 

นอกจากนี้ ยังพบว่าการนับสิทธิออกเสียงของเจ้าหนี้กลุ่มอื่นๆอาจไม่ถูกต้องตามจำนวนหนี้คงเหลือ

เนื่องจากเจ้าหนี้กลุ่มดังกล่าวได้รับการชำระหนี้จากการ ‘แปลงหนี้เป็นทุน’ ไปแล้วเช่นเดียวกันกระทรวงการคลัง จึงขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนมติที่ประชุมเจ้าหนี้ในวันดังกล่าว และสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการนับสิทธิออกเสียงใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย

หลังจากศาลรับฟังคำแถลงด้วยวาจา และซักถามรายละเอียดจากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี จึงมีข้อสรุปขอให้ทั้งฝ่ายคัดค้านและฝ่ายสนับสนุนทำเอกสารมีชี้แจงเพื่อประกอบการพิจารณา โดยนัดชี้ขาดตัดสินในเรื่องดังกล่าวในวันที่ 21 มกราคมปี 2568 

ขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่ง การบินไทยมีการออกจดหมายไปถึงคณะกรรมการเจ้าหนี้บริษัทการบินไทย ระบุถึงการแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนของเจ้าหนี้กลุ่มต่างๆตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ โดยในส่วนของกระทรวงการคลัง ได้มีการชำระหนี้ครบถ้วน และแปลงหนี้เป็นทุนเรียบร้อยแล้ว จึงทำให้กระทรวงการคลัง พ้นจากตำแหน่งกรรมการเจ้าหนี้ของบริษัท

Deep Space_Political plan to 'hijack' Thai Airways-SPACEBAR-Photo V01.jpg

ก่อนหน้านี้ตัวแทนของกรรมการเจ้าหนี้ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ‘ธิบดี วัฒนกุล’ เป็นประธาน และมีรองประธานเป็นตัวแทนจากธนาคารกรุงเทพ โดยมีกรรมการที่เหลือจากธนาคารออมสิน สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำกัด  และบริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวว่าการบินไทยเตรียมที่จะ ‘ยื่นฟ้อง’ นายทะเบียน พนักงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จากการชะลอการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ของบริษัท ที่ส่งผลเสียหายแก่บริษัทที่ต้อง มีภาระจ่ายดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้กระทรวงการคลังถึงวันละราว 2 ล้านบาท

การบินไทยกลับมาเป็นที่หมายตาอีกครั้งจากฝ่ายการเมือง หลังจากประสบความสำเร็จในการดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กร และการดำเนินงานในหลายๆ ด้าน ในรูปแบบเอกชนเต็มตัว จนทำให้ผลประกอบการและฐานะทางการเงินของการบินไทยดีขึ้นอย่างมากจนเริ่มกลับมาทำกำไร

ผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับบรรดาเจ้าหนี้ทั้ง 36 กลุ่ม ในการทำแผนในการชำระหนี้ และแปลงหนี้เป็นทุน พร้อมทั้งการเพิ่มทุนใหม่ได้ตามแผน และคาดว่าจะสามารถนำการบินไทยกลับเข้าไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ใหม่ในราวกลางปีหน้า

ตามแผนปรับโครงสร้างในส่วนทุนของการบินไทย นอกจากจะมีการลดทุนแปลงหนี้เป็นทุนและเพิ่มทุนใหม่ ซึ่งหากไม่ถูกการเมืองแทรกแซง การบินไทยจะยังคงมีสถานะเป็นภาคเอกชนเต็มตัว และน่าจะปลอดจากอิทธิพลของฝ่ายการเมืองไปได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากหลังการขายหุ้นเพิ่มทุนเสร็จสิ้น ตามโครงสร้างการถือหุ้นของ ‘การบินไทย’ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญและไม่กลับเข้าไปสู่การเป็นรัฐวิสาหกิจใหม่อีกครั้ง

จากเดิมที่
กระทรวงการคลังถือหุ้น 47.9% 
รัฐวิสาหกิจ 2.1%
กองทุนวายุภักษ์ 7.6%
ผู้ถือหุ้นเดิม 42.4%

แต่ตามโครงสร้างใหม่ 
กระทรวงการคลังจะถือหุ้นลดลงเหลือเพียง 33.4%
รัฐวิสาหกิจ 4.1%
กองทุนวายุภักษ์ 2.8%
ผู้ถือหุ้นเดิมอีก 2.8% 

โดยมี เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูฯ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ราว 44.3% และมีผู้ถือหุ้นเดิม พนักงานและบุคคลในวงจำกัด ที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนอีก 12.6%

ถึงแม้การบินไทยจะไม่มีโอกาสกลับไปสู่ฐานะรัฐวิสาหกิจ แต่ดูเหมือนฝ่ายการเมืองก็ยังต้องการกลับเข้าไปมีบทบาทแทรกแซงการดำเนินงานของการบินไทย โดยการยืมมือของข้าราชการในการเข้ามาครอบครองและครอบงำการบินไทยเข้าไปมีอิทธิพลและครอบงำในฐานะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ในช่วงสุดท้าย เพื่อหวังจะเข้าไป ‘คอนโทรล’ เกม ในกระบวนการขั้นต่อไป โดยเฉพาะการแต่งตั้งบอร์ด หรือคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ ที่ฝ่ายการเมืองต้องการส่งคนไปนั่งในบอร์ดการบินไทยยุคใหม่

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์