ปล้นกลางอากาศ รุมทึ้ง ‘การบินไทย’

2 ธ.ค. 2567 - 02:30

  • การบินไทยก็ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากการเมืองได้

  • ปล้นกลางอากาศกับการบินไทยเกิดขึ้นอีกครั้ง

  • จับตาดูการเปลี่ยนแปลง และการเข้าครอบงำการบินไทย

Deep Space_ปล้นการบินไทย-SPACEBAR-Hero.jpg

ไม่น่าเชื่อว่าหลังจาก สายการบินไทย ‘เอื้องหลวง’ ของไทย ต้องผ่านอุปสรรคขวางหนามและความเจ็บปวด จากการยอมตัดสินใจเลือกเส้นทางเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคมปี 2565 ในสภาพที่เหมือนโดน ‘สลัดอากาศ’ ในคราบนักการเมืองและรัฐราชการจี้ไปไป ‘ปล้นและข่มขืน’ จนสภาพย่อยยับแทบไม่เหลือชิ้นดี

แต่เมื่อมาถึงวันที่ได้นายแพทย์ใหญ่ฝีมือดีเข้ามาผ่านตัดจนมีสภาพสามารถลุกกลับขึ้นมายืนได้ใหม่อีกครั้ง และกำลังเตรียมที่จะทะยานขึ้นบินไปสู่ขอบฟ้าแห่งความภาคภูมิใจ ‘Fly for The New Pride’ เหตุการณ์เลวร้ายแบบเดิมกำลังจะย้อนรอยกลับมาอีกรอบ !!!

หลังจากถูกลากเข้าห้อง ‘ไอซียู’ อยู่ในอู่ซ่อม โดยทีมบริหารแผนฟื้นฟูกิจการฯต้องผ่าตัดใหญ่ ถึงขั้นยอมเสียสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตจนรอดกลับมา โดยใช้เวลาฟื้นฟูกิจการมากว่า 3 ปี 

แต่มาถึงวันนี้ การบินไทยกำลังจะถูกรัฐบาล ‘สืบสันดาน’ ที่มีตัวละครคือนักการเมืองหน้าเดิมๆและคนในรัฐราชการที่เคย ‘ย่ำยี’ การบินไทย ‘สุมหัว’ และวางแผนร่วมกันในการจะ ‘ไฮแจ็ค’ ปล้นกลางอากาศ บังคับให้การบินไทยต้องเปลี่ยนเส้นทาง ‘ตีวง’ บินกลับเข้าไปสู่เส้นทางที่ต้องฝ่าพายุร้ายใหม่อีกครั้ง

กลุ่มสลัดอากาศที่กำลังวางแผน ‘ไฮแจ็ค’ การบินไทยในคราวนี้ มีการเดินเกมเพื่อเข้ายึดการบินไทยอีกครั้งอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แต่เชื่อว่าปฏิบัติการในครั้งนี้อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จอย่างง่ายดายเหมือนที่ผ่านมา

เพราะทั้งนักบิน ลูกเรือและผู้โดยสารบนเครื่องต่างมีบทเรียนที่แสนเจ็บปวด และพยายามร่วมแรงร่วมใจกันในการหาหนทางสกัดกั้นและทำลายแผนนี้กันอย่างสุดกำลัง โดยมีภาคประชาชนที่พร้อมจะให้การสนับสนุนในการต่อสู้ 

ความจริงแผนร้ายขั้นแรกเริ่มก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่รัฐบาลของอดีตนายกฯ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ที่เริ่มรุกคืบกลับเข้ามามีบทบาทในการบินไทยในยุคฟื้นฟูฯ โดยอาศัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ตุลาคมเมื่อปีที่แล้ว 

แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาการบินไทยขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยมี ‘เดอะซัน’ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เป็นประธาน พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายคน โดยมีอำนาจหน้าที่ในการติดตาม กำกับดูแล และให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาต่างๆให้กับการบินไทย

‘เดอะซัน’สุริยะที่กลับมานั่งเก้าอี้ รมว.คมนาคมอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเคยสร้าง ‘บาดแผล’ ให้กับการบินไทยในการเข้ามาล้วงลูกเกี่ยวกับการดำเนินงานในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการจัดซื้อเครื่องบินที่นำมาซึ่งความเสียหายอย่างหนักให้กับการบินไทยเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว โดยเขาแสดงท่าทีชัดเจนแบบไม่ปิดบังอำพรางว่าต้องการกลับเข้ามามีบทบาทในการบินไทย และอยากเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ 

โดยเฉพาะการเพิ่มทุนของการบินไทย และการลงทุนจัดซื้อ ‘ฝูงบิน’ ใหม่ ซึ่งการบินไทยมีแผนในปี 2576 จะมีฝูงบินรวมจำนวนถึง 150 ลำ

การบินไทยกลับมาเป็นที่หมายตาอีกครั้งจากฝ่ายการเมือง หลังจากทีมงานบริหารแผนฟื้นฟูฯ 3 คนที่มี ‘ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์’, ‘ชาญศิลป์ ตรีนุชกร’ และ ตัวแทนจากกระทรวงการคลัง ‘พรชัย ฐีระเวช’ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประสบความสำเร็จในการดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กร และการดำเนินงานในหลายๆด้าน ในรูปแบบเอกชนเต็มตัว จนทำให้ผลประกอบการและฐานะทางการเงินของการบินไทยดีขึ้นอย่างมากจนเริ่มกลับมาทำกำไร

ในเวลาเดียวกัน ยังสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับบรรดาเจ้าหนี้ทั้ง 36 กลุ่ม ในการทำแผนในการชำระหนี้ และแปลงหนี้เป็นทุน พร้อมทั้งการเพิ่มทุนใหม่ ซึ่งตามแผนคาดว่าจะสามารถนำการบินไทยกลับเข้าไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ใหม่ในราวกลางปีหน้า

ตามแผนปรับโครงสร้างในส่วนทุนของการบินไทย นอกจากจะมีการลดทุนแปลงหนี้เป็นทุนและเพิ่มทุนใหม่ ซึ่งหากไม่ถูก ‘การเมืองแทรกแซง’ การบินไทยจะยังคงมีสถานะเป็นภาคเอกชนเต็มตัว และน่าจะปลอดจากอิทธิพลของฝ่ายการเมืองไปได้ระดับหนึ่งเนื่องจากหลังการขายหุ้นเพิ่มทุนเสร็จสิ้น 

ตามโครงสร้างการถือหุ้นของ ‘การบินไทย’ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญและไม่กลับเข้าไปสู่การเป็นรัฐวิสาหกิจใหม่อีกครั้ง

จากเดิมที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 47.9% 
รัฐวิสาหกิจ 2.1% 
กองทุนวายุภักษ์ 7.6% 
ผู้ถือหุ้นเดิม 42.4% 

แต่ตามโครงสร้างใหม่ 
กระทรวงการคลังจะถือหุ้นลดลงเหลือเพียง 33.4% 
รัฐวิสาหกิจ 4.1% 
กองทุนวายุภักษ์ 2.8% 
ผู้ถือหุ้นเดิมอีก 2.8% 

โดยมี เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูฯ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ราว 44.3% และมีผู้ถือหุ้นเดิม พนักงานและบุคคลในวงจำกัด ที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนอีก 12.6%

ถึงแม้การบินไทยจะไม่มีโอกาสกลับไปสู่ฐานะรัฐวิสาหกิจ แต่ดูเหมือนฝ่ายการเมืองก็ยังต้องการกลับเข้าไปมีบทบาทแทรกแซงการดำเนินงานของการบินไทย โดยการยืมมือของข้าราชการในการเข้ามาครอบครองและครอบงำการบินไทยเข้าไปมีอิทธิพลและครอบงำในฐานะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯในช่วงสุดท้าย เพื่อหวังจะเข้าไป ‘คอนโทรล’ เกม ในกระบวนการขั้นต่อไป โดยเฉพาะการแต่งตั้งบอร์ด หรือคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ ที่ฝ่ายการเมืองต้องการส่งคนไปนั่งในบอร์ดการบินไทยยุคใหม่

แผนขั้นที่สอง คือการเสนอวาระประชุมในกลุ่มเจ้าหนี้การบินไทย ให้ลงเสียงผ่านมติให้เพิ่มผู้บริหารแผนจากภาครัฐอีก 2 คน คือ ‘พลจักร นิ่มวัฒนา’ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จากกระทรวงการคลัง และ ‘ปัญญา ชูพานิช’ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการขนส่ง (สนข.) จากกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะทำให้คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูในช่วงสุดท้ายจะมีตัวแทนจากภาครัฐถึง 3 ใน 5 คน 

ในการประชุมเจ้าหนี้ที่จัดขึ้นแบบออนไลน์เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ซึ่งเลื่อนมาจากวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากถูกแรงต้านจากกลุ่มเจ้าหนี้บางกลุ่มและพนักงานการบินไทย ผลปรากฏว่า 

ตัวแทนจากฝั่งเจ้าหนี้ที่มาจากกระทรวงการคลังและภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ โหวตรับข้อเสนอการเพิ่มตัวแทนภาครัฐเพิ่มอีกสองคน ด้วยมีมูลหนี้รวมกัน 54,210 ล้านบาท ในขณะที่ตัวแทนเจ้าหนี้จากกลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสหกรณ์ฯ โหวตไม่รับข้อเสนอ คิดเป็นมูลหนี้รวมกัน 53,341 ล้านบาท หรือเท่ากับ 50.4% ต่อ 49.6% ซึ่งชนะกันชนิดต้องถ่ายรูปตัดสิน คือ เพียง 0.4% จากมูลหนี้ทั้งหมด 107,552 ล้านบาท

ผลโหวตที่อออกมา ถึงแม้จะ ‘ช็อก’ ความรู้สึก และสร้างความวิตกให้กับพนักงานการบินไทยทั้งที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันและอดีตพนักงาน เพราะเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณการกลับมาแทรกแซงการบินไทยของนักการเมืองที่อาจจะเข้ามาแสวงผลประโยชน์และนำพาไปสู่การล่มสลายอีกครั้ง แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่ใช่บทสรุปสุดท้าย เนื่องจากยังมีข้อต่อสู้ที่ทำให้อาจต้องมีการตีความเกี่ยวกับสถานะของกระทรวงการคลังว่ามีสิทธิ์โหวตในฐานะเจ้าหนี้หรือไม่

ปัญหาที่ทำให้ต้องมีการตีความ เนื่องจากในการโหวตรับรองข้อเสนอของกระทรวงการคลังในการแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯเพิ่มจากอีก 2 คน ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป 

มีคำถามว่ากระทรวงการคลังสามารถโหวตในฐานะเจ้าหนี้หรือไม่ เพราะกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุนควรจะเสร็จสิ้นไปตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน หลังจากการบินไทยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของบริษัท เมื่อมีการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูฯ

แต่ปรากฏว่ากระบวนการกลับไม่แล้วเสร็จ โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลังได้มีหนังสือถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้าขอให้ชะลอการจดทะเบียนไว้หลังการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา 

หากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินการตามคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของการบินไทย ก็จะมีผลทำให้กระทรวงการคลังไม่มีสถานะเป็นเจ้าหนี้การบินไทย และกลายเป็นผู้ถือหุ้นเนื่องจากแปลงหนี้ทั้งหมดเป็นทุนแล้ว ‘ทำให้ไม่มีสิทธิ’ ในการโหวตแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ จนสามารถส่งตัวแทนเข้ามานั่งในทีมผู้บริหารแผนฯได้ 

มีกระแสข่าวว่าการบินไทยเตรียมที่จะ ‘ยื่นฟ้อง’ นายทะเบียน พนักงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันส่งผลเสียหายแก่บริษัท ขณะเดียวกันตัวแทนเจ้าหนี้กลุ่มสหกรณ์บางรายก็กำลังจะยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อคัดค้านและขอให้มีการไต่สวนพิเศษเพื่อยกเลิกมติดังกล่าวในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ 

ก่อนหน้านี้การบินไทยเพิ่งมีการปรับโครงสร้างทุน เปิดให้เจ้าหนี้ใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีการการแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการแบบภาคบังคับเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) คิดเป็นมูลค่า 37,601.9 ล้านบาท โดยได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 14,773.7 ล้านหุ้น โดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 หรือกระทรวงการคลัง แปลงหนี้ตามสิทธิ 100% เป็นทุน ในขณะที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 และ กลุ่มที่ 6 สถาบันการเงิน และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ ยินยอมอปลงหนี้เป็นทุนในอัตรา 25%

ขณะเดียวกันมีเจ้าหนี้ที่ยินยอมเพิ่มทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) เป็นจำนวน 4,911.2 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 12,500.1 ล้านบาท และยอมใช้สิทธิแปลงดอกเบี้ยตั้งพักใหม่เป็นทุนมูลค่า 3,351.2 ล้านบาท

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุน และเสนอขายให้กับบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ที่ราคาหุ้นละ 4.48 บาท ในระหว่างวันที่ 6-12 ธันวาคมนี้ 

นอกเหนือจากความพยายามเพิ่มตัวแทนภาครัฐเข้ามาอยู่ในคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯแล้ว แผนการขั้นต่อไปของฝั่งการเมืองยังมีความพยายามที่จะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นขอกระทรวงการคลังในบริษัทการบินไทย โดยในการประชุม ครม.สัญจรที่เชียงใหม่ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเสนอ ‘วาระลับ’ ขอเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในบริษัทการบินไทย

รองนายกฯ และ รมว.คลัง ‘พิชัย ชุณหวชิร’ ได้ขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในการให้ ‘กองทุนวายุภักษ์’ เข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนราว 4,000 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 4.48 บาท เพื่อให้มีสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐรวมกันราว 40% โดยมีเป้าหมายที่จะยังคงถือหุ้นใหญ่ในการบินไทย และมีสิทธิ์ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่และมีตัวแทนเข้าไปนั่งเป็นกรรมการบริษัท 

ต้องยอมรับว่า บทเรียนที่แสนเจ็บปวดจากในอดีต ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบินไทย เกิดความรู้สึก ‘ไม่เชื่อใจ’ ฝ่ายการเมือง และหากยังฝืนที่หวังจะเข้าไปแทรกแซง เพื่อหวังหาผลประโยชน์ใหม่อีกครั้ง อาจทำให้ปฎิบัติการ ‘ไฮแจ็ค’ ครั้งนี้จบลงด้วย ‘โศกนาฎกรรม’ ที่เลวร้ายก็เป็นได้...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์