ศึกชิงประธาน สอท. ทุนพลังงานEA แย่งเก้าอี้ SME

1 มี.ค. 2567 - 09:19

  • เก้าอี้ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กำลังจะเปลี่ยนมือ

  • ตัวเต็งที่ทุกสำนักให้ชื่อ และฟันธงมาก็คือ สมโภชน์ อาหุนัย แห่ง EA

  • ส่วนคู่แข่ง ถ้าจะกลับมาพลิกล็อก นั่งเก้าอี้นี้ได้หรือไม่ รอวันเลือกตั้ง

Deep Space-EA-SPACEBAR-Hero.jpg

ชื่อของสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ CEO บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA มักจะตกเป็นข่าวความเคลื่อนไหวในด้านธุรกิจพลังงานทางเลือก หรือเมื่อมีการจัดอันดับมหาเศรษฐีประจำปี เพราะชื่อของเขาจะติดอยู่ในอันดับต้นๆจากมูลค่าสินทรัพย์ระดับแสนล้านบาท

แต่ครั้งนี้อาจจะเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายสำหรับคนในแวดวงธุรกิจพอสมควร เมื่อสมโภชน์ลุกขึ้นมาประกาศตัวชิงตำแหน่ง ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ สอท. ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรหลักของภาคธุรกิจ นอกเหนือจาก สภาหอการแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาธุรกิจตลาดทุน ที่มารวมตัวกันในนามของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน หรือ กกร. 

เก้าอี้นี้มีบทบาทสำคัญสำหรับแวดวงอุตสาหกรรมไทย ในการนำเสนอนโยบายสำคัญไปยังรัฐบาล ผ่านบทบาทคณะกรรมการ ทั้ง คณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน (กรอ.) และ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)

ที่ผ่านมานอกเหนือจากบริหารกิจการของ EA จนก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจด้านพลังงานทางเลือกรายใหญ่ที่สุดของไทยแล้วสมโภชน์เองยังเข้าไปนั่งในตำแหน่งรองประธานสภาอุตสาหกรรมฯมาแล้วสองสมัย

การโดดเข้าร่วมชิงเก้าอี้ประธานสภาอุตสาหกรรมฯคนที่ 17 วาระปี 2567-2569 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 25 มีนาคมนี้ ถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ ไม่เพียงเพราะมีชื่อของสมโภชน์เป็นคู่ชิง แต่ยังเป็นเรื่องไม่ปกติที่จะมีการชิงตำแหน่งจาก ‘เกรียงไกร เธียรนุกูล’ ที่เพิ่งมานั่งในตำแหน่ง ประธาน สอท. เพียงวาระแรก และเสนอตัวนั่งต่ออีกหนึ่งวาระตามธรรมเนียมปกติ ที่จะให้นั่งเก้าอี้ได้อีกสมัย เพื่อให้เกิดการทำงานต่อเนื่อง  4 ปี

สมโภชน์ บอกเหตุผลในการตัดสินใจในคราวนี้ว่า เนื่องจากต้องการผลักดันแนวคิดในการทำงานเชิงรุกเพื่อทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยการช่วยภาคอุตสาหกรรมที่โดนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงหลายๆด้าน และสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เป็นดาวรุ่ง โดยเน้นการทำงานที่สอดรับกับทิศทางและนโยบายของรัฐบาล

เขาบอกว่าตอนนี้ถือว่าเป็นจังหวะสำคัญจะรอไม่ได้อีกแล้วเพราะเศรษฐกิจไทยไม่ดี เหมือนคนเป็นมะเร็งระยะที่ 1 ต้องรีบแก้ ถ้าปล่อยไปถึงระยะที่ 4 อาจแก้ไม่ทัน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่สมโภชน์ตัดสินใจไม่รอไปอีกวาระหนึ่งจึงลงสมัคร

สมโภชน์ยืนยันว่าไม่ต้องการสร้างความขัดแย้ง และยังเคารพประธานเกรียงไกรเหมือนเดิม แต่เพราะต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่าเป็นจังหวะที่ต้องเปลี่ยน จึงไม่อยากต้องรออีกถึงสองปี 

ปัจจุบันสมโภชน์อายุ 57 ปี เขาเกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง แต่สนใจด้านอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่เด็ก เรียนระดับมัธยมศึกษาที่เซนต์คาเบรียล จบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไปต่อปริญญาโทด้านธุรกิจที่ มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก สหรัฐฯ

หลังเรียนจบช่วงแรกยังไม่มีธุรกิจอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมากนัก แต่จุดเปลี่ยนน่าจะเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 สมโภชน์เข้าซื้อบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า และต่อมาราวปี 2549 เขาก่อตั้ง บริษัทซันเทคปาล์มออยล์ ขึ้นมา ซึ่งหลังจากนั้นมีการเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai มาตั้งแต่ปี 2556 และย้ายเข้ามาตลาดหลักทรัพย์ SET ในปี 2560

ในช่วงนั้นเป็นจังหวะเวลาของการก้าวกระโดดที่สำคัญของ EA หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านพลังงานของไทยที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกมากขึ้น ทำให้หุ้นของ EA มีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.3 แสนล้านบาท ณ ราคาปัจจุบัน  

โรงไฟฟ้า EA เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลม รุ่นแรกๆ ที่ได้รับเงินอุดหนุนจากการไฟฟ้านครหลวง ( กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่เรียกว่า ค่า Adder  สูงมาก  หน่วยละประมาณ 3- 5 บาท ตามนโยบายส่งเสริมพลังงานทางเลือก เมื่อบวกกับค่าไฟฐานแล้ว ค่าไฟจากพลังงานลม จะสูงเกือบ 10 บาทต่อหน่วย

ปีหนึ่งๆ กฟน. และ กฟภ. ต้องจ่ายค่า adder ให้กับEA และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท เป็นต้นทุนที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับโดยไม่รู้ตัว ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ผู้ประกอบการอย่าง EA มีรายได้แน่นอน บางบี กว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ มาจากค่า adder

ปัจจุบัน การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ไม่มีค่า adderแล้ว คณะกรรมการ กำกับกิจการพลังงาน จะคัดเลือกจากผู้ประกอบการที่เสนอขายไฟในราคาที่ กกพ.กำหนด สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า เทคโนโลยี ความพร้อมในการผลิตได้ทันตามกำหนดที่ต้องจ่ายไฟเข้าระบบ 

การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบล่าสุด โรงไฟฟ้าเทพสถิต วินด์ฟาร์มของอีเอ ไม่ผ่านการพิจารณา ทำให้ EA ฟ้องศาลปกครองเพชรบุรี และขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวระงับ การรับซื้อไฟฟ้าล็อตนั้นไว้ก่อน

ไม่รู้ว่า เป็นเพราะเรื่องนี้ หรือเปล่าที่มีส่วนให้สมโภชน์ ซึ่งด้วยขนาด และรายได้ของกิจการต้องถือว่า เป็นทุนใหญ่ ต้องกระโดดลงมาแข่งกับ ‘เกรียงไกร เธียรนุกูล’ ประธานคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ SME 

การเลือกตั้ง กรรมการสภาอุตสาหกรรมฯ จะเกิดขึ้นในวันที่ 25 มีนาคมนี้ ก่อนที่จะให้กรรมการไปเลือกประธานสภาอีกครั้งหนึ่ง โดยกรรมการที่มีสิทธิลงคะแนน ประกอบด้วย 
1. กรรมการที่มาจากการเลือกตั้ง
2. กรรมการแต่งตั้งจากกลุ่มอุตสาหกรรม 46 กลุ่มอุตสาหกรรม
3. กรรมการแต่งตั้งจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 76 จังหวัด

คู่แข่งของ สมโภชน์คือ เกรียงไกร ที่มานั่งในตำแหน่ง ประธาน สอท. วาระแรก 2565-2567 และเสนอตัวนั่งต่ออีก 1 วาระ ซึ่งตามธรรมเนียมปกติมักจะไม่มีใครเสนอตัวแข่ง แต่รอบนี้คงไม่ง่ายเสียแล้ว เมื่อผู้ท้าชิงคือ สมโภชน์ EA

ลำพังชื่อชั้นของสมโภชน์ก็แทบจะ ‘แบเบอร์’ อยู่แล้ว แต่มีกระแสข่าวว่าสมโภชน์ยังได้แรงหนุนจาก ‘สุพันธ์ มงคลสุธี’ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรม คนก่อนหน้านี้ที่ผันตัวเองไปลงสนามการเมืองในนามของพรรคไทยสร้างไทย ของ คุณหญิงหน่อย สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ถึงแม้สมโภชน์ จะยืนยันว่าไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งและยังเคารพประธานเกรียงไกรเหมือนเดิม แต่เพราะต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่าเป็นจังหวะที่ต้องเปลี่ยน จึงไม่อยากต้องรออีกถึงสองปี 

คงต้องจับตามองวันที่ 25 มีนาคมว่า ผลเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร แต่วงในส่วนใหญ่ต่างให้ความเห็นว่า บทสรุปสุดท้าย สมโภชน์ คงเป็นฝ่ายได้รับการชูมือให้ขึ้นเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมคนใหม่อย่างแน่นอน...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์