Financial Hub โลกในฝันของนายกฯ

28 ก.พ. 2567 - 08:41

  • นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีวิน ต้องแยกแยะความจริงกับความฝันให้ออก

  • กับเป้าหมายการเป็น Financial Center of South East Asia

  • ทะเยอทะยานได้ แต่การทำให้สำเร็จได้หรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

economy-stock-set-mai-SPACEBAR-Hero.jpg

นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้เป็นผู้นำคนแรกที่มีความทะเยอทะยาน และวาดฝันที่อยากเห็นประเทศไทย ยกระดับก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงิน หรือ Financial Hub หรือ Financial Center of South East Asia ซึ่งขับเคลื่อนโดยระบบการเงินที่แข็งแกร่ง มีการดึงสถาบันการเงินระดับโลกเข้ามาลงทุน สร้างถนนสายการเงินแบบ Wall Street ให้เกิดขึ้นในย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ

แต่ลำพังการวาดฝัน ประกาศเป้าหมายในเรื่องนี้ ในงาน Ignite Thailand เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยกำหนดให้เป็นหนึ่งใน 8 เสาหลัก เช่นเดียวกับอีก 7 ด้าน คงไม่เพียงพอ เพราะพื้นฐานที่จะนำไปสู่ความสำเร็จนั้น ยังมีการบ้านอีกกองโตที่รออยู่

คงเพราะมีแรงทะเยอทะยานในเรื่องนี้มากเป็นพิเศษหรือไม่ ในฐานะที่ควบตำแหน่ง **‘รมว.คลัง(ในนาม)’ ** อยู่ด้วย ช่วงวันหยุดที่ผ่านมา นายกฯ เศรษฐา ก็เลยไม่ยอมเสียเวลา เชิญประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยป้ายแดง ‘พิชัย ชุณหวชิร’ มาหารือเป็นพิเศษ

นอกจากเพื่อติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการกำกับดูแลเรื่องธุรกรรม ‘ชอร์ตเซล’ และ ‘โปรแกรมเทรดดิ้ง’ นายกฯ ยังมอบนโยบายขอให้เร่งรัดกำหนดแนวทางในการสร้างไทยให้เป็นศูนย์กลางการซื้อขาย Financial & Digital Asse Hub และ Carbon Credit โดยกำชับให้คนของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความุ่งมั่น และทำงานหนักเพื่อไปสู่เป้าหมายของการเป็นหนึ่ง 

ทั้งหมด คือความฝันอันแสนทะเยอทะยานของนายกฯเศรษฐา และอยากเห็นความสำเร็จในยุคที่ตัวเองยังนั่งอยู่ในตำแหน่งนายกฯรัฐมนตรี (ไม่รู้นานแค่ไหน) แต่เมื่อหันกลับมามองความจริงที่ปรากฏอยู่ตรงหน้านั้น คงต้องบอกว่าเส้นทางยังห่างไกล เพราะในช่วง 10 ปี หรือกว่าทศวรรษที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทย ยังไม่ได้หอมกลิ่นของความเจริญสักเท่าไรเลย

ความจริงที่เป็นอยู่ นายกฯ เศรษฐา จะรู้หรือไม่ว่าตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยแทบไม่เติบโตเลยแม้แต่น้อย คือ ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นฉลี่ยไม่ถึง 1%ต่อปีขณะที่ ตลาดหุ้นเวียดนามปรับขึ้น 124% ตลาดหุ้นอินโดนีเซียปรับขึ้น 70%ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วปรับขึ้น 91%  ตลาดหุ้น ตลาดหุ้น NASDAQ ปรับขึ้น 259% ต่อปี กลายเป็นสิบปีที่น่าผิดหวัง จึงไม่น่าแปลกใจที่ต่างชาติจะเทขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องรวมมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาทไปแล้ว

หากจะนับตั้งแต่ปลายปีที่รัฐบาลนายกฯ เศรษฐาเข้ามา ก็จะพบว่า ดัชนีหุ้นไทยแทนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามตลาดหุ้นอื่นๆที่ทำสถิติ All Time High กันในหลาย ๆ ตลาด แต่กลับกลายเป็นว่า ตลาดหุ้นไทยยังอยู่ใน**‘อาการทรงกับทรุด’**  จนนักลงทุนเริ่มถอดใจ และหลายกองทุนต่างชาติประกาศปิดตัวลงเพราะมีแต่เงินไหลออกไม่มีเงินใหม่ไหลเข้า 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้อดคิดไม่ได้ว่าตลาดหุ้นไทยยังน่าลงทุนอยู่หรือไม่?

เพราะปกติตลาดหุ้นที่น่าลงทุนควรให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องเป็นบวกทุกปี แต่อย่างน้อย ผลตอบแทนในระยะยาว 10 ปี ควรเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5-10% ต่อปี ซึ่งหากแนวคิดนี้นี้ ตลาดหุ้นไทย คือ ตลาดหุ้นที่ไม่น่าลงทุนในช่วงสิบปีที่ผ่านมา 

ปัญหาของตลาดหุ้นไทย ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องของระบบ Infrastructure ที่จะรองรับธุรกรรมการซื้อขาย ที่เรามีความก้าวหน้าไปมากพอสมควร และพร้อมที่จะรองรับระบบการเงินแห่งอนาคตที่อาจจะผ่าน Blockchain ที่ไร้ตัวกลาง หรือการปลดล็อคธุรกรรมซื้อขาย Digital Asset หรือแม้แต่ระบบการเงินเพื่อความยั่งยืน อย่างการซื้อขาย Carbon Credit ที่จะรองรับการก้าวไปสู่ยุคการเงินสมัยใหม่

แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดในตอนนี้ที่เป็น โจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย นายกฯ เศรษฐา คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ที่ยังคงจมปลักอยู่กับ โลกในยุคเก่าหรือ ‘Old Economy’ ขาดการสร้างเครื่องยนต์เศรษฐกิจชุดใหม่ ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล สะท้อนได้จากอัตราการเจริญเติบโตของไทยที่โตต่ำที่สุดในอาเซียน คือเพียง1.9%  .

เมื่อหันกลับมามองที่ตลาดหุ้นไทย จึงไม่น่าแปลกใจ กลับคำพูดกึ่งประชดประชันว่า ตลาดหุ้นไทย ไม่มีความ เย้ายวน หรือ มีเสน่ห์ Sexy มากพอที่จะทำให้ต่างชาติสนใจ

ทุกวันนี้ตลาดหุ้นไทยทั้งในตลาด SET และ mai ถึงแม้จะมี  Market Cap หรือมูลค่าตลาดสูงถึง 17.6 ล้านล้านบาท มีจำนวน บริษัทจดทะเบียนอยู่ 898 ราย แยกเป็น SET 691 ราย และ mai 207 ราย แต่เป็นหุ้นในกลุ่ม  ‘Old Economy’ หรือ หุ้นเศรษฐกิจยุคเก่า ถึงกว่า 70% ทำให้ปริมาณการซื้อขายส่วนใหญ่ในแต่ละวันกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มหลักๆไม่กี่กลุ่ม และเป็นเหตุผลสำคัญที่ SET Index ไม่ขยับไปไหน 

หากจะทำให้ตลาดหุ้นไทยเย้ายวนมากขึ้น ก็ต้องเพิ่มสัดส่วนของหุ้นในกลุ่มที่มีศักยภาพสูงในตลาดหุ้นไทย เช่น การแพทย์ การท่องเที่ยว เทคโนโลยี และ กลุ่มธุรกิจใน ‘New S-curve’ ให้มากขึ้น เพื่อให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาให้ผลตอบแทนที่แข่งขันได้กับตลาดคู่แข่งในระยะยาว 

หากดูการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จะพบว่าหุ้นในกลุ่ม Old Economy ราคาจะปรับเพิ่มขึ้นน้อย แต่มีสัดส่วนสูง เช่น 

หุ้นอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้น 1% หุ้นพลังงาน เพิ่มขึ้น 8% หนักไปกว่านั้น หุ้นธนาคาร ปรับลดลงถึง 16%

ในขณะที่หุ้นกลุ่ม new S-Curve ราคาปรับเพิ่มมาก แต่กลับมีสัดส่วนน้อย เช่น หุ้นกลุ่มการแพทย์ เพิ่มขึ้น 144% หุ้นบริษัทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 143% หรือ หุ้นกลุ่มขนส่ง เพิ่มขึ้น 85% 

ทางออกอีกวิธีหนึ่ง คือ การสร้างกระดานหุ้นใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะ ที่โฟกัสเฉพาะหุ้นในกลุ่ม New S-curve เช่นธุรกิจด้าน Well-Being ด้านการแพทย์ ท่องเที่ยว ที่เป็นจุดเด่นของไทย เพื่อจับตลาดทั้งฝั่ง Supply และ Demand ของบริษัทจดทะเบียน และนักลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ

อีกปัญหาหนึ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯต้องเร่งแก้ไขก็คือ มาตรการกำกับและควบคุมการซื้อขาย บรรดาหุ้นซิ่ง หุ้นปั่น ซึ่งที่ผ่านมาเกิดเรื่องอื้อฉาวในวงการหุ้นหลายๆกรณี ไม่ว่าจะเป็น กรณีหุ้น STARKMORE, JKN หรือล่าสุด กำลังมีเรื่องที่ท้าทายประสิทธิภาพการกำกับของตลาดหลักทรัพย์ กับกรณี ‘หุ้นนางงามสุดมหัศจรรย์ 12 เด้ง MGI’ ของ ณวัฒน์ อิสรไกรศีล

ทั้งหมดคือการบ้านที่ นายกฯ เศรษฐา ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อกำหนดเป็นภารกิจที่ตอบโจทย์ ทำให้โลกแห่งความฝันของ ดอน กิโฆเต้ เศรษฐา ทวีสิน สามารถปักธงให้ไทยก้าวขึ้นเป็น Financial Hub ศูนย์กลางทางการเงินและตลาดทุนในภูมิภาคนี้ได้เป็นจริง...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์