ปลัดเก่งเมียรวย รวยจากค่า Adder

21 เม.ย. 2568 - 02:00

  • เปิดกระเป๋าปลัดเก่ง และครอบครัว 6,200 ล้านบาท

  • รับเงินค่า Adder จากการขายไฟที่ผลิตจากพลังงานสะอาด

  • ได้ส่วนต่างค่าไฟยูนิตละ 8 บาท ต่อเนื่องมา 10 ปี

deep-space-rich-adder-power-plant-wind-solar-cell-SPACEBAR-Hero.jpg

ฮือฮากันทั้งบาง เมื่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ หรือ ‘ปลัดเก่ง’ปลัดกระทรวงมหาดไทยคนก่อนและภรรยา ที่มีทรัพย์สินรวมกันมากถึงกว่า 6,200 กว่าล้านบาท

มากกว่า รวยกว่า สส. รัฐมนตรีทุกคน ยกเว้นนายกรัฐมนตรี ‘แพทองธาร  ชินวัตร’ ที่มีทรัพย์สินประมาณ 13,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ทรัพย์สินเกือบทั้งหมดเป็นของภรรยา ‘ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ’ มีมูลค่า 6,174  ล้านบาท ซี่งเป็นเงินลงทุนถึง  4,917  ล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินให้กู้ยืม ที่ดิน 31 แปลง แหวนเพชร สร้อยทอง

ตัวปลัดเก่งเอง มีแค่ 25 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นที่ดิน ที่มีมูลค่ารวม 22.4  ล้านบาท มีเงินลงทุน2.4  ล้านบาทเท่านั้น   

ความมั่งคั่ง ร่ำรวยของดร.วันดี มาจากการประกอบกิจการ พลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์  หรือโซล่าฟาร์ม ในนาม ‘บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG’ ที่ ดร.วันดี เป็นผู้ก่อตั้ง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ 

SPCG มีโซล่าฟาร์ม 36 แห่งใน 9 จังหวัดภาคอีสาน และลพบุรี รวม 260 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าให้ ‘การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค’ ซี่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังหัดกระทรวงมหาดไทย เริ่มก่อสร้างโซล่าฟาร์มแห่งแรกและขายไฟเข้าระบบ ในปี 2553  และครบ 36 แห่งในปี 2557

SPCG ได้รับค่า Adder หรือเงินอุดหนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า หน่วยละ 8 บาท เป็นเวลา 10 ปี  คิดเป็นเงินค่า Adder ปีหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 1,000 - 2,000ล้านบาท โดยขึ้นอยู่ปริมาณไฟฟ้าที่ขายได้ในแต่ละปี

ค่า Adder ถือเป็นเงินได้เปล่า ผู้ประกอบการได้มาฟรีๆ กฟภ. บวกให้เพิ่มจากราคาขายไฟ ตามนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอดีต แต่คนจ่ายค่า Adder คือผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือน โดยรวมอยู่ในค่า FT ที่เป็นค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ

ปี 2566 เป็นปีสุดท้ายที่ SPCG ได้รับค่า Adder ในปีนั้น มีกำไร 1,973.9  ล้านบาท กำไรลดลงเหลือ 746.8 ล้านบาท หายไป 1,2271 ล้านบาท เพราะไม่มีรายได้จากค่า Adder แล้ว

ความร่ำรวยอย่างมโหฬารของปลัดเก่งและภรรยา จึงมาจากค่า Adder ที่ได้รับมาเป็นเวลา 10 ปีเต็ม

แม้จะไม่ได้ค่า Adder แล้ว SPCG ก็ยังมีกำไรจากการขายไฟฟ้าโซล่าให้ กฟผ. ปีที่แล้ว 700 กว่าล้านบาท เพราะเทคโนโลยีโซล่าเซลล์ ดีขึ้นมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลง แต่ยังขายไฟได้ในราคาเดิมเท่ากับ 10 ปีก่อน เพราะสัญญาขายไฟต่ออายุอัตโนมัติทุก 5 ปี SPCG จึงสามารถทำกำไรไปได้เรื่อยๆ

นอกจากขายไฟให้ กฟภ. แล้วในปี 2563 SPCG ยังได้สัมปทานจาก กฟภ. ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ ขายให้ผู้ประกอบการใน EEC ด้วย โดยตั้ง ‘บริษัทเซท เอนเนอยี  จำกัด’ ขึ้นมาดำเนินการ แต่คณะกรรมการ EEC ‘ไม่เห็นชอบ’ เพราะสิทธิในการขายไฟฟ้าใน EEC เป็นของหน่วยงานรัฐ โอนให้เอกชนไม่ได้ 

อีกทั้งกระทรวงพลังงานยังท้วงว่า โครงการดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ หรือ PDP และไม่ได้เสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน

กฟภ. จึงต้องยกเลิกสัญญากับเซท เอนเนอยี ทำให้ SPCG และเซท เอนเนอยี ฟ้อง กฟภ. ต่อศาลแพ่ง  และศาลปกครอง เรียกค่าเสียหาย 3,700  ล้านบาท

ศาลแพ่งรับคำฟ้องเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ที่ผ่านมา แต่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 2 เมษายน ไม่รับฟ้อง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์