ประกันสังคมมีสิทธิ์ไหมครับ?!

9 พ.ค. 2567 - 08:46

  • การเป็นผู้ประกันตนในระบบ ทุกคนคาดหวังสิทธิประโยชน์ที่มากขึ้น

  • แต่ที่ผ่านมาได้รับสิทธิ์ประโยชน์น้อยเกินไปหรือไม่

  • มีข้อเสนอให้อำนาจประกันสังคม เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์คนในระบบ

DeepSpace1-SPACEBAR-Hero.jpg

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมาทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และข้าราชการที่เกษียณไปแล้ว ต่างปรีดากันถ้วนหน้า ที่ได้รับการดูแลจากรัฐบาลให้ปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการวุฒิปริญญาตรี ไม่น้อยกว่า 18,000 บาท

ส่วนผู้ที่เกษียณ ก็ช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญต่ำกว่า 11,000 บาท ให้ได้รับเงินช่วยค่าครองชีพเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ตามมติคณะรัฐมนตรี 28 พฤศจิกายน 2566

แต่ฝนตกไม่ทั่วฟ้า เมื่อผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งก็ต้องอยู่ต้องกินภายใต้ค่าครองชีพเดียวกันกับข้าราชการเกษียณ ยังได้รับเบี้ยชราภาพสูงสุดที่ 4,000 กว่าบาทเท่านั้น อย่าว่าแต่สอดคล้องกับค่าครองชีพเลย เทียบกับข้าราชการเกษียณยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำ

จึงทำให้มีการตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่า แล้วผู้ที่อยู่ในระบบ ‘ประกันสังคมจะมีสิทธิ์’ ได้รับการดูแลด้วยไหมครับ

ล่าสุดแม้แต่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ รัฐบาลกับฝ่ายนายจ้างยังเห็นไม่ตรงกันเลย แถมฝ่ายลูกจ้างยังข้องใจวิธีปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาล ที่ ‘ขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำ’ ให้ถ่างออกไปอีก จากเดิมใช้เขตจังหวัดซึ่งฝ่ายลูกจ้างไม่เคยเห็นด้วยมาตลอดอยู่แล้ว กลับซอยย่อยลงลึกไปถึงระดับอำเภอ

แม้จะมาในนามของคำว่า ‘พื้นที่นำร่อง’ ก็ตามเถอะ

ในระหว่างที่ยังมีปัญหาเคาะกันไม่ลงเรื่องสูตรการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะคณะกรรมการไตรภาคี ต่างมีความเห็นไปคนละทิศละทาง นักวิชาการที่คลุกคลีอยู่กับปัญหาแรงงานมานานอย่าง รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และอนุกรรมการประกันสังคม ได้นำเสนอทางออกให้กับการดูแลผู้ประกันตน โดยที่ไม่ต้องรอการปรับขึ้นค่าแรงเพียงอย่างเดียว

ในฐานะอนุกรรมการประกันสังคม อาจารย์ณรงค์เห็นว่า ปัจจุบันมีผู้ประกันตนอยู่ในระบบประมาณ 24 ล้านคน และมีเงินสะสมของกองทุนประกันสังคมอยู่ จำนวน 2.4 ล้านล้านบาท โดยกระจายลงทุนอยู่ในสินทรัพย์มั่นคงและสินทรัพย์เสี่ยง 

สินทรัพย์มั่นคง คือ ซื้อพันธบัตรรัฐบาล ราว 1.4 ล้านล้านบาท รวมมีเงินประกันสังคมที่อยู่ในมือรัฐบาล จำนวน 1.7 ล้านล้านบาท ที่เหลือเป็นสินทรัพย์เสี่ยงที่ลงทุนในตลาดหุ้น โดยเฉพาะนำไปซื้อหุ้นของธนาคารต่างๆ นับแสนล้านบาท แต่ว่าธนาคารเหล่านี้กลับไม่ได้ให้บริการผู้ประกันตนเลย

อาจารย์ณรงค์ เสนอให้นำเงินจากกองทุนประกันสังคม มาสร้างรายได้ให้กับผู้ประกันตนซึ่งเป็นเจ้าของเงิน โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงินเท่านั้น แต่อาจมาในรูปสิ่งของที่เป็นที่อยู่อาศัย เช่น มีมาตรการจูงใจให้นายจ้างสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกใกล้โรงงาน เป็นตึกแแถวขนาด 3 ชั้น พื้นที่ 100 ตารางวา ก็สามารถสร้างได้ โดยให้นายจ้างเอาค่าก่อสร้างไปหักภาษีได้

หรือกองทุนประกันสังคม จะใช้เงินของกองทุนมาสร้างอาคารให้ผู้ประกันตนเช่าในราคาที่ไม่แพงก็ยังทำได้

เมื่อลูกจ้างได้มีที่อยู่อาศัยราคาถูก อยู่ใกล้โรงงาน ก็สามารถเดินไปโรงงานได้ โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เท่ากับเป็นการเพิ่มรายได้ไปในตัว

อาจารย์ณรงค์ ยังแนะให้ช่วยเหลือผู้ประกันตนได้มีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ผ่านธนาคารที่ให้ความร่วมมือกับกองทุนประกันสังคม โดยนำเงินไปฝากไว้ที่ธนาคารดังกล่าวสัก 3 หมื่นล้านบาท แล้วปล่อยกู้ให้กับผู้ประกันตนภายใต้เงื่อนไขที่ร่วมกันกำหนดขึ้น

เพราะในเมื่อไม่สามารถตั้งธนาคารของตัวเองขึ้นมาได้ ด้วยเหตุผลของความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ที่มีอยู่ ก็ต้องใช้วิธีการแบบนี้

อาจารย์ณรงค์ ย้ำว่าไม่ต้องกังวลเรื่องการบริหารว่าบอร์ดประกันสังคมจะทำไม่ได้ เนื่องจากปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้น โดยในแต่ละปีมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ บริหารความเสี่ยงการลงทุน เป็นเงินกว่า 100 ล้านบาทอยู่แล้ว

ลำดับเรื่องมาทั้งหมด ก็เพื่อจะบอกว่า ในเมื่อเงินประกันสังคมมีอยู่ก้อนโตมหาศาลขนาดนี้ ทำไมถึงเอาไปลงทุนในที่ต่างๆ ได้ แล้วผู้ประกันตนในฐานะเจ้าของเงินไม่มีสิทธิเอามาทำประโยชน์เพื่อตัวเองบ้างเลยหรือ

หรือจะให้รอรับแต่สวัสดิการอย่างเดียว!!

ต้องส่งเสียงดังๆ ไปถึงบอร์ดประกันสังคมที่มาจากตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง 7 คนด้วย เพราะเห็นว่าวันนี้กลายเป็น 1+6 เหลือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนลูกจ้างจริงๆ แค่คนเดียว ส่วนอีก 6 คน ได้กลายร่างไปตามแหล่งที่มา

ได้เห็นฤทธิ์ปรากฎการณ์ลูกจ้างสีส้มกันก็คราวนี้แหละ!!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์