หลังจากผ่านความลุ่มๆ ดอนๆ ของการพยายามผลักดันสถานบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโนเป็นส่วนประกอบสำคัญ มาจ่อคิวเรอข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในไม่ช้า ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรตามมา
สิ่งที่น่าศึกษาเรียนรู้ คือ ในการผลักดันนโยบายครั้งนี้ของรัฐบาลเกิดแรงต้านเยอะมาก ซึ่งร้อยทั้งร้อยมีโฟกัสอยู่ที่กาสิโน รัฐบาลและภาคสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้น่าจะถือโอกาสนี้ศึกษาว่า คือ มีใครออกมาคัดค้านบ้าง? ค้านด้วยเหตุผลอะไร? และมีข้อเสนออะไรที่น่าสนใจ?
ใครบ้างที่ ‘ค้านกาสิโน’
จากการติดตามเก็บข้อมูลอาจจำแนกกลุ่มผู้ออกมาแสดงความเห็นและคัดค้านร่างพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ได้ประมาณ 8-9 กลุ่ม
1. กลุ่มคปท. ,ศปปส., กองทัพธรรม, กลุ่มหมอวรงค์ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ต้องการขับไล่รัฐบาล
2. เครือข่ายภาคประชาสังคม นำโดยมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน และอีกกว่า 100 องค์กร ซึ่งมีจุดยืนในการจำกัดควบคุมการพนัน และเสนอให้มีมาตรกลไกที่ชัดเจนในการควบคุม รวมถึงการดูแลป้องกันปัญหาและลดผลกระทบทางสังคม ซึ่งถูกมองว่าเป็นขาประจำในการคัดค้านเรื่องการพนัน ในกลุ่มนี้น่าจะรวมถึงเครือข่ายแรงงานด้วย เช่น สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย
ที่น่าสนใจคือ ในช่วงที่ผ่านมามี‘กลุ่มที่ไม่ใช่ขาประจำ’ ออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งจำนวนไม่น้อยเป็นพลังเงียบที่มีอยู่จริง และจะแสดงพลังเมื่อถึงเวลาอันสมควร อาทิ
3. กลุ่มแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข เช่น ชมรมแพทย์อาวุโสและบุคลากรทางการแพทย์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น 153 คน กลุ่มแพทย์เชียงใหม่ แพทย์จุฬาฯ แพทย์ศิริราช เป็นต้น
4. คณาจารย์และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น 99 นักวิชาการที่เคยออกมาแสดงความเห็นตั้งแต่รัฐบาลเริ่มต้นส่งสัญญาณเรื่องนี้เมื่อปีที่แล้ว ต่อเนื่องมายังกลุ่มอาจารย์และนักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม กลุ่มเพื่อนมหิดลเพื่อสังคม เป็นต้น
ที่คาดไม่ถึงอาจจะเป็น 5.องค์กรด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เช่น สมาคมการศึกษาทางเลือก สภาการศึกษาคาทอลิคแห่งประเทศไทย สภาคริสตจักรในประเทศไทย พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมถึงองค์กรเครือข่าย 5 ศาสนา พุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดู และซิกข์ มากันแทบทั้งหมด
6. ภาคธุรกิจ เช่น สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวบางจังหวัด เช่น ภูเก็ต ซึ่งยังเป็นกลุ่มที่ออกมาแสดงความเห็นไม่หนาแน่นมากนัก แต่ก็เป็นเสียงที่มีน้ำหนัก
7. กลุ่มอดีตสมาชิกวุฒิสภา 189 คน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 102 คน ชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 2550 ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่หมัดหนักมาก
และที่น่าสนใจคือ 8. การแสดงบทบาทของวุฒิสภาที่น่าสนใจและติดตาม
โดยยังไม่ขอนับพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่แสดงจุดยืนชัดเจนบ้าง เช่น พรรคไทยสร้างไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาชาติ ไม่ชัดเจนบ้าง เช่น พรรคประชาชน รวมถึงพรรคภูมิใจไทย
ระดับของการคัดค้าน
ระดับของการแสดงความเห็นคัดค้านอาจแบ่งได้สัก 3 ระดับ คือ
หนึ่ง ระดับไม่สบายใจ ระดับนี้อาจจะไม่ถึงขนาดคัดค้านการมีกาสิโน ส่วนหนึ่งอาจเชื่อว่ากาสิโนรวมถึงเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์อาจจะสร้างผลดีทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีความกังวลและห่วงใยผลกระทบทางสังคม
สอง ระดับไม่เชื่อมั่น กลุ่มนี้ไม่ปฏิเสธว่าในโลกนี้มีบางประเทศที่ดูเหมือนจะได้ประโยชน์จากการมีกาสิโนและเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ อย่างเช่น สิงคโปร์ แต่ก็ตระหนักว่าความสำเร็จของสิงคโปร์อยู่บนพื้นฐานเฉพาะตัวที่อาจเลียนแบบกันไม่ได้ง่าย ๆ เช่น การมีคอรัปชั่นต่ำ การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ ความเหลื่อมล้ำในสังคมไม่มาก และมีระบบกฎหมายที่เข้มแข็ง ซึ่งไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยจะทำได้ถึงมาตรฐานนี้ จึงคิดว่าการมีกาสิโนจะสร้างปัญหามากกว่า
สาม ระดับไม่เห็นด้วยและค้านหัวชนฝา คือ กลุ่มที่มองว่ากาสิโนเป็นสิ่งเลวร้าย บวกรวมกับความไม่เชื่อถือในรัฐบาล จึงเชื่อว่านี่คือส่วนผสมของความเลว นำสิ่งเลวมาทำให้ถูกกฎหมายเพื่อหวังประโยชน์ของพวกตน
เหตุผลที่คัดค้าน
ในส่วนของประเด็นการแสดงความเห็นของกลุ่มที่กล่าวมา อาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
หนึ่ง ประเด็นด้านสังคม ได้แก่ ความห่วงใยในประเด็นผลกระทบสังคม เช่น ปัญหาอาชญากรรม ธุรกิจสีเทา และความปลอดภัยในสังคม ผลกระทบทางสุขภาพ เช่น ผู้เสพติดพนัน ผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เช่น ผลต่อค่านิยมและทัศนคติ ผลต่อครอบครัว ผลต่อบรรทัดฐานศีลธรรม
สอง ประเด็นทางเศรษฐกิจ เช่น ความไม่จำเป็นที่จะต้องมีกาสิโนเพราะประเทศไทยมีทุนดีในด้านต่าง ๆ อยู่แล้วมากมาย ความไม่คุ้มค่าของการลงทุน การเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุน และการขยายความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
สาม ประเด็นทางการเมือง เช่น การไม่ได้หาเสียงในช่วงเลือกตั้ง เป้าหมายของนโยบายรวมทั้งรายละเอียดไม่มีความชัดเจน ร่างพ.ร.บ.ขาดความรัดกุม ความไม่ไว้วางใจในการบังคับใช้กฎหมาย และความไม่ไว้ใจเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น
เหล่านี้คือประเด็นที่รัฐบาลน่าจะรู้ดีมาตั้งแต่ต้น แต่น่าแปลกใจที่รัฐบาลกลับสร้างความกระจ่างให้ประชาชนเชื่อมั่นไม่ได้ นี่คือโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล
ก้าวต่อไปของภาคประชาชน
ส่วนของภาคประชาชนที่ในช่วงที่ผ่านมาได้พยายามสื่อสารเพื่อให้ข้อมูลแก่สังคมในหลายด้าน โดยเฉพาะบทเรียนจากประเทศต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นปัจจัยความสำเร็จและปัญหาที่เกิดขึ้นจากการมีกาสิโน รวมถึงการให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ของรัฐบาลที่ส่อเจตนาเปิดช่องโหว่ไว้อย่างมากมาย แต่ก็พบว่า ข้อมูลข่าวสารทั้งหลายยังคงกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง ประชาชนในต่างจังหวัดยังรับรู้เรื่องนี้ไม่มาก อีกประเด็นหนึ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตคือ ส่วนใหญ่ของผู้ออกมาแสดงความเห็นและคัดค้านในครั้งนี้เป็นคนรุ่นเก่าเป็นหลัก ขณะที่เยาวชนคนรุ่นใหม่อาจยังออกมาไม่มากนัก
ฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำต่อไปของภาคประชาชนมีอย่างน้อย 4 ประการ คือ
1. การเปิดพื้นที่สานเสวนารับฟังความเห็นคนรุ่นใหม่ และสนับสนุนให้พวกเขาได้แสดงพลังของตนต่อเรื่องนี้
2. การขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องการทำประชามติต่อรัฐบาล
3. การพยายามสานพลังของฝ่ายต่าง ๆ ที่ออกมาในครั้งนี้
4. การศึกษาช่องทางการฟ้องร้องตามกฎหมาย
ทั้งหมดนี้เพื่อเตรียมรับมือกับฉากต่อไปหากรัฐบาลดึงดันจะไปต่อ ไม่พอแค่นี้
ธนากร คมกฤส
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน