แก้สัญญารถไฟอีอีซี เอื้อเอกชน- ฉีกหลักการ PPP

22 ต.ค. 2567 - 10:29

  • คำเตือน และเสนอแนะจาก สตง.เป็นเรื่องที่ต้องกลับมาพิจารณา

  • รถไฟฟ้าเชื่อมสามสนามบินที่ล่วงเลยมากว่า 5 ปีแต่ไม่คืบหน้า

  • การแก้สัญญาสัมปทานอาจจะกระทบกับโครงการร่วมทุนรัฐและเอกชนในอนาคตได้

deep-space-edit-contract-high-speed train-connect-3-airports-SPACEBAR-Hero.jpg

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พูดถึงการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3  สนามบิน หรือรถไฟความเร็วสูงอีอีซีว่า

การแก้ไขสัญญาเกิดจากเอกชนและภาครัฐผิดสัญญาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้โครงการเกิดความล่าช้า รัฐบาลไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนได้ ขณะที่เอกชนก็ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงเป็นต่างคนต่างผิดสัญญาต้องพิจารณาใหม่ เนื่องจากเป็นหนึ่งในโครงการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งหากเชื่อม 3 สนามบิน จะทำให้ประชาชนเดินทางสะดวก การค้าขายดีขึ้น จึงต้องเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป โดยต้องมาพิจารณาร่วมกันในการแก้ไขสัญญา เพื่อไม่ให้รัฐเสียประโยชน์

ไม่รู้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่ได้ทำการบ้านจึงให้ข้อมูลที่ไม่ถูกหรือ ‘ตั้งใจมั่ว’ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิด ๆ ว่า การแก้ไขสัญญารถไฟฟ้า 3 สนามบิน ‘ไม่ได้เอื้อประโยชน์’ ให้เอกชน เพราะต่างฝ่ายต่างผิดสัญญา

รัฐหรือการรถไฟแห่งประเทศไทย ( รฟท.) เจ้าของโครงการ ไม่ได้ ‘ทำผิดสัญญา’ เลย การส่งมอบพื้นที่มีความล่าช้าบ้าง แต่ไม่ใช้สาระสำคัญของสัญญา  เอกชนผู้รับสัมปทานคือ ‘บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด’ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของซีพีต่างหากที่ เป็นฝ่ายขอแก้ไขสัญญา ในเรื่อง เงินๆทองๆ  2  เรื่อง

เรื่องที่ 1 คือ ค่าตอบแทนที่ รฟท. โอนโครงการ ‘รถไฟแอร์พอร์ตลิงค์’ ให้เอเชีย เอราวัน ไปบริหาร จำนวน 10,671 .09 ล้านบาท ซึ่งตามสัญญาเอเชีย เอราวัน จะต้อง ‘จ่ายให้ครบทันที’ ที่รับโอนแอร์พอร์ต์ลิงค์ไปบริหาร 

เอเชีย เอราวัน รับโอนแอร์พอร์ตลิงค์ไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2564 โดย ‘จ่ายค่ามัดจำ’ ไปแค่ 10%  เป็นเงิน 1,671 ล้านบาท ที่เหลือยังไม่จ่าย จนถึงบัดนี้ 3 ปีเต็มแล้วเพราะต้องการแก้สัญญา ขอผ่อนจ่ายรายปี เป็น 7 งวด งวดที่ 1-6  จ่าย 10% งวดที่ 7 จ่ายที่เหลือทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ย ประมาณ 1 พันกว่าล้านบาท 

เอเชีย เอราวัน อ้างว่า สถานการณ์โควิด ทำให้ผู้โดยสารลดลงไปมาก จึงขอให้รัฐบาลเยียวยา  ยืดเวลาการชำระเงินออกไปเป็น 7 ปี

เรื่องนี้ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบให้แก้สัญญาได้ 

เรื่องที่ 2  คือ เอเชีย เอราวัน ขอให้ รฟท. จ่ายค่าก่อสร้างเร็วขึ้น ตามสัญญา รฟท. จะจ่ายค่าก่อสร้างงานโยธาไม่เกิน 149,650 ล้านบาท เมื่อเอเชีย อราวัน สร้างทางรถไฟเสร็จแล้ว และเปิดให้บริการ 1 ปี คือ เริ่มจ่ายในปีที่6 หลังเริ่มก่อสร้าง แต่เอเชีย เอราวันขอให้ รฟท. จ่ายเร็วขึ้นคือ ทยอยจ่ายตามเนื้องาน ในปีที่ 2 ของการก่อสร้าง

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน หรือ PPP   รัฐออกค่าก่อสร้างงานโยธาส่วนใหญ่ เอกชนลงทุนระบบราง การเดินรถ และเป็นผู้บริหารการเดินรถ ตลอดอายุสัญญา 30 ปี

ในส่วนของงานโยธา เอกชนต้องลงทุนไปก่อน สร้างให้เสร็จ เปิดบริการได้แล้ว รัฐจึงจะทยอยจ่ายเงินคืนให้เป็นงวดๆ  ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่า เอกชนจะต้องสร้างให้เสร็จ ก่อน จึงจะได้เงิน ป้องกันการทิ้งงาน และรัฐประหยัดงบประมาณในช่วงแรกที่ยังสร้าง ไม่เสร็จ 

แต่ข้อเสนอของเอเชีย เอราวัน ทำให้โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน กลายเป็น ‘โครงการจ้างผู้รับเหมา คือ สร้างไป จ่ายไป’ ผิดหลักการของสัญญาร่วมลงทุนรัฐกับเอกชนโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ รัฐบาลที่แล้ว ไม่เห็นด้วยกับการแก้สัญญาเรื่องนี้ 

การแก้ไขสัญญาทั้ง 2 เรื่อง เอเชีย เอราวัน ได้ประโยชน์เต็มๆ สามารถลดต้นทุนการเงินได้ ไม่ต้องกู้เงินเยอะ เพราะเงินค่าแอร์พอร์ตลิงค์ ที่ต้องจ่ายให้ รฟท. เป็นก้อนเดียว 10,671 ล้านบาท  สามารถผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ ได้นานถึง 7 ปี

ส่วนเงินค่าก่อสร้างก็ได้รับเร็วขึ้น จากเดิมที่ต้องสร้างสร็จแล้ว เปิดให้บริการรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 7 ปี  จึงจะได้เงินงวดแรก  สัญญาที่แก้ไขใหม่ ปีที่ 2 ของการก่อสร้างก็ได้เงินแล้ว ‘ช่วยลดต้นทุน’ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ไปได้ ไม่น้อย 

มีผู้ได้ประโยชน์ ก็ต้องมีผู้เสียประโยชน์ คือ รฟท. แทนที่จะได้เงิน10,671  ล้านบาท ไปเคลียร์หนี้ ค่าก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงค์ที่ยังเหลืออยุ่ 10,000  กว่าล้านบาท ให้หมดไปทีเดียวก็ได้เงินแค่ปีละ 1,600 ล้านบาท ไปจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นบางส่วนเท่านั้น 

ในขณะเดียวกัน รฟท. ก็ต้องหาเงินมาจ่ายค่าก่อสร้างเร็วขึ้นกว่าเดิม

รายงานการตรวจสอบประสิทธิภาพ การดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน ของ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆนี้ ระบุว่า 

‘แนวทางการแก้ไขสัญญาที่ปรับให้รัฐชำระเงินเร็วขึ้น และการแบ่งชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุน ในแอร์พอร์ตลิงค์ มีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อหลักการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนบางส่วน

อีกทั้งจะทำให้ รฟท. และรัฐเสียโอกาสนำเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ เพื่อไปใช้สำหรับบริหารงานหรือดำเนินโครงการอื่นๆที่จำเป็นเร่งด่วน’

การแก้ไขสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ผ่านความเห็นชอบจาก ‘คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)’ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมาแล้ว คณะกรรมการชุดนี้มี ‘พิชัย ชุณหวชิร’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ เป็นกรรมการคนหนึ่ง ในบอร์ดชุดนี้ ร่วมกับรัฐมนตรีหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

เหลือขั้นตอนสุดท้ายคือ เสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบ ซึ่งสุริยะมั่นใจว่า จะสามารถทำให้พรรคร่วมรัฐบาลเข้าใจในการการแก้ไขสัญญาโครงการนี้ได้ 

ถ้าถึงกับต้องทำความเข้าใจกับพรรคร่วมรัฐบาล ก็แสดงว่าการแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟเชื่อม 3สนามบินที่สุริยะบอกว่า ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้เอกชน พรรคร่วมรัฐบาลอาจคิดต่าง โดยเฉพาะหลังจากได้อ่านรายงาน สตง. ฉบับดังกล่าวแล้ว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์