10 เมษายนนี้ รัฐบาลยึดเอาฤกษ์ดีของใครก็ไม่รู้ ในการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีนายกฯ เศรษฐา ผ้าขาวม้าหลากสี นั่งเป็นหัวโต๊ะ เพื่อหาข้อสรุป เพื่อแถลงรายละเอียดของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแจกเงินหัวละ 10,000 บาทรวม 5 แสนล้านบาท
หลังจากสามารถ ‘ถอดสลัก’ ค้นพบกลวิธีพิสดารในการให้ได้แหล่งเงินมาทำโครงการโดยไม่จำเป็นต้องใช้ ‘เงินนอกประมาณ’ โดยการออก พ.ร.บ.กู้เงินทั้งก้อน 5 แสนล้านบาทได้สำเร็จ
แต่น่าแปลกเพราะแทนที่จะได้ยิน ‘เฮ กันทั้งประเทศ’ ที่จะได้เงินแจกฟรี ๆ คนละหมื่นบาทกันเสียที กลับ ‘เงียบกริบ’ ไม่มีเสียงตอบรับอย่างที่คาดหวัง คงเป็นเพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงไม่ค่อยเชื่อ ‘น้ำยา’ ว่ารัฐบาลจะทำได้สำเร็จ
เพราะโครงการนี้โดน ‘เปลี่ยนปก’มาแล้วหลายครั้ง จึงไม่ค่อยมั่นใจว่าสุดท้ายแล้ว ‘ไทม์ไลน์’ ต่าง ๆ จะต้องเลื่อนไปกี่โมง พากันออกอาการเบื่อ ๆ เซ็ง ๆ เสียมากกว่า
ยิ่งไปกว่านั้น เพราะความ ‘ดึงดัน’ ที่จะผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา มันจึงตรงกับสุภาษิต ‘กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้’ เพราะที่ผ่านมาทั้ง ๆ ที่รัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจมีปัญหาถึงขั้น ‘วิกฤต’ แต่กลับไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างอื่น เพราะรัฐบาลทุ่ม ‘แทงม้า’ ตัวเดียวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จนทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยอ่อนแรงลงไปเรื่อย ๆ
มาตรการด้านเศรษฐกิจที่ดำเนินการไปส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงมาตรการประคองเศรษฐกิจ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายบางด้านของประชาชนมากกว่า เช่นมาตรการตรึงราคาพลังงานทั้ง ไฟฟ้า และน้ำมัน โดยหวังพึ่งการท่องเที่ยวเป็นความหวัง Quick Win ในการดึงเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศช่วยฉุดให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวไปอย่างช้า ๆ
ในขณะเดียวกันเพราะ ‘ความไม่ชัดเจน’ ในเรื่องนี้กลับกลายเป็นการสร้างปัญหาในการกำหนดนโยบายด้านการเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ ที่ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในจังหวะเวลาไหนจึงจะเหมาะสม ถึงแม้จะมีแรงกดดันมาจากฟากของรัฐบาล
น่าจับตามองว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ในวันเดียวกัน (10เมษายน 2567) ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติที่ดูแลนโยบายด้านการเงินจะพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.25%เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่อ่อนแรงในตอนนี้ลง โดยไม่รอการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯหรือไม่
เพราะแบงก์ชาติอาจต้องทบทวนชั่งน้ำหนักให้ดีว่า หากทำทั้งสองเรื่องพร้อมกันคือ รัฐบาลใช้นโยบายการคลังโดยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาถึง 5แสนล้านบาท และยังใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายโดยการลดดอกเบี้ยจะซ้ำเติมให้ **‘อัตราเงินเฟ้อ’**ของไทยพุ่งแรงเกินไป เกิดปัญหาเม็ดเงินไหลออกทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว จนสร้างปัญหาใหม่หรือไม่
ย้อนกลับมาพิจารณาถึงที่มาของแหล่งเงิน 5 แสนล้านบาท ตามแนวทางใหม่ของรัฐบาล ซึ่งคาว่าน่าจะใช้วิธี ‘ไฮบริด’ ผสมผสานระหว่างการใช้งบประมาณรายจ่ายปี 2567 และ 2568 บวกกับเงินยืมจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. เพื่อมาทำโครงการตามแนวทางที่กระทรวงการคลังเสนอ ก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข็นให้ ‘เรือธง’ ลำนี้หลุด ‘สันดอน’ ไปได้ง่าย ๆ
มีการคาดการณ์ว่า รัฐบาลจะมีการเสนอขอโอนงบ ตามพ.ร.บ.โอนงบประมาณในปี 2567 ที่ใช้ไม่ทันในอีก 5 เดือนที่เหลือ ในส่วนของงบจัดซื้อจัดจ้าง และงบลงทุน ราว 1.5-2 แสนล้านบาท มาใช้ทำโครงการนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่อ่อนแรง โดยจะนำไปรวมกับงบประมาณเพิ่มเติมในปี 2568 ในลักษณะคล้ายงบผูกพัน หลังจากที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งอนุมัติแผนการคลังระยะปานกลางปี 2567 - 2571 ฉบับทบทวนตามที่คณะกรรมการวินัยการเงินการคลังเสนอไปเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา
ตามแผนในปี 2568 กรอบวงเงินงบประมาณจะเพิ่มขึ้น จาก 3.6 ล้านล้านบาท ไปที่ 3.75 ล้านล้านบาท เพื่อนำเงินในส่วนที่ เพิ่มขึ้น 1.52 แสนล้านบาท ไปรวมกับงบปี 2567 ถึงแม้จะทำให้ต้องกู้มาปิดหีบงบประมาณทั้งหมดตามยอด 8.65 แสนล้านบาท แต่เป็นการกู้เงินในงบประมาณตามปกติ ไม่ใช่การออกกฎหมายพิเศษกู้เงินมาใช้ตามโครงการโดย
เงินจากงบประมาณปี 2567 และ 2568 รวมกันน่าจะอยู่ในราว 3 -3.5 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่พอ จึงอาจจำเป็นต้องขอยืมจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. ตามมาตรา 28 ของ พรบ.วินัยการเงินการคลัง มาสมทบอีกราว 1.5-2 แสนล้านบาท เพื่อให้ได้เม็ดเงินรวม 5 แสนล้านบาท โดยอาจจะตั้งงบประมาณทยอยชำระคืนในปีงบประมาณ 2569-2570
หากรัฐบาลตัดสินใจเลือกแนวทางนี้ เงินจากทั้ง 3 ส่วน ถึงแม้อาจจะทำให้เผชิญอุปสรรคน้อยลง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะส่งเงินไปถึงมือชาวบ้านได้ในไตรมาสสุดท้ายได้ตาม ‘ไทม์ไลน์’ ล่าสุดได้จริงหรือไม่ หรืออาจจะต้องอยู่ในสภาพ ‘พายเรือวนในอ่าง’ ไปอีกระยะหนึ่ง เพราะยังมีปัญหาในรายละเอียดอื่นๆอีกหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่อง แพลตฟอร์มที่จะใช้ในการแจกเงิน เงื่อนไขในการแจกเงิน-ใช้เงิน และการลงทะเบียนร้านค้า
แต่ทั้งหมดก็คงเพราะโครงการนี้เป็นเหมือน ‘ไฟต์บังคับ’ ที่รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยต้องผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะเป็น ‘เรือธง’ ที่หาเสียงเอาไว้ แต่สุดท้ายแล้วประเทศชาติจะต้องเสียโอกาสไปอีกนานแค่ไหน คงไม่อยู่ในสมการเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้แน่นอน...