ศึกส่งท้ายประชุมสภา รอดูฝ่ายค้านแตกแถวซ้ำ

20 มี.ค. 2567 - 08:10

  • การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2567 ไม่มีอะไรต้องลุ้น

  • จับตาดูฝ่ายค้าน ทำหน้าที่จะมีอะไรทำให้ตื่นเต้นหรือไม่

  • ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจของ สว.รอดูว่าจริงจังหรือไม่

economy-aebate-parliament-SPACEBAR-Hero.jpg

ยกแรกเริ่มแล้ววันนี้ สำหรับศึกส่งท้ายก่อนปิดสมัยประชุมสภาปีที่1/2 ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 10 เมษายนนี้ โดยเริ่มจากการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2567 วาระ 2-3 ของสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 20-22 มีนาคม ซึ่งดูแล้วแทบไม่มีอะไรให้ลุ้น เพราะเป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กับผู้แปรญัตติและผู้ที่สงวนคำแปรไว้

โดยทั้งสองฝ่ายจะมาว่ากันในที่ประชุมใหญ่ เพื่อโน้มน้าวให้เห็นด้วยกับสิ่งที่ได้แปรญัตติและสงวนคำแปร แต่ส่วนใหญ่ทุกอย่างจะจบลงในชั้นกรรมาธิการ มีน้อยครั้งมากที่เสียงของผู้แปรญัตติและกรรมาธิการเสียงข้างน้อยจะพลิกเอาชนะเสียงข้างมากได้

ส่วน ครม.ที่นายกรัฐมนตรีสั่งให้ทุกคนมา ‘แสตนด์บาย’ อยู่ในห้องประชุมด้วย ก็เพียงแค่มานั่งฟังเฉย ๆ ไม่มีอะไรให้ต้องชี้แจง เพราะเลยเวลาในขั้นตอนของรัฐบาลไปแล้ว ก็เหลือแต่มานั่งคอยกำกับสส.ร่วมกับวิปรัฐบาลอีกชั้น ไม่ให้มีปัญหาการตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติในแต่ละมาตรา ที่จะต้องเช็คองค์ประชุมกันถี่ยิบเท่านั้น

ขณะที่มีพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคให้ข่าวผ่านสื่อ ได้วางตัวผู้อภิปรายไว้จำนวนเท่านั้นเท่านี้คน และจะยึดผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้งนั้น ก็เป็นเพียงการสื่อสารให้ดูดี เพราะผู้อภิปรายที่ว่าก็คือสส.ของพรรคที่แปรญัตติไว้ กับผู้ที่เป็นกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคที่ได้สงวนคำแปรไว้เท่านั้น

เอาเป็นว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ วาระ 2-3 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ที่มีการปรับลดลง 9.2 พันล้านบาท และนำไปจัดสรรให้กับหน่วยงานต่าง ๆ โดยงบกลางได้ไปมากที่สุด 8.17 พันล้านบาทนั้น รัฐบาลไม่ต้องลุ้นเสียวหรือกลัวถูกฝ่ายค้านจับ ‘ขึงพืด’  กึ่ง ๆ การซักฟอก เพราะนั่นคือการพิจารณาในวาระแรก ตอนนี้เป็นเรื่องของที่ประชุมใหญ่จะเอาด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมากหรือไม่เท่านั้น

และเมื่อว่ากันรายมาตราครบทุกมาตราแล้ว ก็ลงมติในวาระ 3 ให้ความเห็นชอบร่างทั้งฉบับ ก็ถือเป็นอันเสร็จพิธี เพราะรัฐบาล 314 เสียง คงไม่ทำให้เกิดปัญหาร่างกฎหมายสำคัญของตัวเองต้องถูกคว่ำหรอก

ฝ่ายค้านเองต่างหากที่ต้องดูกันให้ดี ทำอย่างไรจะไม่ให้มีการแตกแถวซ้ำอีก

ส่วนยกที่สอง ในวันที่ 25 มีนาคม การเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลของสมาชิกวุฒิสภา ที่จองกฐินยาวข้ามปีตั้งแต่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ยังอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ จนตอนนี้กลับไปนอนตีพุงอยู่บ้านจันทร์ส่องหล้า และไปไหนต่อไหนมาหลายแห่งแล้ว เพิ่งจะมาได้ฤกษ์อภิปรายกันเอาตอนนี้ 

ไม่รู้พอถึงเวลาจริงการอภิปรายจะกร่อยหรือเปล่า?

ส่วนยกที่สาม วันที่ 3-4 เมษายน คิวของฝ่ายค้าน ที่จะอภิปรายทั่วไปรัฐบาลโดยไม่ลงมติเหมือนกับสว.เพียงแต่ดูรูปมวยแล้วคงจะมีลำหักลำโค่น มีลีลาที่เหนือกว่าสว.สักหน่อย เพราะถึงแม้จะชักเข้าชักออก กว่าจะตัดสินใจยื่นอภิปรายได้ก็ปาเอาเกือบนาทีสุดท้ายก็ตาม

แต่ด้วยความที่ถูกปรามาสเป็นฝ่ายตรวจสอบที่ค้านไม่จริง จึงทำให้ทั้งพรรคก้าวไกลและประชาธิปัตย์ ต่างต้องทำการบ้านอย่างหนัก และต้องชกให้สมศักดิ์ศรี เพราะการอภิปรายหนนี้แม้ไม่ได้หวังผลเลิศ แต่ก็มีเดิมพันสูงมาก จึงต้องชกให้เต็มหมัด

แต่ไม่ว่าจะทำการบ้านมาดีขนาดไหน ฝ่ายค้านและสว.อย่างมากก็ได้ทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 152 และมาตรา 153 คงไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือก่อผลกระเทือนใดๆ ต่อรัฐบาล ยิ่งถ้านำข้อมูลที่สังคมได้รับรู้รับทราบไปหมดแล้วมาอภิปรายซ้ำ หรือตัดแปะจากข่าวที่สื่อนำเสนอไป ก็จะยิ่งไม่น่าสนใจใหญ่

‘เมื่อตั้งคำถามมาในสภา หน้าที่ของฝ่ายบริหารก็ต้องไปตอบ ยืนยันว่าพร้อมครับ’

นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ได้ตอบคำถามสื่อหลังการประชุมครม.สัญจร ที่ จ.พะเยา อย่างมั่นอกมั่นใจถึงการอภิปรายทั่วไปของฝ่ายค้านและ สว.ที่จะมีขึ้น หากพาดพิงไปถึงกระบวนการยุติธรรมเรื่องการพักโทษทักษิณ

สรุปศึกส่งสุดท้ายก่อนปิดสมัยประชุมสภา คงไม่มีอะไรมากไปกว่าเปิดให้ฝ่ายค้านได้ลับคมเขี้ยวก่อนปิดสมัยประชุม และมาลุ้นกันว่าฝ่ายค้านจะแตกแถวซ้ำอีกหรือเปล่าเท่านั้นแหละ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์