เห็นคนในรัฐบาลเปิดฉากวิวาทะกันมานานหลายวัน เรื่องการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ให้อยู่ในบัญชียาเสพติดประเภท 5 เหมือนเดิม โดยต่างอ้างเหตุผลของตัวเอง ชนิดสุดโต่งไปกันคนละทาง
คนหนึ่งบอกต้องนำกลับไปเป็นยาเสพติด เพราะสังคมเกิดความเสียหายจากการเปิดเสรีกัญชา ส่วนอีกคนบอกธุรกิจที่ลงทุนไปเป็นหมื่นล้าน ใครจะรับผิดชอบ จะเอาเงินจากไหนมาเยียวยาพวกเขาไหว
พร้อมท่องจำ 3 หลักการ คือ กัญชาทางการแพทย์ กัญชาเพื่อสุขภาพ และกัญชาเพื่อการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
แต่ในสายตาของหนึ่งในผู้ผลักดันให้ ‘ปลดล็อกกัญชา’ มาตั้งแต่ต้น ด้วยเหตุผลของการรักษาและกัญชาทางการแพทย์ ‘สมชาย แสวงการ’ สมาชิกวุฒิสภา มองว่า ปัจจุบันมูลค่าทางเศรษฐกิจของเหตุผลสองข้อแรก มีไม่เกินร้อยละ 5 เท่านั้น ที่เหลือเป็นเรื่องสันทนาการล้วน ๆ
จนกลายเป็นกัญชาเสรีที่ไร้การควบคุม นำมาสู่ปัญหาต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในสังคมเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นร้านคาเฟ่ สายเขียวทั้งหลาย กระจายอยู่ตามเมืองใหญ่ มีมากมายเป็นดอกเห็ดนับหมื่นแห่ง รวมทั้ง มีการซื้อขายอย่างเสรี ชนิดที่ประมาณไม่ได้ว่า มีปริมาณกัญชาอยู่ในตลาดเมืองไทยเวลานี้กี่ตัน
เมืองไทยวันนี้จึงเป็นแดนสวรรค์ของนักเที่ยวสายเขียว
สว.สมชาย ได้เสนอทางออกให้คนในรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงมหาดไทย ที่โต้ตอบกันไปมารายวัน ให้หันมาพูดภาษาเดียวกันแทนการพูดคนละภาษา และเดินทางสายกลางด้วยวิธีพบกันครึ่งทาง
นั่นคือ ไม่ต้องนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด และไม่ปล่อยให้เสรีจนไร้การควบคุม แต่ใช้วิธีสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นตรงจุดกึ่งกลางระหว่างสองสิ่งนี้
สว.สมชาย ย้อนเวลาไป ณ จุดเริ่มต้น ก่อนการปลดล็อกนำกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดสมัย ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เป็นนายกรัฐมนตรี มีทั้งกฎกระทรวงที่กำกับดูแลในเบื้องต้น ก่อนจะไปออกกฎหมายบังคับใช้ ทั้งในทางการแพทย์ การรักษาโรค
รวมทั้ง การสูบเพื่อสันทนาการ จะต้องมีรายละเอียดกำกับไว้ทั้งหมด
แต่ต่อมาเมื่อกฎหมายออกไม่ทัน กฎกระทรวงที่มีอยู่ก็ใช้ได้ไม่ทั่วถึง แถมยังมีเรื่องการเมืองเข้ามาแทรกอีกต่างหาก จึงทำให้เป็นปัญหา ‘กัญชาเสรีแบบไร้การควบคุม’ หลังการปลดล็อกอย่างที่เป็นอยู่เวลานี้
สว.สมชาย แนะไม่ต้องนำกัญชากลับเข้าไปอยู่ในบัญชียาเสพติด เพราะจะทำให้เกิดความยุ่งยากตามมา ที่แม้แต่หมอตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ก็จะมีความผิดไปด้วย ไม่เฉพาะหมอพื้นบ้านเท่านั้น แต่ให้ออกกฎหมายมาจัดระเบียบควบคุมการใช้แทน
โดยยกเอาแนวทาง เนเธอร์แลนด์โมเดล ที่พูดถึงกันตั้งแต่ต้นมาใช้ดำเนินการ กล่าวคือ ควบคุมกันตั้งแต่ต้นทาง ไม่ว่าจะจำกัดจำนวนร้านค้า จำกัดปริมาณการใช้ จำกัดปริมาณที่ซื้อกลับบ้านได้ รวมทั้ง ต้องมีหมอคอยกำกับดูแล
สรุปไม่ต้องถอยกลับไปไกลขนาดนำกลับไปเป็นยาเสพติดอีก ‘แต่ให้มีกฎหมายมากำกับดูแล’ โดยเร็ว หรือออกกฎกระทรวงมาก่อนก็ได้ เพราะกฎกระทรวงที่มีอยู่ใช้ไม่ได้แล้ว หรือจะออกเป็นพระราชกำหนดเลยจะได้เร็วยิ่งขึ้น เพราะมีร่างกฎหมายเดิมที่ค้างอยู่ในสภาเป็นกรอบอยู่แล้ว
แก้ปัญหากัญชาอย่าสุดโต่ง ให้เดินทางสายกลาง ยึดหลักมัชฌิมาปฏิปทาเข้าไว้ แล้วจะพบว่าทางออกรออยู่แค่มือเอื้อม น่าจะเป็นทางเลือกได้ในขณะที่ไม่รู้ว่าจะออกทางไหน