รู้ทันกากสารพิษ ถาม ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’

3 พ.ค. 2567 - 09:19

  • 3 เรื่องราวใหญ่กากสารพิษที่ตาก ไฟไหม้โรงงานระยอง และอยุธยา

  • ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับนโยบายการกำจัดกากอุตสาหกรรม

  • อยากรู้เรื่องนโยบายนี้ต้องถามจากอดีตรัฐมนตรีอุตสาหกรรม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

economy-chemical-factory-fire-SPACEBAR-Hero.jpg

ปัญหาเรื่องขยะและมลพิษจากกากอุตสาหกรรม ไม่ได้เป็นเรื่องที่กำลังกลายเป็นข่าวใหญ่ในเมืองไทยเท่านั้น แต่ข่าวนี้กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก ในแวดวงของกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในต่างประเทศ

ต้องถือว่าเป็นกรณีตัวอย่างที่ประจานความล้มเหลวของระบบการดูแล และจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทย จนถูกตราหน้าว่าเป็น ‘แดนสวรรค์’ ของการทิ้งขยะสารพิษจากกากอุตสาหกรรมของเอเชียไปแล้ว

ถึงนาทีนี้สังคมอาจจะกำลังจับตาไปที่การแก้ไขปัญหาเฉพาะที่หน้างานของ**‘รมว.อุตสาหกรรม พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’** จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ต้องเผชิญมรสุมจากเรื่องนี้หลายลูกซัดเข้าใส่จนแทบตั้งหลักไม่ทัน แต่จริงๆแล้วทั้งหมดเป็นเพียง **‘ยอดภูเขาน้ำแข็ง’ ** ที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือผิวน้ำ แต่ยังมีขยะที่ซุกอยู่ใต้พรมอีกจำนวนมหาศาลที่ยังถูกฝังกลบเอาไว้ ซึ่งเป็น ‘มรดกบาป’ มาตั้งแต่ยุคของ รมว.อุตสาหกรรมคนเก่า 

อดีตรมว.อุตสาหกรรม คนเดียวกับที่เพิ่งได้รับการปูนตำแหน่งใหญ่ในการปรับ ครม.รอบล่าสุดให้เป็นถึงรองนายกฯ ควบรัฐมนตรีคมนาคม ในฐานะคนสายตรงที่ใกล้ชิดของนายใหญ่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’

นับตั้งแต่เกิดเหตุกรณีการเปิดหลุมฝังกลบกากสารพิษแคดเมียมของเหมืองของ**‘บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์’** หรือ ‘ผาแดงอินดัสทรี’ ที่ตาก ซึ่งมีการขายกากแคดเมียมถึงกว่า 1.38 หมื่นตัน ให้กับ ‘บริษัท เจแอนด์บี แมททอล’ เพื่อนำไปหลอมสกัดแร่แคดเมียม โดยมีการขนย้ายเข้ามาแอบเก็บไว้ตามโกดังหลายแห่งทั้งที่สมุทรสาคร ชลบุรี และ ในเขตบางซื่อ กทม. เพื่อรอการนำไปหลอมและส่งออกไปขายจนกลายเป็นข่าวใหญ่ และรัฐบาลต้องเข้ามาจัดการแก้ปัญหา สั่งการให้มีการขนย้ายกลับไปฝังกลบที่ตากโดยเร็วที่สุด 

ในเวลาไล่เลี่ยกันก็เกิดเหตุซ้ำซ้อนตามมาติด ๆ กันถึง 2 กรณี โดยมีลักษณะของ ‘การวางเพลิง’ เพื่อเผาขยะสารพิษที่ถูกนำไปทิ้งไว้ตามโกดังต่าง ๆ ของ ‘กลุ่มทุนสีเทา’ โดยเกิดเหตุที่ โรงงานของ‘บริษัท วินโพรเสส’ ที่บ้านค่าย ระยอง และล่าสุดก็เกิดไฟไหม้โกดังเถื่อนที่ ภาชี พระนครศรีอยุธยา ของ ‘บริษัทเอกอุทัย’ ที่มีรูปคดีในลักษณะ ‘ลอบเผาวางเพลิงเพื่อเผาทำลายหลักฐาน’ และมีตัวละครที่มีความเชื่อมโยงกันในทางธุรกิจ  

หลังจากเรื่องทั้งหมด ‘แดงโร่’ และเกิดเหตุซ้ำซ้อนออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนายกฯ เศรษฐา และ รมว.พิมพ์ภัทรา จึงนั่งไม่ติด ต้องลงพื้นที่ และหลังจากนั้น อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ‘**จุลพงษ์ ทวีศรี’ ** ที่ตกเป็นเป้าในฐานะรับผิดชอบโดยตรง กลายเป็น **‘แพะ’ ** ตัวแรกที่ต้องสังเวยกับเหตุการณ์ในเรื่องนี้ 

เนื่องจากถูกมองว่าเข้าไปบริหารจัดการปัญหาไม่ได้ ซึ่งหลังจากมีข่าวว่ากำลังจะถูกโยกย้าย เจ้าตัวก็ตัดสินใจ ‘ไขก๊อก’ ลาออก เนื่องจากเหลืออายุราชการถึงแค่สิ้นเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

แต่หากจะมองย้อนหลังกลับไปที่ ‘ต้นตอ’ ความเลวร้ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ก็เป็นผลมาจากนโยบายกำจัดและรีไซเคิลกากอุตสาหกรรม ที่อาจจะฟังดูดี แต่ในทางปฎิบัติกลับมีปัญหาและช่องโหว่ทางกฎหมายที่เปิดช่องให้เกิดการทำมาหากินโดยขาดความรับผิดชอบดังกล่าว ซึ่ง รมว.พิมพ์ภัทรา น่าจะลองสอบถามขอความรู้จาก รองนายกฯ สุริยะที่เคยดูแลกระทรวงอุตสาหกรรมมาก่อนหน้านี้ดู  

ในการขอใบอนุญาตประกอบการและตั้งโรงงานประเภทนี้ที่เรียกว่า **‘ใบ รง.106 ’**สำหรับโรงงานที่รับกำจัดและรีไซเคิลของเสียหรือกากอุตสาหกรรมมีช่องโหว่ในทางปฎิบัติ ทำให้ประกอบการที่ไม่รับผิดชอบ มีเจตนาเพียงนำกากอุตสาหกรรมมา **‘ทิ้ง’ ** ไว้ในโกดังที่เช่าช่วงต่อมา พร้อมกับรับเงินค่าจ้างบำบัด แต่กลับจัดการแบบมักง่ายไม่ลงทุนในการกำจัด ซึ่งเป็นพัฒนาการจากเดิมที่ใช้วธีนำไป ‘ลักลอบทิ้ง’ ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ 

แต่เมื่อถูกตรวจพบและโดนสั่งระงับการประกอบกิจการก็ทิ้งกากขยะอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้เป็นภาระของภาครัฐในการบำบัด หรือกำจัดเอง หรือในเวลาเดียวกันเพื่อทำลายหลักฐาน ปฎิบัติการ ‘เผาแล้วจบ’ คือส่วนหนึ่งของการทำลายของกลางที่อยู่ระหว่างการอายัด เพื่อหลีกเลี่ยงในการที่จะต้องรับภาระในการนำไปกำจัดให้ถูกตามกฎหมาย และเป็นหลักฐานทางคดีความ 

ในช่วงเวลาระหว่างปี 2560 เป็นต้นมา มีการออกใบอนุญาตให้ตั้งโรงงานประเภทนี้ไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงของ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และ รมว.อุตสาหกรรมคนก่อนหน้านี้ เฉพาะบริษัทวิน โพรเสส ก็มีการออกใบอนุญาตประกอบการและครอบครองวัตถุอันตรายไปถึง 7 ใบ และยังมีโรงงานในลักษณะเดียวกันที่ได้รับใบอนุญาตอีกเป็นจำนวนมาก 

เหตุการณ์ทั้งหมด ‘มูลนิธิบูรณะนิเวศ’  (EARTH) ถึงขนาดระบุว่า มีลักษณะไม่ต่างอะไรกับรูปแบบของ ‘อาชญากรรมซ้อนอาชญากรรม’ ที่เป็นไปตาม ‘แบบแผนปกติ’ ว่าด้วยการ ‘หาทางลง’ ของผู้ประกอบการกลุ่มนี้

ปัญหามลพิษจากกากอุตสาหกรรมที่กำลัง ‘ระเบิด’ ใส่หน้ารัฐบาลอยู่ในเวลานี้ อาจกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ทำลายวิกฤตศรัทธา ของรัฐบาลให้ดำดิ่งลงไปอีก

แต่ก็น่าเศร้าเมื่อพยายามมองขึ้นไปถึงคนที่ควรจะต้องมีส่วนรับผิดชอบที่ทำให้เกิดเหตุเลวร้ายแบบนี้เกิดขึ้น กลับไม่มีอาการรู้ร้อนรู้หนาว แถมยังได้ดิบได้ดีเพียงเพราะเป็นสายตรงของ Super Prime Minister ที่มีความสามารถพิเศษ รักษาตัวรอดมาได้ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์