ไอซ์ ‘รักชนก’ ผ่านด่านแรก แต่เสี่ยงถูกปิดฉากการเมือง - นายกฯ ปากไว ห้ามลาวขายไฟสิงคโปร์

13 ธ.ค. 2566 - 09:59

  • รักชนก ศรีนอก ผ่านด่านแรกจากคดี มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

  • ยังรักษาสถานะ สส. ต่อไปได้ หลังศาลให้ประกันตัว เพื่อสู้คดีต่อ

  • นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เล่นใหญ่เกินเบอร์ ห้ามขายไฟให้สิงคโปร์

DEEP-SPACE-009-SPACEBAR-Hero.jpg

ไอซ์ ‘รักชนก’ ผ่านด่านแรก แต่ยังเสี่ยงถูกปิดฉากการเมือง

กรณี รักชนก ศรีนอก หรือ ไอซ์ สส.กทม.พรรคก้าวไกล ที่ถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกเป็นเวลา 6 ปี ในความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 และมาตรา 4

โดยศาลพิจารณาเเล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 เเละ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้ลงโทษบทหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษกรรมละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา

ทั้งนี้ เนื้อหาในคำพิพากษาบางตอนระบุว่า ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างแล้ว เห็นว่าฝ่ายโจทก์ มีพนักงานสอบสวนและผู้ที่เข้าแจ้งความร้องทุกข์ ซึ่งเบิกความไปตามจริง ไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะเบิกความกลั่นแกล้งใส่ร้ายจำเลยให้ต้องรับโทษ รวมทั้งพยานหลักฐานอื่นๆ ก็ยืนยันจากข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์จริง พยานหลักฐานโจทก์มีนำหนักน่าเชื่อถือ

ส่วนที่จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดีมาโดยอ้างว่า ไม่ได้กระทำผิด โดยไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของจำเลย เพื่อหาข้อเท็จจริง และที่จำเลยอ้างว่า มีความยึดถือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น มีข้อพิรุธและความขัดแย้งของตัวเอง ไม่ขวนขวายหาข้อเท็จริงกับแนวทางข้อต่อสู้ของจำเลยมีน้ำหนักน้อย ไม่น่าเชื่อถือ ผิดวิสัย 

ทั้งยังลงภาพและถ้อยคำ ‘แซะ’ สถาบันด้วย เห็นว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นความผิดหลายกรรมให้ลงโทษทุกกรรมตามความผิด

หลังรับทราบคำตัดสิน ‘ไอซ์-รักชนก’ ได้ยื่นขอประกันตัวต่อศาลตามขั้นตอนระหว่างการอุทธรณ์คดี

ก่อนหน้านี้ โครงการอินเทอร์เน็ต เพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ (iLaw) โพสต์ข้อความใน x iLawFX @iLawFX ให้ความเห็นทางกฎหมายไว้ว่า คดีนี้หากศาลตัดสินว่า มีความผิดและสั่งลงโทษจำคุกโดยไม่ให้ประกันตัวหรือให้เข้าเรือนจำเพื่อรอคำสั่งประกันตัว เธอจะหลุดออกจากตำแหน่ง สส.ทันที

หากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง หรือให้ลงโทษแต่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการสู้คดีชั้นอุทธรณ์ในวันเดียวกันกับที่มีคำพิพากษา ก็จะยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เพราะยังไม่ถือว่าเข้าลักษณะต้องห้าม 

แต่หากศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก และในวันที่ศาลมีคำพิพากษาศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว หรือสั่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาคำสั่ง ซึ่งส่งผลให้จำเลยต้องถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ ก็จะถือว่าเข้าลักษณะต้องห้ามเป็นบุคคลที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกและถูกคุมขังตามหมายศาลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(6) เป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่ง สส.ทันที

ตอนท้าย ไอลอว์ ระบุว่า หาก สส.พ้นตำแหน่งด้วยเหตุนี้ ในกรณีที่เป็นสส.แบบแบ่งเขต รัฐธรรมนูญมาตรา 105 (1) กำหนดให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างลง (เลือกตั้งซ่อม) ยกเว้นอายุสภาเหลืออยู่ไม่ถึง 180 วัน โดยให้จัดการเลือกตั้งซ่อมภายใน 45 วัน นับจากวันที่สมาชิกสิ้นสมาชิกภาพ (นำมาตรา 102 มาบังคับโดยอนุโลม) 

สำหรับตัวของอดีต สส.หากพ้นจากตำแหน่งในลักษณะที่คดียังไม่ถึงที่สุดและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็ยังถือว่าไม่เข้าลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้ง และกลับมาลงสมัครใหม่ได้อีก

ความเห็นข้างต้นของไอลอว์ ในประเด็นท้ายเรื่อง ‘ไม่เข้าลักษณะต้องห้าม’ นั้น มีผู้โต้แย้ง เพราะในมาตรา 98 ได้กำหนดลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.(6) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่ (ข้อเดียวกับที่ทำให้พ้นจากสส.กรณีไม่ได้รับการประกันตัว หรือได้รับการประกันตัวล่าช้า) 

ถัดมาใน (7) ระบุไว้ว่า เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 10 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ 

ดังนั้น หากคำว่า ‘เคย’ ใน (7) เป็นความต่อเนื่องจากการ ‘จำคุก’ ใน (6) ที่ทำให้ต้องพ้นจากการเป็น สส.ไอซ์-รักชนก จึงเสี่ยงสองชั้น-สองเด้ง ทั้งต้องพ้นจากการเป็น สส.หากไม่ได้รับการปล่อยตัวทันในวันนี้ และหมดสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมที่จะมีขึ้น ไม่มีโอกาสหวนคืนสภาได้อีก

แต่สุดท้ายเมื่อศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์คดี ทำให้ไอซ์-รักชนก ผ่านด่านแรกไปได้ ยังสามารถทำหน้าที่เป็นสส.ต่อไปได้ และต้องลุ้นในด่านต่อ ๆ ไป ทั้งในศาลอุทธรณ์และศาลสูงสุดผลจะออกมาเป็นอย่างไร

เพราะหากผลออกมาเป็นลบ ไอซ์-รักชนก ก็มีสิทธิ์ปิดฉากการเมืองลงเมื่อวันนั้นมาถึง

นายกฯ ปากไว ห้ามลาวขายไฟสิงคโปร์

ชั่วเวลาห่างกันไม่ถึงสัปดาห์ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน กล่าวปาฐกกถาในงานสัมมนา 2 งาน มีประเด็นสำคัญเหมือนกันทั้งสองงานเรื่องหนึ่งคือ ขอให้ลาวอย่าขายไฟฟ้าสีเขียวให้สิงคโปร์ เพราะสิงคโปร์เป็นคู่แข่งของไทย

งานแรกเป็นงานสัมมนาเรื่อง อนาคตเศรษฐกิจไทย จัดโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา นายกฯ เศรษฐา กล่าวว่า

‘ปัจจุบันประเทศคู่แข่งเราอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ เขาแย่งนักลงทุนไปไม่ว่าจะกูเกิล ไมโครซอฟท์ พลังงานสีเขียวถือเป็นหลักธรรมภิบาลสำคัญในเรื่องพลังงานของบริษัทใหญ่ ที่ไปเยือนประเทศลาว พูดกันก็คือ ลาวจะขอฝากขายไฟฟ้าสีเขียวให้กับสิงคโปร์ที่อยากซื้อเพิ่ม ถ้าให้เราขายให้สิงคโปร์ บริษัทที่ลงทุนในสิงคโปร์ก็อาจจะคาดหวังว่า สิงคโปร์จะได้พลังงานสีเขียวจากลาวได้ ก็จะเป็นคู่แข่งของไทย ผมสะสมประสบการณ์มาตลอด 30 ปีในการทำธุรกิจ บอกไปตรง ๆ เลยว่าผมไม่ขาย แต่ผมจะซื้อของคุณ เพราะไม่อยากให้สิงคโปร์ได้ไป ก็จะไปแย่งแหล่งลงทุนของไทย อันนี้เป็นความที่เราต้องโหด ต้องพูดจาตรงไปตรงมา การเจรจาต้องชัดเจนว่าอันไหนทำได้ ทำไม่ได้’

ครั้งที่สอง เป็นงานสัมมนา ‘Sustainability Forum’ จัดโดยสื่อสำนักหนึ่ง นายกฯ เศรษฐากล่าวว่า

‘ล่าสุดผมไปเยือน สปป.ลาว ในการหารือกับรัฐบาลลาว ได้ขอให้ไทยช่วยเหลือไฟฟ้าพลังน้ำที่เป็นพลังงานสะอาดจากลาวผ่านไทยไปสิงคโปร์ ซึ่งเข้าใจได้ว่า สิงคโปร์ต้องการพลังงานสะอาด แต่ในโลกของการแข่งขันดึงการลงทุนแข่งขันอย่างรุนแรง ผมบอกรัฐบาลลาว ว่า  ผมไม่ให้ผ่านไปสิงคโปร์ แต่ไทยจะรับซื้อเพื่อเตรียมความพร้อมพลังงานสะอาดเพิ่ม ซึ่งผมประกาศเพื่อให้นักลงทุนรับทราบว่า นโยบายนี้ไทยให้ความสำคัญ’

เป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงของนายกรัฐมนตรีไทย

ประการแรก เสียมารยาททางการทูต เอาเรื่องที่คุยกันระหว่างผู้นำสองประเทศ มาโพนทะนาต่อสาธารณะ

ประการที่สอง เป็นการชกใต้เข็มขัด เพราะกลัวจะสู้สิงคโปร์ไม่ได้ ถ้าไม่พูดก็ไม่มีใครรู้ แต่นี่นายกฯเป็นคนพูด เหมือนประจานประเทศไทยให้โลกรู้ว่า เรากลัวสิงคโปร์มาก จนต้องเล่นนอกกติกา แอบไปล็อบบี้ลาว ไม่ให้ขายพลังงานสีเขียวให้ 

เรื่องนี้ ยังแสดงถึงการขาดความรอบรู้ในเรื่องที่เป็นนโยบายสำคัญ ๆ อย่างเรื่องพลังงาน และความร่วมมือระหว่างสมาชิกอาเซียน ของเศรษฐา 

สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ได้ตั้งเป้าหมายเป็น 4 ประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนด้านการซื้อและขายพลังงานนอกพรมแดน

การขายไฟฟ้าลาวให้สิงคโปร์ ผ่านสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของไทย อยู่ภายใต้โครงการบูรณาการพลังงาน สปป.ลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ (LTMS-PIP) ซึ่งมีการเซ็นสัญญาร่วม 3 ฝ่าย เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว 

ก่อนหน้านั้น ในเดือนกันยายน 2557 สปป.ลาว, ไทย, มาเลเซีย และสิงคโปร์ ได้สำรวจแนวคิดการซื้อขายไฟฟ้านอกเหนือจากประเทศเพื่อนบ้านผ่านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และโครงการอาเซียน พาวเวอร์ กริด 

ต่อมาในปี 2560  การไฟฟ้าลาวเริ่มขายไฟฟ้าให้กับมาเลเซีย ภายใต้โครงการ สปป.ลาว-ไทย-มาเลเซีย (LTM) 

ประเทศไทยมีแผน และโรดแมปที่ชัดเจน ในการพัฒนาพลังงานสะอาด เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และพึ่งตัวเองในการผลิตไฟฟ้าต้นทุนต่ำจากพลังงานหมุนเวียน การซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากลาวอยู่ในแผนดังกล่าวด้วย แต่มีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  

หวังว่าทั้งผู้นำลาวและสิงคโปร์ คงไม่ถือสาหาความกับคำพูดของนายกรัฐมนตรีไทย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์