9 ธันวาฯ ประชาธิปัตย์ รอวันสูญพันธุ์? - ข้าวหอมมะลิไทย ซอฟต์เพาเวอร์ที่ถูกลืม - ‘เทสลา’ มาหรือไม่มา ไทยก็เป็นฮับอีวีแล้ว

8 ธ.ค. 2566 - 09:35

  • การดำรงอยู่ของพรรคการเมืองเก่าแก่จะไปทิศทางไหน วันที่ 9 ธันวาคมนี้รู้ผล

  • ข้อเท็จจริงข้าวหอมมะลิไทยไม่ติดรางวัลระดับโลก เพราะไม่ได้ส่งเข้าประกวด

  • เทสลาหากจะเข้ามาตั้งโรงงานในไทย ก็ไม่ใช่ผลงานรัฐบาล แต่เป็นการเติบโตของรถไฟฟ้ามากกว่า

DEEP-SPACE-006-economy-deep-space-ev-tasla-jasmine-rice-SPACEBAR-Hero.jpg

9 ธันวาฯ ประชาธิปัตย์รอวันสูญพันธุ์?

‘ความจริงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร ซึ่ง พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.สงขลา เขาพูดในที่ประชุมพรรคหลายครั้ง ว่าจะเลือกใครเป็นหัวหน้าพรรคดี ก็แล้วแต่เลขาธิการพรรคสั่ง เพราะเลขาฯ ดูแลเขามา 4 ปีแล้ว’

นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเรื่องมติ 21 สส.ที่สนับสนุน ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ เป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป และไม่ได้รู้สึกกังวลกับการเลือกหัวหน้า ปชป.ที่จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคมนี้

แม้จะเป็นคำตอบราบเรียบตามสไตล์ผู้อาวุโสอย่าง ‘ชวน หลีกภัย’ แต่ก็มีความแจ่มชัดในตัวว่า เหตุใด 21 สส.จึงมีมติสนับสนุนนายเฉลิมชัย ก็เพราะให้การดูแลกันมาตลอด 4 ปีนั่นเอง

หลังมติ 21 สส.ประชาธิปัตย์ ที่น่าจะเป็นการ ‘เตี๊ยม’ กันมากกว่า เพราะประชุมเสร็จ ทั้งหมดได้พากันนำเทียบเชิญไปยังบ้านเคียงดาว ย่าน ถนนพุทธมณฑล ของนายเฉลิมชัย ทันทีในช่วงค่ำวันนั้น ไปพร้อมกับคำว่า หากขอร้องไม่เป็นผลก็ต้องใช้วิธีบังคับ..

ขณะที่ ‘เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย’ ยังสงวนท่าทีขอเวลาตัดสินใจอีก 1-2 วัน ซึ่งต่างจาก ‘นราพัฒน์ แก้วทอง’ ที่ถูกวางตัวชิงหัวหน้า ปชป.ไว้เดิม ได้ประกาศถอนตัวทันทีชนิดที่ไม่มีอะไรต้องลังเล

แต่ปัญหาใหญ่ของนายเฉลิมชัย ที่จะหวนคืนสู่สนามการเมืองอีกครั้ง ไม่ใช่เพราะต้องไปเผชิญหน้ากับผู้อาวุโสในพรรค ที่เป็นขมิ้นกับปูนกันมานาน แต่การประกาศเลิกเล่นการเมืองไว้ก่อนเลือกตั้งต่างหากที่ยังค้ำคอไว้ จะแก้ตัวอย่างไรไม่ให้สังคมตราหน้าว่า ‘กลืนน้ำลาย’ ที่ตัวเองถ่มถุยทิ้งไปแล้ว

แม้นายเฉลิมชัย จะยังไม่มีคำตอบสุดท้ายให้จะทำตามมติ 21 สส.กลุ่มเพื่อนเฉลิมชัยหรือไม่ แต่เวลาที่เหลืออยู่อีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะถึงวันประชุมใหญ่ อีกทั้ง เมื่อตัดสินใจหงายไพ่ใบนี้ออกมาในเกือบจะนาทีสุดท้าย ก็คงต้องใส่เกียร์เดินหน้าอย่างเดียว ถอยหลังอีกไม่ได้!!

ที่สำคัญการตัดสินใจมานั่งหัวหน้า ปชป.ด้วยตัวเองครั้งนี้ของนายเฉลิมชัย นอกจากจะเป็นช่วง ‘นาทีทอง’ ได้สานฝันที่เป็นจริงให้ตัวเองแล้ว อีกเป้าหมายใหญ่ของ สส.กลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย คือการนำ ปชป.เข้าร่วมรัฐนาวาเพื่อไทย ที่คนชั้น 14 ยังเปิดประตูรอรับอยู่

ตลอดเวลา 20 ปี ของการเมืองไทย มีสองพรรคใหญ่ ‘ประชาธิปัตย์ - เพื่อไทย’ ขับเคี่ยวกันมาในสนามเลือกตั้ง ทั้งใน กทม.และภาคใต้ที่เป็นเสมือนเมืองหลวงของประชาธิปัตย์ แต่ในช่วงสิบปีหลัง พรรคประชาธิปัตย์ เผชิญมรสุมมากมายโดยเฉพาะความขัดแย้งภายใน จากพรรคใหญ่ร้อยกว่าเสียง ลดลงมาเหลือต่ำร้อย ล่าสุดเหลือ สส.ในสภา 25 เสียง

ทั้งหลายทั้งปวง เกิดจากการเดินเกมการเมืองที่ผิดพลาด และที่สำคัญได้เปลี่ยนจุดยืนที่เคยเป็นจุดแข็งของพรรคคือ ‘ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ’ มาเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สืบทอดอำนาจมาจากคณะรัฐประหาร คสช.

วันนี้คนใน ปชป.ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถึงเวลาต้องฟื้นฟูพรรค เพื่อเรียกศรัทธาที่ประชาชนเคยมีให้กลับมา แต่แม้จะมีเป้าหมายเดียวกัน ทว่าวิธีการนั้นต่างกัน..ฝ่ายหนึ่งต้องการนำพรรคเข้าร่วมรัฐบาล แต่อีกฝ่ายเห็นว่าต้องเป็นฝ่ายค้านเท่านั้น ถึงจะฟื้นฟูพรรคได้

เมื่อความเห็นไม่ตรงกัน จึงนำมาสู่การต่อสู้ช่วงชิงการนำในพรรคเกิดขึ้น และฝ่ายที่ต้องการเข้าร่วมรัฐบาลถือไพ่เหนือกว่า เพราะคุมเสียง สส.ไว้ได้ 21 เสียง จาก 25 เสียง ซึ่งเท่ากับร้อยละ 51 ของโหวตเตอร์ ร้อยละ 70 ในสัดส่วนของสส.

ดังนั้น การประชุมใหญ่ ปชป.วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคมนี้ หากไม่มีอะไรผิดพลาด ชนิดที่ทำให้องค์ประชุมต้องล่มซ้ำ เชื่อว่า ‘เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย’ แบเบอร์ขึ้นนั่งเก้าอี้หัวหน้า ปชป. คนที่ 9 อย่างแน่นอน ถ้าไม่เปลี่ยนใจในนาทีสุดท้ายเสียก่อน..

ถึงตอนนั้น พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของ ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ และคณะ จะได้ทุกอย่างที่ต้องการ ยกเว้นการฟื้นฟูพรรค ที่คอการเมืองต่างเชื่อโดยสนิทใจว่า หลังการเลือกตั้งเที่ยวหน้า ปชป.จะดำดิ่งลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่ 

9 ธันวาคมนี้ ปชป.จึงอาจอยู่ในสถานะเดียวกับ พรรคชาติไทยพัฒนา หรือพรรคชาติพัฒนากล้า หรือเลวร้ายสุดอาจเป็นพรรคกิจสังคม 2 ที่ในอดีตเรียกกันว่า ‘พรรคแสบ’ แต่วันนี้กลายเป็นตำนานการเมืองไปแล้ว

เส้นทางการเมืองจากนี้ไปของพรรคประชาธิปัตย์ ในวันก้าวสู่ปีที่ 78 คงเป็นก้าวย่างที่รอวันสูญพันธุ์

ข้าวหอมมะลิไทย ซอฟต์เพาเวอร์ที่ถูกลืม

กลายเป็น ‘ดราม่า’ กระหึ่มในโลกโซเชียลมีเดียอีกเรื่อง เมื่อมีข่าวว่าข้าวเวียดนามสามารถขึ้นมาครองแชมป์ข้าวโลกปี 2022 ในการประกวด ข้าวที่ดีที่สุดในโลกThe World’s Best Rice 2023 ในการประชุมข้าวโลก (2023 International IWRC) ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งผลปรากฏว่า ข้าวพันธุ์ ST25 จากเวียดนาม ได้รับรางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2566 โดยไม่ข้าวจากไทยผ่านเข้ารอบ 3 อันดับแรก ที่มีเวียดนาม กัมพูชา และอินเดีย

คำถามต่าง ๆ ตามมามากมายว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมข้าวหอมมะลิของไทย จึงตกต่ำถึงขนาดไม่เข้ารอบสุดท้าย แพ้ ผกาลำดวนของ กัมพูชา ก็ว่าแย่แล้ว คราวนี้ปล่อยให้ข้าวเวียดนามขึ้นมาผงาดเป็นข่าวที่ดีที่สุดในโลกได้อย่างไร    

ร้อนถึงนักสืบไซเบอร์ ต้องรีบไปหาเบื้องลึกในเรื่องนี้ ซึ่งก็ได้รับคำอธิบาย จาก ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ที่บอกเล่าให้ฟังว่า ไทยตัดสินใจไม่ส่งข้าวเข้าร่วมการประกวดในปีนี้ เนื่องจากมีคำถามเรื่องมาตรฐานของการจัดการประกวด ที่จัดโดย The Rice Trader (TRT) ที่ทำธุรกิจสื่อขายข้อมูลด้านข้าว 

ชูเกียรติ ยืนยันว่า หากไทยส่งข้าวเข้าประกวดมั่นใจได้เลยว่า ข้าวไทยไม่มีทางหลุด 3 อันดับแรกแน่นอน และการประกวด 13 ครั้งที่ผ่านมาข้าวไทยครองแชมป์ถึง 7 ครั้ง และเข้ารอบ 1 ใน 3 ทุกครั้ง

แต่ในการประกวดในครั้งที่แล้ว (ปี 2565) ที่ภูเก็ตเริ่มมีเรื่องตุกติก เมื่อมีการตัดสินให้ ข้าวหอมมะลิผกาลำดวน (กัมพูชา) ได้ไป ซึ่งมีข่าววงในว่า มีการเอื้อประโยชน์ให้เพราะต้องการจะให้กัมพูชาเป็นเจ้าภาพในการจัดครั้งต่อไป แต่สุดท้ายก็ย้ายสถานที่จัดงานมาเป็นที่ เซบู ฟิลิปปินส์ แทน 

ทางภาคเอกชน คือ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย จึงมีการหารือกันและตัดสินใจไม่ส่งข้าวหอมมะลิไทยเข้าประกวด เพราะมั่นใจว่าปัจจุบันตลาดโลกต่างยอมรับว่า ข้าวหอมมะลิของไทยนั้น อยู่ในระดับที่เหนือชั้นกว่าพันธุ์ข้าวจากประเทศอื่นอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมาสามารถครองแชมป์ต่อเนื่องมาถึง 7 ปี ซ้อน จากการประกวด 14 ครั้งที่ผ่านมา จึงน่าจะการันตีถึงคุณภาพของ ข้าวหอมมะลิไทย ที่อยู่เหนือคู่แข่งประเทศอื่น 

หลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ข้าวหอมมะลิ ของไทยได้รับการยอมรับจากตลาดโลก เห็นได้จากระดับราคาข้าวหอมมะลิเกรด พรีเมียมของไทย ที่ส่งออกไปขายในตลาดที่มีกำลังซื้อ อย่างสหรัฐฯ ยุโรป ฮ่องกง สิงคโปร์ และหลายชาติในตะวันออกกลาง สามารถขายได้ในราคาที่สูงถึง ตันละ 900 เหรียญ สหรัฐฯ หรือราวตันละ 3.1-3.2  หมื่นบาท สูงกว่า ข้าวหอม ‘พกาลำดวน’ ของ กัมพูชา และข้าว เวียดนามถึงตันละ 100-150 เหรียญ 

ในเรื่องนี้ สมเกียรติ มรรคยาธร เลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ให้ความเห็นว่า ในท่ามกลางกระแสข่าวเกี่ยวกับ เรื่องของ Soft Power ในปัจจุบัน ข้าวหอมมะลิ ก็มีศักยภาพที่จะเป็นอีกหนึ่ง ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ ด้านอาหาร ที่รัฐบาลของ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน น่าจะหันมาให้ความสนใจในการส่งเสริมมากกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งในเรื่องการขยายตลาด และการเร่งพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ 

มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะในขณะที่ ประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวไปขายต่างประเทศได้ปีละ 8-9 ล้านตัน ได้เม็ดเงิน ราว 1.5 แสนล้านบาท แต่ข้าวที่ส่งออกไปส่วนใหญ่ก็เป็นข้าวคุณภาพปานกลางหรือต่ำ ในขณะที่ข้าวเกรดพรีเมียมอย่าง ข้าวหอมมะลิ กลับมีเพียงราว 1 ล้านตัน

สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าผลการตัดสินที่ข้าวไทยไม่ได้รับรางวัล คือ ‘ยุทธศาสตร์ข้าวไทย’ ในการพัฒนาและรับรองข้าวสายพันธุ์ และกระบวนการเพาะปลูก ที่จะเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ได้หรือไม่ 

ที่ผ่านมา งานด้านการวิจัยและพัฒนาข้าวของไทยในช่วง 2563-2565 มีการรับรองสายพันธุ์ใหม่ 13 สายพันธุ์ มีชนิดข้าวเจ้าพื้นนุ่ม เช่น กข87, กข89, กข97 กลุ่มข้าวเจ้าพื้นแข็ง เช่น กข85, มะจานู69, อัลฮัมดุลิลาฮ์4, กข91,กข93, กข95, กข101 กลุ่มข้าวหอมไทย เช่น พันธุ์ขาวเจ็กชัยนาท4 กลุ่มข้าวโภชนาการสูง พันธุ์ขาหนี่ 117และกลุ่มข้าวเหนียว พันธุ์ดำดาษ 20

แต่กลับปรากฏว่า ไม่มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิใหม่ ๆ ออกมา ที่จะให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ในขณะที่เวียดนามเริ่มพัฒนาเข้าสายพาน ST เป็นซีรีย์อย่างต่อเนื่องไล่มาตั้งแต่ ST14 จนถึง ST25 ในปัจจุบัน

ขณะเดียวกันในด้านการขยายตลาด นอกเหนือจากการให้ผู้ส่งออกของไทยไปบุกขยายตลาดใหม่ๆ แต่หากเราเชื่อว่า ข้าวหอมมะลิ นั้นมีเรื่องราว และศักยภาพมากพอที่จะได้รับการยอมรับในระดับสากล ทำไมไม่ใช้ข้าวหอมมะลิของไทยให้เป็นอีกหนึ่ง ซอฟต์เพาเวอร์ ที่จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้กับชาวนาในภาคอีกสานได้อีกมหาศาล 

แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ข้าว จะเป็นอะไรที่ ‘บาดลึก’ ความรู้สึกของ ประธานซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ คือ น้องอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ว่าที่นายกฯหญิงคนต่อไปหรือเปล่า เมื่อประหวัดไปคิดถึงชะตากรรมของ น้าสาว ปู ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ต้องพังพาบไปเพราะ โครงการจำนำข้าว

'เทสลา' มาหรือไม่มา ไทยก็เป็นฮับ ‘อีวี’ แล้ว

นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ไปพูดกับนักศึกษาหลักสูตร วิทยาการจัดการสำหรับผู้บริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า มั่นใจเต็ม 100% ว่า เทสลาจะมาลงทุนในประเทศไทยแน่นอน เพราะได้ส่งผู้บริหารระดับสูง เข้ามาดูนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง โดยเทสลาต้องการที่ดิน 2,000 ไร่ สำหรับตั้งฐานการผลิต ที่ไม่ใช่แค่โรงงานประกอบ แต่เป็นซัพพลายเชนครบวงจร

เดือนก่อน สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า  เทสล่าใกล้บรรลุข้อตกลงกับอินเดีย ตั้งโรงงานผลิตรถไฟฟ้าขายในอินเดียและส่งออก

ตอนต้นปี บลูมเบิร์กเจ้าเดิม แพร่ข่าวว่า เทสลาจะตั้งโรงงานที่อินโดนีเซีย

ถ้าเทสลาจะมาตั้งฐานการผลิตที่ประเทศไทย คงไม่ใช่เพราะนายกรัฐมนตรีไปชวน หรือพาผู้บริหารเทสลาไปลอยกระทงที่เชียงใหม่ แต่มาเพราะประเทศไทยมีตลาดในประเทศที่แม้จะเพิ่งเกิด แต่ขยายตัวอย่างรวดเร็วเกินคาด เป็นปัจจัยที่สร้างความเชื่อมั่นของผู้ผลิตรถไฟฟ้าต่างชาติ 

ตัวเลขของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 10 เดือนแรกของปีนี้ รถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่หรือรถป้ายแดง มีจำนวน 57,628 คัน เทียบกับ 10 เดือนแรกของปีก่อน 7,046  คัน คิดเป็นอัตราการเติบโตสูงถึง 717.88%   

ยอดขายในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป วันที่ 29 พฤศจิกายน -4 ธันวาคม แบรนด์ที่มียอดขาย 1 พันคันขึ้นไปรวม 7 แบรนด์ เป็นรถจีน ที่เกือบทั้งหมดเป็นรถไฟฟ้า 5 แบรนด์ รวม 6,099 คัน เป็นรถญี่ปุ่นที่เป็นรถน้ำมัน 2 ยี่ห้อคือ โตโยต้า และฮอนด้า จำนวน 4,127 คัน

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของรถไฟฟ้า เป็นเพราะนิสัยเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของคนไทย ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และราคารถไฟฟ้าโดยเฉพาะรถยี่ห้อจีน ไม่แพงเกินไป  รถไฟฟ้าจึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์  

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า  มาตรการสร้างดีมานด์ ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยการลด ยกเว้น ภาษี ให้เงินอุดหนุนผู้ซื้อรถไฟฟ้าคันละ 70,000-150,000 บาท เป็นแรงกระตุ้นยอดขายที่แรงมาก 

รัฐบาลพลเอกประยุทธ์กำหนดให้ อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต  ผลักแดนแผนรถอีวีแห่งชาติ ที่มีเป้าหมาย ให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญของโลก ภายในปี 2578 

ปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตรถอีวี ชั้นนำของโลกจำนวนมาก มีคลัสเตอร์ผู้ผลิตรถไฟฟ้า แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนเกิดขึ้นแล้ว ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ อีอีซี บริษัทรถไฟฟ้า ชั้นนำของโลกจากจีน 10 อันดับแรก เข้ามาลงทุนแล้ว 6 บริษัท

อินโดนีเซีย มีแร่นิคเคิล ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในแบตเตอรี่รถไฟฟ้า แต่ไม่มีดีมานด์รถไฟฟ้า ฮุนได เป็นเจ้าแรกที่ลงทุนประกอบรถไฟฟ้าในอินโดนีเซีย เมื่อปี 2565  แต่มียอดขายแค่หลักร้อยคัน   รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศเมื่อต้นปีนี้ว่า  บีวายดี กับเทสลา ตกลงร่วมทุนตั้งฐานผลิตในอินโดฯ แต่สุดท้าย บีวายดี เลือกไทย

เทสลาเอง นำเข้ารถมาขายในไทย เมื่อต้นปีนี้ ก็เพราะเห็นสัญญาณการแจ้งเกิดของตลาดรถไฟฟ้าในไทย  แต่จะถึงขั้นตั้งฐานการผลิตอย่างที่นายกฯ เศรษฐา ไปชวนมาหรือไม่ คงอยู่ที่ปัจจัยอื่นๆ โดยเฉพาะ การแข่งขันกับรถไฟฟ้าสัญชาติจีน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์