หนี้หุ้นกู้ JKN ล่องลอยไปในจักรวาล-อุ่นเครื่องการเมือง ก่อนถึงพฤษภาคม 67-โครงการแลนด์บริดจ์ ขายฝันไปเรื่อย ๆ

19 ธ.ค. 2566 - 08:35

  • หนี้หุ้นกู้ JKN เจ้าหนี้ก็ยังมีความรู้สึกว่าล่องลอยไปในจักรวาลที่ไร้ขอบเขต

  • อุ่นเครื่องการเมือง ก่อนถึงพฤษภาคม 2567 จะปรับ ครม.หรือเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี คงได้รู้กัน

  • โครงการแลนด์บริดจ์ ขายฝันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีนักลงทุนต่างชาติสนใจทำต่อไป

DEEP-SPACE-economy-jkn-stock-deep-space-universe-land-bridge -SPACEBAR-Hero.jpg

หนี้หุ้นกู้ JKN ล่องลอยไปในจักรวาลอันไกลโพ้น

การประชุมเจ้าหนี้หุ้นกู้ของบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา บรรยากาศเหมือนการนั่งไปในยานอวกาศ ล่องลอยไปในจักรวาลอันไกลโพ้น ไร้แรงขับเคลื่อน ในขณะที่ออกซิเจนในยานกำลังจะหมดลงอย่างช้า....ช้า

บริษัท เจเคเอ็น ได้เชิญบรรดาโบรกเกอร์ที่เป็นตัวแทนการจัดจำหน่าย และเจ้าหนี้หุ้นกู้รายใหญ่ ๆ มาประชุมเพื่อให้ทีมงานใหม่ที่จะเข้ามาบริหารแผนฟื้นฟูฯ เข้ามา ทั้งในด้านธุรกิจ-การเงิน และกฎหมาย นำเสนอแนวทางในการฟื้นฟูกิจการ หลังจากที่ยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลางขอเข้าแผนฟื้นฟูฯ แบบสายฟ้าแลบ ไปเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา   

ทีมใหม่ที่เข้ามาประกอบด้วย บริษัทที่ปรึกษากฎหมายฟาร์อีสต์ จำกัด มี โชตินทร์ อรุโณทัย มาในตำแหน่งที่ปรึกษา ตามมาด้วยบริษัท เพลินจิต แอ็ดไวเซอร์รี่ แอนด์ แพลนเนอร์ จำกัด มี สายัณห์  สุพร เป็นกรรมการผู้จัดการ และพันธมิตรคนสำคัญของแอน JKN ทรงพล ชัญมาตรกิจ มาในฐานะ ประธานกรรมการบริษัท บริษัท ต้นหอม จำกัด รับหน้าที่เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ โดย แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ไม่ได้มาปรากฏตัวในงาน  

ส่วนเจ้าหนี้ที่เข้าร่วมประชุมมาจากบรรดาโบรคเกอร์ และเจ้าหนี้หุ้นกู้ทุกล็อตที่ JKN ยังค้างจ่ายทั้งต้นและดอกเบี้ยอยู่ในเวลานี้ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ดาโอ บริษัทหลักทรัพย์เอเชียพลัส  บริษัทตรวจสอบบัญชี รวมถึงเจ้าหนี้หุ้นกู้รายย่อยอื่น ๆ ด้วย 

งานนี้ควบคุม กำกับการแสดงโดย ทรงพล หรือ ‘เฮียซ้ง’ อดีตผู้ก่อตั้งธุรกิจทีวีไดเร็ค ผู้สร้างจอร์จ กับ ซาร่า โฆษณาขายตรงในตำนาน

ต้องบอกว่าการประชุมครั้งนี้ คือ การประเมินเบื้องต้นว่า เจ้าหนี้รายใหญ่มีท่าทีว่าจะยอมรับแผนฟื้นฟูที่ทาง JKN กำลังทำหรือไม่ ซึ่งจะเกี่ยวเนื่องถึงวันที่ 29 มกราคม 2567 ที่ต้องรอการตัดสินของศาลล้มละลายกลางว่าพิจารณาอย่างไรกับกระบวนการฟื้นฟูกิจการของ JKN

บรรยากาศของประชุมเริ่มด้วยการบอกเล่าโมเดลการสร้างรายได้ของ JKN ช่วงต่อไปเพื่อหารายได้มาชำระหนี้  ซึ่งบริษัทวางแผนที่จะใช้การจัดประกวด Contest ของ องค์กรนางงามจักรวาล Miss Universe เป็นธุรกิจหลักที่จะสร้างรายได้ในอนาคต จากรายได้หลาย ๆ ทาง ทั้งจากการขายสิทธิ์การจัดการประกวด ทั้งในเรื่องของเจ้าภาพการจัดงาน และการจัดประกวดหาตัวแทนในแต่ละประเทศ หรือในระดับทวีป เช่นอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และเอเชีย และการต่อยอดทางธุรกิจจากการใช้ ภาพลักษณ์ Miss Universe ในการผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ   

ส่วนธุรกิจด้าน เนื้อหาหรือ Content ก็จะมุ่งเน้นในการขายลิขสิทธิ์ ซีรีย์อินเดีย สารคดี ต่าง ๆ ที่อยู่ในมือมาบริหารจัดการสร้างรายได้จากผู้ซื้อในประเทศ  

ส่วนรายได้จากการขาย Commerce จะถูกลดความสำคัญลง แต่จะมุ่งการสร้างรายได้สิทธิในแบรนด์ MUO ที่เป็นทรัพย์สินที่มีความหมายที่สุดของบริษัทในเวลา

ทรงพล อธิบายคำตอบที่เจ้าหนี้อยากทราบมากที่สุดว่า JKN  จะสามารถชำระหนี้ได้ในช่วงเวลา 5 – 7 ปี  และจะทยอยจ่ายหนี้ทุกปี แต่ไม่ได้มีรายละเอียดเรื่องตัวเลขให้พิจารณาแต่อย่างใด  

ความหมายของ JKN คือ จักรวาลนี้ยังคงสีชมพู  อยู่บนดาวที่เต็มไปด้วยทุ่งลาเวนเดอร์  เพราะยังคงขายฝันว่า ธุรกิจนางงามจะทำให้ JKN จะมีรายได้มากพอที่จะมีเงินมาจ่ายหนี้เจ้าหนี้ได้หมดภายใน 5-7 ปี ซึ่งหมายความว่า ชื่อของ Miss Universe ยังคงแข็งแรงมากพอ ที่จะทำให้คนทั้งโลกสนใจการจัดการประกวด มีคนแย่งซื้อ แย่งประมูล เพื่อเป็นเจ้าภาพทุกปี และสามารถต่อยอดขายลิขสิทธิ์ไปผลิตสินค้าได้อย่างถล่มทลาย 

นั่นคือสิ่งที่ ลูกหนี้อย่าง JKN ฝันเห็น แต่เจ้าหนี้ฝั่งโบรกเกอร์เห็นคนละแบบ

ตัวแทนเจ้าหนี้ที่เป็นโบรกเกอร์ เปิดฉากด้วยการตั้งคำถามตรง ๆ ว่า จนถึงเวลานี้บรรดาเจ้าหนี้ก็ยังไม่เข้าใจว่า ทำไม แอน JKN ตัดสินใจ ‘หักดิบ’ บรรดาเจ้าหนี้หุ้นกู้ ทั้ง ๆ ที่ในการประชุมเรื่องหนี้หลายครั้ง ก็ยังมีท่าทีว่าจะจ่ายหนี้หุ้นกู้ตามกำหนด แต่เมื่อถึงเวลากลับใช้วิธี ‘มุด’ เข้าสู่การกระบวนฟื้นฟู

คำว่า ‘มุด’ ในที่ประชุมวันนั้น บ่งบอกถึงอาการไม่สบอารมณ์ที่อยู่ในใจของเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ในห้องประชุมวันนั้น

สิ่งที่เจ้าหนี้เห็นต่างก็คือ หากดูจากตัวเลขทางการเงินตามที่แจ้งต่อตลาดฯ JKNน่าจะมีกำลังพอที่จะเลือกชำระดอกเบี้ยก่อนได้  ส่วนเงินต้นค่อยเจรจากันอีกรอบ เพราะจากการดูงบการเงินของบริษัทแล้ว ควรจะสามารถจ่ายได้ และต้องเข้าใจนักลงทุนด้วยว่าเข้ามาลงทุนเพราะแรงจูงใจจากดอกเบี้ย 

จากตัวเลขงบดุลทางบัญชี  มีตัวเลขกระแสเงินสดที่แสดงรายได้ของบริษัท ก็ยังมีกำไร แต่เกิดอะไรขึ้นที่ทำให้บริษัทประสบปัญหาหนักไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้  ปัญหาไม่น่าจะเกิดขึ้นจากธุรกิจของบริษัท  น่าจะเป็นจากผู้บริหารมากกว่า   

เจ้าหนี้รายหนึ่งบอก ฟันธงลงไปด้วยว่า JKN ให้ข่าวแต่ละครั้งไม่ตรงกันเลย ทำให้ลูกค้าตอนนี้ไม่มีความเชื่อถือ ความยุ่งยากของโบรกเกอร์ คือ ตอนนี้ไม่มีใครเอาลูกค้าอยู่ ต้องบอกว่าโอกาสการคัดค้านแผนฟื้นฟุมีค่อนข้างที่จะสูงมาก

สิ่งที่สะท้อนออกมามากที่สุด คือ การประชุมเจ้าหนี้ครั้งนี้ ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน หรือเป็นแผนที่จะสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหนี้ได้แม้แต่น้อย  

ทรงพล ที่รับหน้าเสื่อในการประชุม ก็ร้องขออย่างเดียวว่า ขอเวลาในการรวบรวมข้อมูล   การสร้างรายได้ และการชำระหนี้ น่าจะมีความชัดเจนด้านรายละเอียดในการประชุมครั้งต่อไป ที่จะมีขึ้นก่อนวันที่ 29 มกราคมปีหน้า

หลังจากพยายามซักไซ้ไล่เรียงเพื่อให้เข้าใจ สถานการณ์ที่แท้จริง ของบริษัท แต่ไม่คำตอบที่ชัดเจน โบรคเกอร์บางรายถึงกับไม่รับปากว่า แผนฟื้นฟูฯที่จะยื่นต่อศาลล้มละลายกลางฯนั้นจะได้รับการโหวตรับรองจากตัวแทนเจ้าหนี้หุ้นกู้

ซ้ำร้ายบางรายถึงกับเตือนว่า กระบวนการต่อจากนี้อาจจะมีการร้องให้ DSI เข้ามาหลังจากมีผู้ไปยื่นร้อง และอาจต้องมีการตรวจสอบบัญชีเป็นกรณีพิเศษ Special Audit ซึ่งอาจจะนำไปสู่คดีความทางอาญาก็เป็นได้ หากตรวจพบลักษณะของการตกแต่งบัญชี ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ของ JKN อาจจะย่ำแย่ไปกว่านี้ 

แต่สุดท้าย เจ้าหนี้ที่ร่วมประชุมครั้งนี้ก็ยังไม่ได้คำมั่นสัญญาอะไรกลับไป  นึกได้ประโยคเดียวจากโฆษณาทีวีไดเร็ค

‘โอ้พระเจ้าจอร์จ แผนใช้หนี้ มันยอดมาก’

อุ่นเครื่องการเมือง รอจุดเปลี่ยนหลังพฤษภาคม 67

บรรยากาศการเมืองในช่วงนี้ เริ่มพูดถึงการเปลี่ยนแปลงกันมากขึ้น ตั้งแต่การปรับคณะรัฐมนตรี ไปจนถึงการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีกันเลยทีเดียว

โดยมีปฐมบทจากการประเมินผลงานรัฐบาลรอบ 100 วัน ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งได้สร้างความไม่พอใจให้กับคนในพรรคเพื่อไทยไม่น้อย บ้างบอกเป็นพวกองุ่นเปรี้ยว บ้างก็แสร้งบอกไม่ให้ราคา 

ถัดมาเป็นเสียงวิจารณ์จากในซีกของวุฒิสภา เมื่อ สว.วันชัย สอนศิริ ให้คะแนนผลงานรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน แบบกดสุด ๆ ให้ 4 คะแนน จากเต็ม 10 เพราะได้แต่ภาพอีเวนท์ การลงพื้นที่ได้แต่ฉาบฉวย แต่ผลงานเป็นชิ้นเป็นอันที่จับต้องได้ยังไม่มี

แต่ สว.วันชัย ก็เชื่อว่ากระแสการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจากเศรษฐา เป็น แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยังไม่มี และยังไงเศรษฐาก็ยังเป็นนายกรัฐมนตรี ‘ผมรู้ว่าจังหวะที่ แพทองธาร ควรจะมาเมื่อไหร่ แต่ไม่ใช่ตอนนี้แน่นอน แล้วไม่มีเหตุผลจะต้องมาตอนนี้ ถ้ามาได้เขาเอามาตั้งแต่แรกแล้ว’

สว.วันชัย ให้เหตุผลการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีต่อจากนี้จะมาจาก 3 เรื่อง คือ 1.พรรคร่วมรัฐบาลขัดแย้งแตกแยก ซึ่งตอนนี้มองว่ายังยาก 2.รัฐบาลโกงกินทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งถ้าใครขืนทำก็หายนะ และ 3.เรื่องของผลงานรัฐบาล มีปรากฏหรือไม่

ส่วนจังหวะเหมาะสมสำหรับ แพทองธาร จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีช่วงไหนนั้น วันชัย ให้ติดตามกันต่อไป แต่ไม่น่าจะใช่ช่วงนี้ และคิดว่าอาจจะเป็นปลาย ๆ สมัยของรัฐบาล หรือใกล้เลือกตั้งอาจจะเป็นไปได้ แต่ตอนนี้สถานการณ์ไม่เอื้อที่จะเปลี่ยน

รศ.ธนพร ศรียากูล นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดูเหมือนเป็นคนเดียวในชั่วโมงนี้ที่เชื่อว่าจะมีการปรับ ครม.เกิดขึ้นต่อจากนี้อีกไม่นาน หลังรัฐบาลบริหารประเทศผ่านไปสามเดือน โดยเปรียบเทียบกับในอดีตที่เป็นสไตล์ของพรรคเพื่อไทย

แต่ที่ว่ามาทั้งหมดนั้น รวบความแล้วเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จะยังไม่เกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้ โดยเฉพาะภายในปี 2566 ที่เหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็จะสิ้นปีแล้ว 

ดังนั้น ต้องไปโฟกัสกันต่อในปี 2567 ซึ่งจะมีตัวเร่งนำไปสู่จุดเปลี่ยนทางการเมืองที่ สว.วันชัย จำแนกเอาไว้ได้ตั้งแต่ข้อแรก คือ ‘ความขัดแย้งในพรรครัฐบาล’

เป็นความขัดแย้ง ที่มาจากชนวนเหตุนโยบายของรัฐบาลนั่นเอง อาทิ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่อาจมีปัญหา ‘ขัดลำกล้อง’ ตั้งแต่ในระดับ ครม.ไปจนถึงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร 

หรือร่างกฎหมายสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่รัฐบาลกำลังจะตั้งลำศึกษา รวมถึงการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่จะใช้เปิดทางไปสู่การยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยประเด็นการจัดทำประชามติซ้ำอีกรอบ

ส่วนประเด็นอื่น ๆ เช่น การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาเป็นร่างแรกหลังวันหยุดยาวปีใหม่ หรือแม้แต่การยื่นขอเปิดอภิปรายรัฐบาลของฝ่ายค้าน ที่เพิ่งได้ผู้นำฝ่ายค้านฯ หมาด ๆ ก็คงเป็นการใช้สิทธิ ‘ซักฟอก’ ตามวงรอบเสียมากกว่า

แต่ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองจริงๆ น่าจะเริ่มตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป เมื่อคนชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ได้รับอิสรภาพ สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้คล่องตัวมากขึ้น ก็จะเริ่มได้เห็นสัญญาณการปรับเปลี่ยนทางการเมืองก่อตัวขึ้น ณ บัดนั้น

จนเวลาผ่านวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ไปแล้วนั่นแหล่ะ..ความเปลี่ยนแปลงของจริงจึงจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะปรับครม.แบบปรับเล็ก-ปรับใหญ่ ย่อมเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น แม้แต่การ ‘ล้างไพ่ใหม่’ ก็ยังเกิดขึ้นได้ เพราะบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ได้สิ้นสภาพหมดฤทธิ์เดชลงไปแล้ว

ทำให้การเคลื่อนไหวใด ๆ ในทางการเมืองชั่วโมงนี้ ถูกมองเป็นสีสัน เป็นช่วงของการอุ่นเครื่องมากกว่า ส่วนการปรับเปลี่ยนใด ๆ จะได้เห็นหลังโรงเรียนเปิดเทอมกลางเดือนพฤษภาคม 2567 ไปแล้ว

โครงการแลนด์บริดจ์ ขายฝันไปเรื่อย ๆ

รัฐบาลนี้ไม่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจค ที่โดนใจ เรียกเสียงฮือฮาได้

โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี  ที่มีศักยภาพ มีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยรัฐไปแล้ว และเป็นฐานการผลิตรถอีวีหลายค่ายจากประเทศจีน ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น  ต้องการการสนับสนุนจากรัฐ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ให้เข้ามา

แต่การที่ อีอีซี เป็นผลผลิตของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  พรรคเพื่อไทยจึงไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญเลย กลับไปหยิบเอาโครงการที่มีผลการศึกษาแล้วว่า ไม่คุ้มค่า มาขาย คือ โครงการแลนด์ บริดจ์  ซึ่งยังเลื่อนลอย เป็นแต่ตัวเลขบนแผ่นกระดาษ 

โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นข้อเสนอของพรรคภูมิใจไทยที่คุมกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลก่อน โดย ครม. เห็นชอบในหลักการ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เมื่อพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ได้โควตาคุมกระทรวงคมนาคม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีคมนาคมส่งสัญญาณว่า จะไม่ผลักดันแลนด์บริดจ์ เพราะยาก ลงทุนสูง มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาก เกรงว่า จะไม่มีใครมาลงทุน  ทำให้ สส.พรรคภูมิใจไทย ตั้งโต๊ะแถลงข่าวคัดค้าน ตั้งกระทู้ถามในสภาฯ สุริยะ ต้องกลับลำ บอกว่า จะโครงการแลนด์บริดจ์ต่อ

และแล้วโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทย ก็กลายเป็น ‘จุดขาย’ ของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องการสร้างผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันมากกว่า เรื่องชั่วคราว เฉพาะหน้า ไปประเทศไหนก็ต้องจัดโรดโชว์ขายแลนด์บริดจ์ ให้นักลงทุนประเทศนั้น ตั้งแต่ไปประชุมครอบรอบ 10  ปี โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่จีน การประชุมเอเปค ที่ซานฟรานซิสโก  

ล่าสุด คือ ไปประชุมครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียนกับญี่ปุ่น ที่โตเกียว ก็มีการจัดโรดโชว์ เชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุน 

ครั้งที่พรรคภูมิใจไทยเป็นเจ้ากระทรวงคมนาคม ได้จ้างศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสภาพัฒน์ฯ ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้  ผลการศึกษาที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565  ระบุว่า ไม่คุ้มค่า เสนอให้ทบทวน ลดขนาดของโครงการลงมาเป็น โครงการในพื้นที่ เชื่อมโยงการขนส่งชายฝั่งทะเล ไม่ใช่โครงการระดับโลก เชื่อมโยงสองมหาสมุทร

กระทรวงคมนาคมไม่ถูกใจกับผลการศึกษานี้ จึงสั่งให้สำนักนโยบายแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาใหม่ ผลออกมาตรงกันข้ามคือ โครงการมีความคุ้มค่า ระยะเวลาคืนทุนลดลงจาก 40.49 ปี ที่ศูนย์บริการวิชาการ และสภาพัฒน์ฯ ศึกษาไว้ เหลือเพียง 24 ปี 

ระหว่างสภาพัฒน์ฯ และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาฯ ซึ่งเป็นคนนอกกระทรวง กับ สนข.ที่เป็นข้าราชการกระทรวงคมนาคม ผลศึกษาของใคร น่าเชื่อถือกว่า ?

อย่างไรก็ตาม ผลศึกษาของ สนข.ถูกใช้อ้างอิง ในการทำโรดโชว์ของเศรษฐา ไม่ว่าจะไปที่ไหน เพราะให้ข้อมูลด้านบวกทั้งนั้น แต่นักลงทุนต่างชาติจะเชื่อหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

รักษาการรัฐมนตรีคมนาคม สิงคโปร์ ชี ฮง ทัต ตอบกระทู้ในที่ประชุมสภาผู้แทนสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า โครงการแลนด์บริดจ์อาจช่วยลดเวลาขนส่งสินค้าราว 2-3 วัน แต่เรือขนสินค้าอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ในการขนสินค้าขึ้นจากเรือ เพื่อขนส่งไปลงเรือที่อีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของเอกชนไทยที่มีประสบการณ์ตรงในการนำเข้า ส่งออกสินค้าทางเรือ ที่ได้แต่เตือนว่า ต้องประเมินความเป็นไปได้ และความเสี่ยงให้รอบด้าน 

นายกฯ เศรษฐา คงได้แต่ขายฝันโครงการแลนด์บริดจ์ไปเรื่อย ๆ คงไม่มีนักลงทุนชาติไหนเอาด้วย เพราะเขามองออกว่าโครงการนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์