ลดดอกเบี้ยไม่ต้องรอแบงก์ชาติ รมต.คลังสั่งแบงก์รัฐลดได้เลย

8 ก.พ. 2567 - 06:33

  • มติของ กนง. ยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

  • สวนทางกับที่รัฐบาลออกมากดดันแบงก์ชาติตลอดเวลา

  • การลดดอกเบี้ยสำหรับรัฐบาลง่ายนิดเดียว ก็แค่สั่งแบงก์รัฐนำร่องลดเอกเบี้ย

DEEP-SPACE-economy-money-interest-financial-bank -SPACEBAR-Hero.jpg

ถึงแม้รัฐบาลจะปั่นกระแสเศรษฐกิจวิกฤต แบงก์ชาติต้องลดดอกเบี้ย ระดมสรรพกำลังออกมากดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ลดดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สุดท้ายที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)วานนี้ ยึดหลักความถูกต้องอยู่เหนือเรื่องถูกใจ คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิม 2.50% ต่อปี ด้วยมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 2 เสียง

เป็นสัญญาณจากแบงก์ชาติว่า เศรษฐกิจไทยไม่วิกฤต แม้จะโตช้า แต่ไม่ต้องกระตุ้น เพราะการบริโภคภายในประเทศยังเติบโตได้ดี 

ดอกเบี้ยนโยบาย คือ ดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางจ่ายให้แบงก์พาณิชย์ที่เอาเงินมาฝาก หรือ เก็บจากแบงก์ที่มากู้เงิน เป็นเครื่องมือหนึ่งของแบงก์ชาติ ในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ไม่ให้เกินเป้าหมาย 3% ต่อปี และเป็นดอกเบี้ยอ้างอิงหรือ Bench Mark ให้ดอกเบี้ยเงินกู้ /เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ 

ธนาคารพาณิชย์จะลด/ขึ้นดอกเบี้ย เท่าใด เป็นเรื่องของแต่ละธนาคาร​ โดยดูจากปัจจัยต่างๆ แบงก์ชาติทำได้แค่ ส่งสัญญาณว่า ควรจะขึ้นหรือลดดอกเบี้ย แต่ไม่มีอำนาจไปสั่งธนาคารพาณิชย์

ดังนั้น เมื่อแบงก์ชาติไม่ยอมลดดอกเบี้ยนโยบาย รัฐบาลและกระทรวงการคลังก็สามารถสั่งให้แบงก์รัฐในเครือ  คือ ธนาคารกรุงไทยหรือ KTB  ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ 1 ใน 4 ของประเทศ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซี่งเป็นผู้นำในตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ มีส่วนแบ่งตลาดถึง 1 ใน 3  ธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นธนาคารสำหรับผู้ค้าขายรายย่อย ธนาคารเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนของธุรกิจเอสเอ็มอี และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ลดดอกเบี้ยได้ทันที โดยไม่ต้องไปกดดันให้แบงกชาติลดดอกเบี้ยนโยบาย 

ธนาคารรัฐแต่ละแห่งที่ว่ามานี้ ล้วนแต่เป็นผู้นำในตลาดสินเชื่อแต่ละประเภท มีฐานลูกค้าหลายสิบล้านคน ถ้าลดดอกเบี้ยมากพอ เช่น ไม่ต่ำกว่า 1% และลดเป็นระยะเวลานาน ๆ 1-3 ปี ในที่สุด ธนาคารพาณิชย์ของเอกชนอื่น ๆ ก็ต้องหันมาลดดอกเบี้ยตาม

ธนาคารรัฐเหล่านี้ อาจจะกำไรลดลง หรือบางแห่งขาดทุน ก็ไม่เป็นไร เพราะถ้าดอกเบี้ยลดลงมาแล้ว เศรษฐกิจจะดีขึ้น ตามที่รัฐบาลเชื่อ  รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้น เอาเงินมาชดเชยให้ภายหลังได้  

เป็นการชี้นำตลาดโดยใช้แบงก์รัฐเป็นเครื่องมือ ไม่ต้องไปยืมจมูกแบงก์ชาติหายใจ ให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย พอแบงก์ชาติไม่ทำตาม ก็ทำอะไรไม่ได้ นายกฯ เสียหน้า รมต.คลัง เสียฟอร์มเปล่า ๆ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์