กู้ชีพตลาดหุ้นโจทย์หิน ‘พิชัย ชุณหวชิร’

7 ก.พ. 2567 - 09:06

  • เป็นไปตามคาดสำหรับเก้าอี้ประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

  • พิชัย ชุณหวชิร อดีตผู้บริหาร ปตท. และที่ปรึกษานายกรัฐมตรีเศรษฐา ทวีสิน

  • จากนี้ไปสัญญาณความเปลี่ยนแปลงในตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังเริ่มต้น

Deep-Space-economy-stock-set-thailand-people-SPACEBAR-Hero.jpg

ในที่สุด ‘พิชัย ชุณหวชิร’ ก็ได้รับการโหวตจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ขึ้นเป็น ประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 18 แทน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ที่ครบวาระ ตามความคาดหมายของคนในวงการตลาดทุน ที่ทราบดีว่า เขาเป็น ‘สายตรง’ ของพรรคเพื่อไทย และเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน

การเข้ามาของพิชัยและคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ชุดใหม่ มีการบ้านพะเรอเกวียนที่จะต้องเร่งสะสาง หลังจากที่ผ่านมาตลาดทุนไทยตกอยู่ในอาการเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ มานานนับทศวรรษ แถมระยะหลัง ๆ เริ่มมีอาการแทรกซ้อนติด ‘ไวรัส’ มหาภัยจากบรรดานักปั่นหุ้น จอมวายร้ายที่หวังเข้ามาทำเงินไม่ว่าจะเป็นกรณีของหุ้น MORE หรือ STARK และอีกหลาย ๆ กรณี

ยิ่งไปกว่านั้นระยะหลัง ๆ ยังเกิดอาการติดเชื้อไวรัสยุคใหม่จาก ‘โปรแกรมเทรดดิ้ง’ หรือ AI ที่ใช้ในการทำธุรกรรม ‘ชอร์ตเซล’ ในตลาด สร้างความเสียหายไว้มหาศาลกับบรรดานักลงทุนรายย่อย

ต้องยอมรับว่า ในห้วงเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทย กลายเป็นตลาดที่ไร้สน่ห์ ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ 

เนื่องจากปัญหาโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่โตต่ำกว่าศักยภาพ และมีอาการโตช้าแบบผิดปกติ จากปัญหาภายในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านการเมืองที่ทำให้ขาดการวางนโยบายและยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาระยะยาว

ผลที่ตามมาก็คือ ตลาดหุ้นไทยไม่มีสินทรัพย์ลงทุนหรือหุ้น ที่น่าสนใจในสายตาของต่างชาติมากนัก ถึงจะมี Supply ที่เข้ามาจดทะเบียนมากขึ้นทุกปี แต่หุ้นเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็จะคึกคักเฉพาะในช่วงที่เข้ามาระดมทุน แต่หลังจากทำกำไรเล่นรอบกันสักพักก็หมดความน่าสนใจ สังเกตได้ง่าย ๆ ว่าบริษัทที่อยู่ใน SET 50 ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นธุรกิจที่ยังอยู่ในโลกใบเก่า 

เพราะเหตุนี้จึงไม่น่าประหลาดใจที่นักลงทุนต่างชาติจะถอนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยไปเกือบ 1 ล้านล้านบาท นับตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา

เลวร้ายถึงขนาด ‘กองทุนต้นโพธิ์’ ที่มีลักษณะคล้ายกองทุนส่วนบุคคล หรือ Private Fund ที่ก่อตั้งโดย ‘อธิไกร จาติกวณิช’ ผู้พี่ของ ‘กรณ์ จาติกวณิช’ ซึ่งระดมทุนจากนักลงทุนต่างชาติมาซื้อหุ้นไทยหลายหมื่นล้านบาท ยังออกอาการถึงขั้น ‘ถอดใจ’ ปิดกองทุน โดยระบุว่า 

หุ้นไทย ในเวลานี้เป็นสินทรัพย์ลงทุนที่น่าผิดหวังมาก ถึงแม้ในอดีตอาจจะเคยเป็นสินทรัพย์ที่ดีที่สุดในการลงทุน แต่ไม่ได้เป็นแบบนั้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว

และซ้ำร้ายไปกว่านั้น เขายังมองว่าแทบไม่มีทางเลยที่ประเทศไทยจะกลับไปสู่จุดเดิมได้

การบริหารและดำเนินนโยบายของตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงแม้จะมีคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้กำหนดนโยบายและทิศทาง แต่ในด้านการทำงาน กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ และทีมงานก็จะเป็นผู้ที่มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อน

‘ภากร ปิตธวัชชัย’ ในฐานะกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่13 ที่เข้ามารับตำแหน่งในปี 2561 และเพิ่งได้รับการต่ออายุไปเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ต้องเข้ามาในช่วงที่ EcoSystem ของตลาดหุ้นไทยมีการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญในหลายเรื่อง ซึ่งก็มีการพัฒนาไปในระดับหนึ่ง แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ ‘เข้าตา’ ทีมงานด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะ ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกฯ ศรษฐา     

การเข้ามาของ พิชัย และการเลือก ‘พิเชษฐ สิทธิอำนวย’ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ จากค่ายบัวหลวง กลับมาเป็นรองประธานอีกสมัย พร้อมกับการประกาศว่าจากนี้ไปการทำงานใหม่ต้องเป็นการร่วมรับผิดชอบกับทั้งบอร์ด ก็ทำให้เห็นสัญญาณบางอย่างว่า บทบาทของ ภากร อาจจะลดน้อยถอยลง และอาจจะเห็นแรงกดดัน จนอาจมีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งนี้ ในช่วงกลางปี 

วงการตลาดทุน เชื่อว่า สัญญาณของการเปลี่ยนตัวนั้นชัดเจนมาก เพียงแต่ดูเหมือนยังอยู่ระหว่างสรรหาคนที่เหมาะสมและพร้อมที่จะมานั่งในตำแหน่งนี้ ซึ่งเริ่มมีการโยนชื่อ ตัวละครหลาย ๆ คนออกมาทดสอบปฎิกริยาตลาด เช่น ‘วิทัย รัตนากร’ จากแบงก์สีชมพู หรือล่าสุด คือ ‘ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช’ CEO บางจาก ที่คาดว่าอาจจะถูกพิชัยดึงตัวมานั่งในตำแหน่งใหม่ แต่เจ้าตัวก็ยืนยันว่ายังสนุกกับภารกิจปัจจุบัน และไม่มีความคิดจะเปลี่ยนงานเนื่องจากเพิ่งต่ออายุกับบางจากไปอีก 3 ปี

อีกไม่นานเกินรอ เราคงเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ และคนในวงการก็ต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ชนิดอย่ากระพริบตา...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์